posttoday

ป.ป.ช.ยุคเปลี่ยนผ่าน ต้องใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์

21 มกราคม 2561

"ท่านต้องทำงานหนักกว่าเดิมมันถึงจะเกิดความเชื่อถือ มันจะพิสูจน์ในเรื่องคดีต่างๆ ที่คนบอกว่าน่าสงสัย ท่านต้องพิสูจน์ตัวท่านเองเหมือนกัน"

โดย...กนกพรรณ บุญคง / ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเผชิญสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

เริ่มตั้งแต่การเป็น ป.ป.ช.ในยุคเปลี่ยนผ่านภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงการทำงานของ ป.ป.ช.แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

มาจนถึงสถานการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล ภายหลัง ป.ป.ช.เริ่มถูกตั้งคำถามว่าตรวจสอบการทุจริตไม่เข้มข้นเมื่อเทียบกับการตรวจสอบนักการเมือง

ในโอกาสนี้ “วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองต่อเรื่องดังกล่าวผ่านโพสต์ทูเดย์ไว้อย่างน่าสนใจ

อาจารย์วิชา มองภาพรวมของแนวทางการปราบปรามการทุจริตภายใต้กฎหมายว่าจะมีมาตรการใหม่เกิดขึ้น 3 ประการ ได้แก่ 1.การวางหลักการเกี่ยวกับการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการองค์กรอิสระ ให้อยู่ระดับเดียวกัน 2.กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.มาตรการการไต่สวนเชิงป้องกัน

เรื่องการวางหลักการเกี่ยวกับการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ อาจารย์วิชา อธิบายว่า “มีการกำหนดการเร่งรัดจัดการคดีให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมาตรา 234 และมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจสำคัญ คือ ไต่สวนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

“เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระจะต้องเป็นผู้ถูกตรวจสอบก่อนเป็นอันดับแรก โดยไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะเรื่องทุจริตเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากนั้นถึงจะเป็นการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐในลำดับถัดลงมา เรียกได้ว่าไล่กันตามลำดับไหล่”

ถัดมาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจารย์วิชา ชี้ให้เห็นว่า ป.ป.ช.ต้องกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็น ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก และไม่ยุ่งยาก ไม่ก่อให้เกิดผลร้ายกับผู้แจ้ง รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า ป.ป.ช.เป็นของเขา

“ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตจะต้องมาที่ ป.ป.ช.หมดเป็นหลัก ไม่ใช่แยกออกไปตามแต่ละหน่วยงานเหมือนที่ผ่านมา โดยเมื่อมาที่ ป.ป.ช.หมดแล้ว ป.ป.ช.จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดําเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งต่อไป ป.ป.ช.จะเหลือแต่คดีใหญ่ๆ จะทำให้การทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น”

ขณะที่ มาตรการการไต่สวนเชิงป้องกัน เป็นประเด็นสำคัญที่อาจารย์วิชาอธิบายย้ำเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ไม่ได้เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่เป็นครั้งแรกที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยใช้มาตรการที่ว่านี้กับกรณีของการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่คณะวิจัยของ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่าจะมีการทุจริต ทำให้ ป.ป.ช.ต้องส่งเรื่องไปให้รัฐบาลในขณะนั้นพิจารณา ปรากฏว่ารัฐบาลก็ตัดสินใจระงับโครงการเอาไว้ก่อน”

“หลักการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นหมื่นล้านแสนล้านเหมือนอดีตที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทั่วโลกต่างมีอำนาจดำเนินการในลักษณะนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ของฮ่องกง เพราะการไปใช้มาตรการปราบปรามอย่างเดียวนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะชี้มูลความผิดได้ในขั้นตอนสุดท้ายเรื่องมันก็ไปไกลแล้ว แต่ถ้ามีมาตรการไต่สวนเชิงป้องกันก็สามารถยับยั้งความเสียหายได้แล้วโดยใช้เวลาไม่นาน”

“จะเห็นได้ว่างานของ ป.ป.ช.ในเชิงป้องกันจะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะช่วยสกัดการทุจริตได้มีประสิทธิภาพ ทำให้เหลือคดีที่ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาจริงๆ จำนวนไม่มาก เพราะกฎหมายได้กำหนดมาตรการเชิงป้องกันไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น คิดว่าการมีมาตรการใหม่ขึ้นมาน่าจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น”

การพยายามป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นไม่ได้ดำเนินการเฉพาะเกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น แต่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ลงมาดำเนินการด้วยตัวเองด้วย ซึ่งอาจารย์วิชามีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “สิ่งที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ คือ การมีคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพิ่มเติมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. ที่นายกรัฐมนตรีลงมาเป็นประธานเอง หรือการใช้มาตรา 44 ดำเนินการโยกย้ายข้าราชการที่ถูกตรวจสอบการทุจริต ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะรอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบให้เสร็จก่อน เป็นต้น”

“นโยบายอย่างนี้จะดีในช่วงระยะเวลาอันสั้น ไม่ควรจะใช้ในเวลาอันยาว เพราะเมื่อเข้าระบบปกติก็ควรมีอะไรรองรับว่า ถ้าจะให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุใดก็ควรต้องมีความชัดเจน”

ป.ป.ช.ยุคเปลี่ยนผ่าน ต้องใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์

ที่ผ่านมา คสช.ถูกครหาว่าใช้มาตรา 44 เฉพาะกับกลุ่มข้าราชการเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้กับคนในรัฐบาลที่ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใส? อาจารย์วิชา คิดว่า “เราต้องดูก่อนว่ามาตรการอย่างนี้ดีหรือไม่ ใช้ได้หรือไม่ ถ้ามันใช้ได้จริง ก็ต้องใช้เสมอหน้ากัน จะไปใช้บ้างหรือไม่ใช้บ้างก็คงไม่ได้ ดูอย่างประเทศจีนเป็นตัวอย่าง มีการเอาเจ้าหน้าที่รัฐออกไปเป็นล้านคน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีหลักการว่า ถ้าเป็นเสือต้องฆ่า เป็นเสือหมายความว่าเป็นการทุจริตขนาดใหญ่ ต้องฆ่าให้ตาย ถ้าเป็นยุงก็ต้องตบ ตบก็ตายเหมือนกัน”

 

เท่ากับว่าวันนี้ คสช.ตบแต่ยุงหรือไม่? อาจารย์วิชาอมยิ้มก่อนตอบว่า “ไม่แน่ใจ (หัวเราะ) ถ้าไปเทียบอย่างนั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ต้องเอาเรื่องทั้งหมดทำออกมาให้ชัดเจนว่ากรณีไหนเป็นเสือแล้วไม่ได้จัดการมีใครบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่เขาจัดการกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงก็มี เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เอาเถอะกระบวนการเหล่านี้ต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจนและสื่อออกไปให้เห็นว่าต้องทำอย่างจริงจัง”

“ทีนี้เราจะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอยู่ในตำแหน่งระยะยาว แต่ระบบของการรัฐประหารเป็นการอยู่ในช่วงสั้นๆ เพราะต้องมีโรดแมปเพื่อการเลือกตั้ง คนที่อยู่ช่วงสั้นๆ ที่จะจัดการกับปัญหาก็มักจะมองว่าถ้าพ้นจากตำแหน่งไปแล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า มันมีความไม่แน่นอน”

"กรณีของจีนเป็นนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องจัดการกับการทุจริต มีใครทุจริตจะจัดการทันทีอย่างเช่นกรณีของโจวหย่งคัง (อดีต รมว.กระทรวงความมั่นคงของรัฐ และอดีตสมาชิกคณะกรรมการโปลิตบูโรถาวร)" 

ไม่เพียงแต่มองถึงการทำงานของรัฐบาลและ คสช.เท่านั้น แต่อาจารย์วิชายังมองไปถึงการทำงาน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันด้วย

ในฐานะเป็นอดีตกรรมการ ป.ป.ช. วันนี้กลับไปมอง ป.ป.ช.ปัจจุบันแล้วเห็นตอนนี้ ป.ป.ช.เป็นอย่างไรบ้าง? อาจารย์วิชาแสดงความคิดเห็นว่า ที่จริง ป.ป.ช.มีแนวทางในการทำงานอยู่แล้ว ส่วนตัวก็เคยร่วมกับ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันบางท่าน เช่น ท่านสุภา ปิยะจิตติ เป็นต้น

“การทำงานของ ป.ป.ช.นั้น ประธาน ป.ป.ช.มีความสำคัญมาก อย่างประธาน ป.ป.ช.ชุดที่แล้วเข้ามาตำแหน่งพร้อมกับกรรมการ ป.ป.ช. พอเข้ามาพร้อมกันทั้ง 9 คน ก็มีความรู้สึกว่าต้องลงเรือลำเดียวกันและไปด้วยกัน รอดก็รอดด้วยกัน ไม่รอดก็ไปด้วยกันทั้งหมด แบบมาด้วยกัน ไปด้วยกัน เลือดสุพรรณ”

“แต่ว่าตอนนี้มันไม่ใช่ เพราะมีบางส่วนเป็นคนเก่า เป็นคนใหม่ สิ่งแรกคือ ความกลมกลืนที่จะร่วมจมท้ายมันอาจจะไม่เหมือนชุดเก่า เราก็เข้าใจและต้องเห็นใจคนที่เป็นประธานเหมือนกัน ท่านเข้ามาก็บอกแล้วว่าท่านต้นทุนต่ำ ท่านพูดเองเลย ใครๆ ก็รู้ว่าท่านถูกมองในเรื่องภูมิหลัง”

“เรื่องอย่างนี้อยู่ที่การกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ จะเอาแต่พูดตรงๆ ไม่ได้  ต้องแสดงออกให้ชัดเจน แต่ท่านต้องทำงานหนักกว่าเดิมมันถึงจะเกิดความเชื่อถือ มันจะพิสูจน์ในเรื่องคดีต่างๆ ที่คนบอกว่าน่าสงสัย ท่านต้องพิสูจน์ตัวท่านเองเหมือนกัน”

อาจารย์วิชา สรุปว่า “เพราะฉะนั้น เมื่อท่านยอมตนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ที่ก็รู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับหรือไม่ได้รับความเชื่อถือจากคน ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงถ้าเปลี่ยนไปในทางที่ดีมันก็ดีขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีมันก็ล้มทันทีและเป็นปัญหา”

“ไม่ใช่แต่ ป.ป.ช.เมืองไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาอย่างนี้ อย่างกรณี ป.ป.ช.ของอินโดนีเซียที่ขึ้นกับฝ่ายบริหารที่เต็มไปด้วยทหารตั้งแต่สมัยซูฮาร์โต ตอนนั้นคนมองเหมือนกันว่าเป็นคนของทหารหรือเปล่า แต่ ป.ป.ช.ของเขาก็ใช้การทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์”