posttoday

เด็กไทยหวังครูเป็นที่พึ่ง เหตุพ่อแม่ยุคใหม่ไม่มีเวลาให้

16 มกราคม 2561

ในยุคนี้เด็กๆ ต่างหวังพึ่งครูค่อนข้างมาก อยากที่จะสนิทสนม มีครูเป็นที่ปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและจิตใจ เพราะครอบครัวไม่มีเวลาให้

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สกว. สพฐ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวผลสำรวจช่องว่าง (Gap) ในห้องเรียนไทย

อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชน กลุ่มตัวอย่างประมาณ 2.4 หมื่นคน โดยแบ่งเป็น นักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 จำนวน 1 หมื่นคน กลุ่มครู 4,000 คน กลุ่มผู้บริหาร 200 คน ผู้ปกครอง 9,000 คน จากโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 110 แห่ง พบว่า 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองเด็กไทยที่มีผลต่อการเรียน คือ 1.เด็กๆ อยากได้ความใส่ใจเป็นรายบุคคลจากคุณครูอย่างจริงจังมากกว่านี้ และครูต้องไม่ลำเอียง 2.นิสัยและพฤติกรรมการเรียนของเด็กยังต้องพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การอ่านการค้นคว้า การทำการบ้าน ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน 3.ครอบครัวให้เวลาใส่ใจกับการเรียนของเด็กน้อยไป 4.ความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ความรู้สึกเป็นที่ยอมรับ การมีเพื่อนพูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ ไปจนถึงการที่เด็กๆ สามารถช่วยติวกันเองได้

สำหรับ 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองของครูที่มีผลต่อการสอน 1.ครูไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนบางเรื่อง เช่น การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การวัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน การปรับเทคนิคการสอนตามความต้องการผู้เรียน 2.ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้บริหารที่ยังมีอยู่บ้าง เช่น การยอมรับในความสามารถ การเข้าถึง การรับฟัง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น 3.ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองที่ครูไม่มั่นใจนัก ขาดความคุ้นเคยสนิทสนม 4.ความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกัน เช่น การช่วยเหลือระหว่างเพื่อนครูในแง่แลกเปลี่ยนวิธีการสอน การพูดคุยปัญหาในห้องเรียน เพื่อพัฒนาร่วมกัน    

4 เรื่องใหญ่ในมุมของพ่อแม่ คือ 1.ไม่มีเวลาใส่ใจการเรียนลูก 2.รู้สึกห่างเหินจากโรงเรียน ไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ 3.ความมั่นใจต่อโรงเรียนในบางเรื่องก็ได้รับผลกระทบ 4.ความมั่นใจในการสอนของครูลดน้อยลง

อมรวิชช์ กล่าวว่า การสำรวจยังพบช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนที่เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ได้แก่ 1.ครูปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม 2.การรู้จุดเด่นหรือความสามารถของนักเรียนรายคน 3.การให้เวลาพูดคุยหรือปรึกษาปัญหากับนักเรียน

ส่วนช่องว่างระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ได้แก่ 1.การถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน 2.การพูดคุยเล่าปัญหาระหว่างผู้ปกครองและบุตร 3.การให้เวลาช่วยบุตรหลานทำการบ้าน

ช่องว่างระหว่างครูกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหา ได้แก่ 1.การให้เวลาพูดคุยและปรึกษาปัญหา 2.การรู้จุดเด่นและความสามารถของผู้เรียนรายคน สุดท้ายช่องว่างระหว่างครูกับผู้บริหาร ได้แก่ 1.การยอมรับในความสามารถของครู 2.การให้โอกาสครูในการมีส่วนร่วมต่อการบริหาร   

“ทั้งนี้ การสำรวจยังสะท้อนถึงระดับความผูกพันต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในมุมมองของเด็กนั้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาช่วยทำการบ้านเสมอ เป็นข้อที่เด็กรู้สึกผูกพันน้อยที่สุด ซึ่งตรงอย่างยิ่งกับมุมมองของผู้ปกครองที่มีระดับความผูกพันต่อเรื่องการมีเวลาช่วยลูกทำการบ้านต่ำสุดเช่นกัน ยิ่งชี้ชัดว่า ในยุคนี้เด็กๆ ต่างหวังพึ่งครูค่อนข้างมาก อยากที่จะสนิทสนม มีครูเป็นที่ปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและจิตใจ เพราะครอบครัวไม่มีเวลาให้ จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหา แต่เป็นช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ เป็นโอกาสให้โรงเรียนยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงชุมชนด้วย”อมรวิชช์ กล่าว

เด็กไทยหวังครูเป็นที่พึ่ง เหตุพ่อแม่ยุคใหม่ไม่มีเวลาให้