posttoday

นับถอยหลังสอบเข้าป.1 กวดวิชาหนัก ระวังลูกเครียด

10 มกราคม 2561

กระแสข่าวกรณีสถาบันกวดวิชาระดับอนุบาล 3 เข้า ป.1 โรงเรียนดังคิดค่าเรียนจากผู้ปกครองเป็นตัวเลข 6 หลัก จนถูกตั้งคำถามถึงสิ่งที่ได้จากการเรียนการสอน

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กระแสข่าวกรณีสถาบันกวดวิชาระดับอนุบาล 3 เข้า ป.1 โรงเรียนดังคิดค่าเรียนจากผู้ปกครองเป็นตัวเลข 6 หลัก จนถูกตั้งคำถามถึงสิ่งที่ได้จากการเรียนการสอน เรื่องนี้ถูกขยายความให้เห็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายรัฐบาล หมกอยู่ใต้พรมของสังคมไทยปล่อยให้ผู้ปกครองต้องเผชิญกับเรื่องนี้มายาวนาน

ปัญหานี้ทำให้ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กๆ ที่ยังไม่เข้าเรียนชั้นประถมต่างทราบดีว่ากำลังตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ลามลึกจนถึงเด็กเล็ก ซึ่งฤดูการสอบของเด็กอนุบาลเข้า ป.1 นับถอยหลังเข้ามาเพราะกำลังจะเริ่มในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้

คุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนกวดวิชาเด็กเล็กกลายเป็นกระแสที่ทำให้ผู้ปกครองยอมควักกระเป๋าจ่าย คือภาพสะท้อนความคาดหวังว่าเด็กๆ จะมีพื้นฐานการเรียนที่ดีจนมีความสามารถมากพอที่จะสอบเข้าชั้นประถมปีที่ 1 หรือในระดับที่สูงขึ้น ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง อันเป็นหลักประกันที่ทำให้มั่นใจคุณภาพการเรียนการสอนที่จะได้รับจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่จะมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนได้นโยบายและแนวทางแก้ไขมาแล้ว เช่น แนวคิดเรื่องการยกเลิกการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันจนเด็กเกิดความเครียด หรือพบว่าหลักสูตรที่มีสัดส่วนทางวิชาการที่มากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งถูกวัดความรู้ด้วยความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ทั้งๆ ที่วัย 5-6 ขวบ ควรเรียนผ่านการเล่น เรียนทักษะเชิงพัฒนา ทักษะเชิง พฤติกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในวัยนี้ ไม่ใช่ต้องเรียนทักษะเชิงวิชาการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน

“แม้จะมีการประชุมถกเถียงมาแล้วหลายครั้งจนได้นโยบายจัดการปัญหามา แต่ที่สุดก็มักเป็นนโยบายที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติกับโรงเรียนที่มีปัญหาในเรื่องนี้ หากจะปฏิบัติจริงจะมีการชี้ชัดได้แค่ไหนว่าโรงเรียนหรือผู้ปกครองกลุ่มไหนที่อยู่กับปัญหานี้มากที่สุด และที่ผ่านมานโยบายที่จะใช้แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้มีทางออกที่เป็นรูปธรรม ที่สุดจึงไม่มีการขานรับจากโรงเรียนและผู้ปกครอง กลายเป็นไฟไหม้ฟางที่ได้ยินกันทุกปี แต่ก็หายไปทุกครั้งโดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ปัญหาผู้ปกครองและเด็กที่เริ่มเข้าสู่วงจรการแข่งขันเพื่อโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้นหลายประเทศอย่างสหรัฐก็กำลังเผชิญปัญหานี้

นักวิชาการ สสค. กล่าวว่า ขณะที่แบบแผนการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่ไม่ผลักภาระการฝึกทางด้านของวิชาการที่เป็นแบบแผนในเด็กจนกระทั่งอายุ 7 ขวบ เพราะมองว่าเด็กก่อนวัยเรียนจะเรียนรู้ผ่านการเล่น การร้องเพลง การสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกัน  และแทบจะไม่มีการบ้านเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในสหรัฐหรือไทย โดยให้เหตุผลว่าการบ้าน คือการผลักภาระอื่นๆ จากการเรียนให้เด็กและผู้ปกครองมาก และผลักดันให้เด็กๆ เรียนรู้หรือบังคับให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อนวัยอันสมควร

“ปรัชญาการศึกษาของฟินแลนด์ ระบุว่า การศึกษาของเด็กจะต้องช่วยรักษาความเป็นเด็กไว้ให้ได้มากที่สุด การเล่นจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์พอๆ กับการเรียน แม้แต่ระดับประถมก็ให้ความสำคัญกับการเล่นมากกว่าการเรียนที่เป็นวิชาการ และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการที่เด็กได้เล่นในช่วงพักการเรียนระหว่างแต่ละวิชาจะทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น มากกว่าที่จะเรียนติดต่อกันเป็นเวลานาน  และ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กฟินแลนด์ ก็สูงว่าเด็กที่อื่นๆ ติดอันดับต้นๆ ของทุกการจัดอันดับระดับโลก”

นอกจากนี้ งานวิจัยด้านการศึกษายุคใหม่ในปัจจุบันยังระบุด้วยว่า การเรียนการสอนที่เน้นการแข่งขัน เน้นการสอบ เริ่มไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่ ที่ไม่ได้รับคนเข้าทำงานโดยดูจากคะแนนสอบ แต่ประเมินจากความสามารถในการทำงานเป็นหลัก บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเริ่มหันมาพิจารณาเรื่องนี้มากขึ้น

สุเทพ เกิดกรรณ์ ประธานเครือข่ายผู้ปกครอง กล่าวว่า ได้รับรายงานเช่นกันว่ามีผู้ปกครองส่งเด็กเล็กเข้าไปสถาบันกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อ โดยบางคนยอมเสียเงินถึงปีละ 6 แสนบาท เพราะมั่นใจว่าการกวดวิชาตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นหลักประกันว่าจะได้เรียนโรงเรียนดัง แต่เรื่องดังกล่าวกำลังเป็นค่านิยมที่ผิด เพราะโรงเรียนอนุบาลหรือประถมส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีคุณภาพที่ไม่ต่างกันนัก

“เรื่องนี้กำลังเป็นค่านิยมของผู้ปกครองบางกลุ่มที่อาจจะกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียดที่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้เลือก” ประธานเครือข่ายผู้ปกครอง กล่าว