posttoday

เลือกตั้ง 2561 เส้นทางยังขรุขระ

30 ธันวาคม 2560

นาทีนี้การเลือกตั้งที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นกำลังเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งสะท้อนออกมาผ่าน 3 ปัจจัยสำคัญ

นาทีนี้การเลือกตั้งที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นกำลังเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งสะท้อนออกมาผ่าน 3 ปัจจัยสำคัญ

การเมืองไทยตลอดปี 2560 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย แต่คงไม่มีเหตุการณ์ไหนสำคัญเท่ากับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายทางการเมืองที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำให้เกิดความชัดเจนในทางกฎหมายว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้การเลือกตั้ง สส.ต้องมีขึ้นภายใน150 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.พรรคการเมือง 3.การเลือกตั้ง สส. และ 4.การได้มาซึ่ง สว.

ปัจจุบันกฎหมาย กกต.และพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนอีกสองฉบับอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่ากับว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสร็จสิ้นภารกิจการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว เหลือเพียงรอการพิจารณาของ สนช.เท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหลือเพียงอีกครึ่งทางเท่านั้นการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

“ผมไม่ต้องการที่จะหน่วงเวลาอะไรไว้ทั้งสิ้นขอยืนยันตรงนี้ ในส่วนของเดือน ต.ค.นี้ เป็นช่วงที่คนไทยทุกคนอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าอาลัย ขอให้ทุกอย่างอยู่บนสถานการณ์แห่งความสงบ และในส่วนตรงนี้พูดได้ว่า ประมาณเดือน มิ.ย. 2561 ก็จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือน พ.ย. 2561 จะมีการเลือกตั้ง” เป็นคำยืนยันจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม มาถึงนาทีนี้การเลือกตั้งที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นกำลังเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งสะท้อนออกมาผ่าน 3 ปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยที่ 1 การตั้งคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งในรอบปีนี้มีการดำเนินการถึง 2 ช่วง รวมกัน 10 ข้อ โดยเฉพาะกับ 2 คำถามที่ถามว่า

1.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้นถูกต้องหรือไม่

2.วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่

จากคำถามที่นายกฯ ตั้งออกมานั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาเช่นกันว่าเป็นการโยนหินถามทางเพื่อส่งสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน

ปัจจัยที่ 2 การใช้มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560เป็นผลมาจากกระแสกดดันของพรรคการเมืองที่ต้องการให้ คสช.ปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ภายหลังกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว

แต่ปรากฏว่า คสช.กลับทำในสิ่งตรงข้ามกล่าวคือการใช้มาตรา 44 ดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการเซตซีโร่พรรคการเมือง เพราะมีการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องแสดงตนเพื่อยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 มิเช่นนั้นจะทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง

ประเด็นนี้ในมุมมองของพรรค การเมืองเห็นว่าเป็นการทำลายพรรค การเมืองใหญ่ อีกทั้งละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เหนืออื่นใดยังทำให้เกิดความได้เปรียบแก่พรรคการเมืองใหม่โดยไม่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวที่ออกมาตลอดว่า คสช.อาจตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจของตนเอง

ปัจจัยที่ 3 การอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นท่าทีที่ผู้นำ คสช.เริ่มปรากฏออกมาให้เป็นระยะในช่วงหลัง

พล.อ.ประยุทธ์ มักแสดงความคิดเห็นหลายครั้งในทำนองว่าหากประเทศยังไม่มีความสงบและยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง คงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้ เพราะอาจทำให้การเมืองกลับสู่วังวนเดิมอีก

ทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แต่ละฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเริ่มกดดัน คสช.อย่างหนักเพื่อให้ คสช.สร้างความชัดเจนทางการเมืองให้เกิดขึ้น เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศหลายครั้งว่าการเลือกตั้งต้องมีขึ้นแน่นอน แต่ก็มักจะส่งสัญญาณอีกด้านถึงการไม่อยากให้เกิดการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งนั้นถ้ามองกันจริงๆ แล้วไม่ได้เพียงแค่ 3 ปัจจัยข้างต้นเท่านั้นแต่ยังต้องจับตาไปที่ สนช.ด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า สนช.เป็นผู้คุมชะตาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

โดยเวลานี้กำลังเกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญว่าอาจมีการลงมติคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.ที่ กรธ.ยกร่างขึ้นมา เพื่อให้การเลือกตั้งต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งในการยกร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่แบบไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าการที่ สนช.จะทำเรื่องใหญ่อย่างนี้ได้จะต้องได้รับใบใบสั่งจากใคร

ดังนั้น ที่สุดแล้วแม้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะกำหนดโรดแมปของประเทศเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของ คสช.ว่าตัวเองจะมีความต้องการในทางการเมืองอย่างไรเป็นสำคัญ