posttoday

ย้อนดู 4 ปมร้อนการเมืองปี60 "ปฏิรูป-เลือกตั้งปีหน้า"

29 ธันวาคม 2560

การเมืองไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.ในรอบปี60 มีหลายเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

รอบปี 2560 ที่ผ่านมา การเมืองไทยยังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ท่ามกลางกฎ กติกา และคำสั่ง คสช. ซึ่งออกมากำกับควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในสังคม โดยมีเป้าหมายเดินหน้าตามโรดแมปสู่การเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.  ได้ให้คำมั่นว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 ท่ามกลางหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ไล่มาตั้งแต่

1.รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ถูกคว่ำในชั้นการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกส่งต่อมายังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ข้อแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมอยู่ตรงที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องผ่านการทำประชามติ

จุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อยู่ตรงการวางกรอบการปฏิรูป และระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งบัตรเดียวนำมาคำนวณทั้งคะแนนระบบเขตและบัญชีรายชื่อที่ระบุว่าจะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อหา ถึงขั้นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

สุดท้าย ในการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ประชาชน 15.56 ล้านคน เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และ 9.7 ล้านเสียง ไม่เห็นด้วย ส่วนคำถามพ่วงเรื่องให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ประชาชนเห็นชอบ 13.96 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียงเศษ และนำไปสู่การบังคับใช้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

2.ยิ่งลักษณ์ ลี้ภัยการเมือง

มหากาพย์โครงการรับจำนำข้าวที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปีเดินทางมาถึงตอนใกล้อวสาน เมื่อกระบวนการติดตามเอาผิด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายหลายแสนล้านบาทเดินหน้าไปจนหลายส่วนเสร็จสิ้นกระบวนการเรียบร้อย หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด เดินหน้าสู่การเอาผิดทั้งทางคดีอาญา คู่ขนานไปกับติดตามเรียกค่าชดใช้ความเสียหาย

ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 42 ปี ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี จากความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542  และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พร้อมให้ สยามอินดิก้าพร้อมพวกชดใช้ค่าเสียหาย 1.6 หมื่นล้าน

ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศขอยืนยันต่อสู้ตามกระบวนการไม่หลบหนีไปไหนเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอดนั้น แต่เมื่อถึงวันนัดรับฟังคำพิพากษานั้น ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา ท่ามกลางกระแสข่าวการหลบหนีไปต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปประเทศใด ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ผลพวงของคำพิพากษาทำให้ทางการไทยต้องดำเนินกระบวนการติดตามตัวมาลงโทษพร้อมกับเพิกถอนพาสปอร์ตของยิ่งลักณ์ นอกจากนั้นยังมีควันหลงด้วยการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องที่พายิ่งลักษณ์หลบหนี แต่ล่วงมาถึงสิ้นปีนี้ ยิ่งลักษณ์ก็ยังกบดานไม่ปรากฏตัวหรือสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ที่อังกฤษ และกำลังมีความพยายามทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง

3.กำหนดกรอบเส้นทาง “ปฏิรูป”

ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ กลไกกระบวนการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้เดินหน้าไปตามที่กำหนดไว้ ทั้งเรื่องการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่อีกเรื่องสำคัญคือเรื่อง “ปฏิรูป” และการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากการทำงานของสภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  กระบวนการปฏิรูปถูกโอนไปอยู่ในมือของคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่ถูก คสช.ตั้งขึ้นมาวางแผน กำหนดขั้นตอนรายละเอียด กรอบเวลาการดำเนินการและหลักการติดตามประเมินผล คู่ขนานไปกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะรับหน้าที่วางกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศ 20 ปี ที่บังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนด หากไม่ทำตามจะมีความผิด จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ได้ทำการจัดทำเนื้อหาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องพร้อมสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีในช่วงสิ้นปีนี้ ก่อนจะนำไปสู่การทำแผนและตรากฎหมาย เพื่อให้เห็นว่า การปฏิรูปด้านต่างๆ กำลังเป็นรูปเป็นร่างมิใช่การปฏิรูปแบบลูบๆ คลำๆ ตามที่วิจารณ์กัน

4.บิ๊กตู่ ประกาศเลือกตั้ง 2561

จากการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า ประเทศไทยจะเดินไปตามโรดแมปและจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 กลายเป็นสัญญาณที่ทุกฝ่ายขานรับ

เริ่มตั้งแต่การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้เรียบร้อยจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีคนเห็นต่างในหลายประเด็นในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะเลือกตั้งทั่วไปได้ในช่วงเดือน พ.ย.  2561

ท่ามกลางเสียงคาดการณ์ล่วงหน้าว่าด้วยระบบการเลือกตั้งใหม่ และกลไกพิเศษให้ สว.250 เสียง มาร่วมเลือกนายกฯ จะทำให้โอกาสพรรคการเมืองจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก อาจเป็นการเปิดประตูไปสู่นายกรัฐมนตรีคนนอก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ