posttoday

ม.44 กระสุนด้าน คสช.สิ้นมนต์ขลัง

27 ธันวาคม 2560

เหตุที่ทำให้มาตรา 44 ระยะหลังๆ เสื่อมมนต์ขลัง เพราะบางเรื่องค้านกับความรู้สึกของคนไทย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากสำรวจผลงานมาตรา 44 ระยะหลังเริ่มประสบปัญหาเสื่อมมนต์ขลัง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 44 ไปแล้วเกือบ 200 ฉบับ แบ่งเป็นปี 2557 จำนวน 1 ฉบับ ปี 2558 จำนวน 48 ฉบับ ปี 2559 จำนวน 78 ฉบับ และปี 2560 ราวๆ 30 ฉบับ โดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ผู้ออกคำสั่ง

อาจกล่าวได้ว่า มาตรา 44 ในตอนแรกๆ ฤทธิ์เดชแรงกล้า แต่มีบางคำสั่งออกมาแล้ว “แป้ก” ตัวอย่างเช่น มาตรา 44 ที่ช่วงแรกๆ ชื่นชมกันว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมราวๆ 8 ฉบับ เพื่อโยกย้ายข้าราชการรวม 300 กว่าคน ที่ถูกร้องเรียน ปฏิบัติงานผิดพลาด หรือเกี่ยวพันกับคดีทุจริต

พลิกดูมีอยู่คำสั่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเหลว นั่นคือคำสั่งเด้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้ากรุ แต่การเด้งครั้งนี้กระแสสังคมกลับปกป้อง “พ.ต.ท.พงศ์พร” ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นข้าราชการหัวแข็งกล้าไล่บี้คดีวัดพระธรรมกาย

ขณะที่สื่อกลับโจมตี “บิ๊กตู่” ว่า ไม่เด็ดขาดลุยคดีการทุจริตเงินทอนวัด ที่ได้สร้างความเสียหายหลายร้อยล้านบาท และคดีนี้ไม่ใช่คดีทุจริตธรรมดาเพราะเกี่ยวโยงกับอดีตข้าราชการระดับอดีตผู้อำนวยการ พศ.ร่วมขบวนการ ต่อมาทนกระแสกดดันไม่ไหว “บิ๊กตู่” กลับมีคำสั่งมาตรา 44 ตั้ง “พ.ต.ท.พงศ์พร” กลับมาเป็นผู้อำนวยการ พศ.อีกครั้ง เพราะทราบดีว่าไม่มีข้าราชการคนใดใน พศ.หัวแข็งกล้าชนคดีเงินทอนวัด จนทำให้รัฐบาลถูกมองว่าใช้อำนาจพิเศษเหมือนเล่นขายของ

อีกคำสั่ง คือการทวงคืนทางเท้า ด้วยการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กรุงเทพ มหานคร (กทม.) ไปจัดระเบียบสังคม เรื่องทางเท้า แต่เกิดกระแสต้านจากแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอย เพราะเห็นว่าเสน่ห์ของกรุงเทพฯ คือ ร้านอาหารตามทางเท้า หรือสตรีทฟู้ด ที่ขายกันโต้รุ่ง 24 ชั่วโมง จนต่างชาติจัดอันดับให้ไทยเป็นแหล่งอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก กระนั้นก็ตามรัฐบาลต้องการจัดระเบียบให้ 48 เขต บนถนน 73 สาย ในกรุงเทพฯ ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และปลอดภัย

ปรากฏการณ์มาตรา 44 ที่บังคับใช้ครั้งนี้ มาพร้อมๆ ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ จนระยะหลังๆ การจัดระเบียบทางเท้าชักแผ่วลงไป เพราะเห็นว่ากระทบต่อผู้มีรายได้น้อย จึงมุ่งเน้นการจัดระเบียบด้านความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้าแทน เพราะต้องยอมรับว่าสตรีทฟู้ดนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ จะไม่ให้อยู่บนทางเท้าเลยคงไม่ได้

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเด็กแว้น ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานหลายปี คสช.เข้ามาให้ความสำคัญและประกาศใช้ยาแรงยิ่งขึ้น ประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ แต่ดูเหมือนว่าจะคึกคักในการปราบปรามช่วงแรกๆ แต่ระยะหลังห่างหายไป เด็กแว้นก็กลับมาซิ่งบนท้องถนนเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสร้างเป็นผลงาน คือ ปราบมาเฟีย ด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเพิ่มอำนาจทหารในการปราบมาเฟีย ล้างบางยาเสพติด จัดการเจ้ามือพนัน หรือหวยเถื่อน รวมไปถึงการซ่องสุมอาวุธสงคราม หรือใครคิดจะทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายย่อมทำมิได้ จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เพราะทราบดีว่าอำนาจทหารมีอยู่จำกัดแค่ภายในค่ายทหารเท่านั้น

ครั้นเมื่อได้คำสั่งตามมาตรา 44 ทหารสามารถวิ่งกวดตรวจจับเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดหลายประการที่เป็นภัยอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้โดยเฉพาะปัญหามาเฟีย อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าที่ต้องให้ทหารเข้ามา เพราะการทำงานของตำรวจในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่ผ่านมาหย่อนยาน หรือเฉื่อยชาไปหรือไม่ แต่ระยะหลังๆ ทั้งตำรวจหรือทหารก็ทำงานแผ่วๆ เหมือนกันทั้งคู่

อีกกรณีที่แป้ก คือ ในเรื่องอันเกี่ยวกับ “วัดพระธรรมกาย” โดย พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ประกาศให้วัดพระธรรมกายและพื้นที่ใกล้เคียงเป็น “พื้นที่ควบคุม” และให้อำนาจพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการนำตัวพระธัมมชโย ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่หลังจากเปิดปฏิบัติการร่วมกับตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ปิดล้อม-ตรวจค้น และใช้อำนาจ เป็นเวลานานหลายเดือน ก็ยังไม่พบพระธัมมชโยแต่อย่างใด

ในขณะที่กระแสต้านทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งศิษย์วัดพระธรรมกายผูกคอตายประท้วงการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมหันมาตั้งคำถามอำนาจพิเศษของรัฐบาลว่าเหมาะสมและรอบคอบหรือไม่ แม้ท้ายที่สุดรัฐบาลจะจัดการยึดวัดพระธรรมกายได้ แต่จับพระธัมมชโยไม่ได้จึงถือว่ายังไม่สำเร็จ

ปิดท้ายที่คำสั่งคสช.ว่าด้วยมาตรการรัดเข็มขัดและห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ทำเอารัฐบาลโดนกระหน่ำ โดยเฉพาะในโลกโซเชียลถล่มต่อเนื่อง จนในที่สุด “บิ๊กตู่” ต้องยอมถอยนับเป็นบทเรียนสำคัญในการใช้อำนาจ เพราะดันออกกฎหมายสวนทางกับความเป็นจริงในสังคม

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องล่าสุดที่ใช้มาตรา 44 ไปรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งถูกมองว่าเพื่อเอื้อให้ คสช.ตั้งพรรคใหม่และเพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไป

นี่จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มาตรา 44 ระยะหลังๆ เสื่อมมนต์ขลัง เพราะบางเรื่องค้านกับความรู้สึกของคนไทย