posttoday

"เครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์"ประชาชนรับกรรม เมื่อขสมก.คือจุดอ่อน

15 ธันวาคม 2560

ถอดบทเรียนความผิดพลาดของ ขสมก. ล่าสุดกับเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ ผ่านปากผู้เชี่ยวชาญ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

หลังเริ่มทดลองใช้งานเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ (Cash box) บนรถโดยสาร ขสมก.ได้ไม่นานก็เกิดปัญหา เมื่อเครื่องไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและยังไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง ทำให้ บอร์ด ขสมก. สั่งยุติการติดตั้งเครื่องดังกล่าวบนรถเมล์ 1,800 คัน แต่ในส่วนที่ได้ดำเนินการแล้ว 800 คัน จะเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา

คำถามก็คือ ความผิดพลาดของนโยบายที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงอะไร เมื่อคนที่เสียประโยชน์คือประชาชน

ไม่คุ้มค่า ซื้อรถใหม่ยังดีซะกว่า

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ขสมก.ได้ทำสัญญากับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ในการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) บนรถโดยสารจำนวน 2,600 คัน มูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี

หลังติดตั้งได้ 800 คัน ได้เกิดปัญหาทางเทคนิค เมื่อเครื่องหยอดเหรียญ (Cash box) มีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน ที่รองรับไม่ไหว จนทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่ม อีกทั้งเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเป็น E-Ticket และบัตรแมงมุมหรือตั๋วร่วมทั้งหมดภายใน 2 ปี จะไม่มีการใช้เงินสดทุกอย่างจะใช้บัตรหมด

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร และผู้ติดตามปัญหาระบบการขนส่ง บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อม เป็นโครงการที่มีการเตรียมการอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะ กล่องหยอดเหรียญ  งบประมาณที่ขสมก. ลงทุนไป กลายเป็นความสิ้นเปลืองและซ้ำซ้อนเมื่อคิดว่า ขสมก. ได้เตรียมซื้อรถเมล์ใหม่อยู่แล้ว

“2,600 คัน 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี นั่นคือ ขสมก. ต้องจ่ายค่าเช่าคันละประมาณ 640,000 บาท นับว่าสูงมาก เงินจำนวนนี้สามารถซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้คันละ 3.65 ล้านบาท ได้ถึง 456 คัน"

 

"เครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์"ประชาชนรับกรรม เมื่อขสมก.คือจุดอ่อน

“ผมเห็นด้วยที่ต้องมีอี-ทิกเก็ต เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นอนาคตรองรับการเชื่อมต่อกับระบบอื่น  แต่ทำไมต้องรีบทำในเมื่ออนาคตเราต้องซื้อรถใหม่ เป็นความซ้ำซ้อนและเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ” เขาบอกและว่า  ความผิดพลาดบ่อยครั้งของนโยบายเกิดจากการไม่ได้ทดลองอย่างจริงจัง ทำงานอย่างรอบคอบ อนาคตต้องทดลองจากสถานการณ์จริงเพื่อเข้าใจปัญหา

ด้าน แอดมินเพจ รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com ที่ติดตามความเคลื่อนไหนของรถเมล์ไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า ขสมก.เร่งรีบในการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ขณะที่บริษัทรับงานก็ไม่พร้อมเช่นกัน นอกจากนั้นระบบดังกล่าวยังไม่เหมาะกับการใช้งานในสถานการณ์จริงและพฤติกรรมของผู้โดยสารด้วย

 

"เครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์"ประชาชนรับกรรม เมื่อขสมก.คือจุดอ่อน

หน่วยงานไม่มีคุณภาพ

“ตกลงว่าอุปกรณ์นั้นใช้งานไม่ได้จริง ด้วยเหตุผลทางเทคนิคหรือในแง่ของวิธีการปฎิบัติงานที่ไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้โดยสาร ถ้าไม่สัมพันธ์ก็ต้องถามว่า คุณกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ออกมาได้อย่างไร แต่หากเป็นความผิดพลาดของเทคโนโลยี ก็แสดงว่าเป็นความผิดของบริษัทรับจ้างที่ไม่สามารถผลิตของให้สัมพันธ์กับเงื่อนไขที่ ขสมก. กำหนดได้” ผศ.ประมวล สุธีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคำถามกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ผศ.ประมวล ชี้ว่าจุดอ่อนของหลายหน่วยงานในประเทศไทยคือ ไม่มีแผนกที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาการให้บริการประชาชนเป็นรูปธรรมเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

“ไม่เคยโฟกัสไปที่การพัฒนาเซอร์วิสด้วยตัวเอง มีหน้าที่เดินรถอย่างเดียว พอถึงเวลามีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมา ก็ทำการตั้งงบประมาณ เปิดประมูลและมีบริษัทเอกชนเข้ามาขายระบบให้ หน่วยงานรัฐไทยเป็นแบบนี้แทบทั้งหมด”

ในเวลาที่รัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การทำงานของหน่วยงานภาครัฐกลับยังไม่มีแนวทางพัฒนาเดินหน้าไปอย่างชัดเจน

“ถ้าจะไป 4.0  แปลว่าในทุกรอบกระบวนการจัดซื้อของภาครัฐ ไม่ว่าอะไรก็ตาม รถถัง เรือดำน้ำ รถไฟ รถเมล์ เครื่องบิน ควรจะเอื้อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง เพราะมูลค่าไม่น้อยและปริมาณการใช้งานนั้นต่อเนื่อง”

ความหมายที่เขาบอกคือทุกหน่วยงานต้องมีภารกิจและแผนกที่คอยเรียนรู้ ประเมินทิศทางการใช้งานของประชาชน เช่น ขสมก. ต้องรับรู้ปัญหา เข้าใจธรรมชาติและประเมินการเดินทางในอนาคตทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงสัมพันธ์กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างรถไฟด้วย

 

"เครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์"ประชาชนรับกรรม เมื่อขสมก.คือจุดอ่อน

“ภาพที่เห็นในกรุงเทพฯ วันดีคืนดีซื้อรถมาโมเดลหนึ่ง ประตูหน้า-หลังเป็นแบบหนึ่ง วันดีคืนดีก็ซื้อมาอีกแบบหนึ่ง รถเมล์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แปลว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ได้สัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคเลย คนคิดไม่เคยขึ้นรถเมล์ สักแต่ว่าซื้อ ได้อะไรมาก็ใช้ไปก่อน ผิดกับในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่นเขาพัฒนาบริการตามความต้องการของผู้โดยสาร”

ผศ.ประมวลบอกด้วยว่า การจัดซื้อจัดจ้างแบบทุกวันนี้นอกจากไม่ได้สิ่งที่ตรงกับธรรมชาติการใช้งานของประชาชน ยังเป็นการตัดช่องโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีไปโดยไม่รู้ตัว

“ทำแบบนี้เราจะได้ซื้อของ แต่เราจะไม่เจริญ”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ขสมก.และหน่วยงานภาครัฐแห่งอื่นจะเรียนรู้และเข้าใจปัญหาของประชาชน จนสามารถดำเนินนโยบายที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง