posttoday

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์

21 กุมภาพันธ์ 2560

ปัญหาของคนไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการด้านแรงงาน

เรื่องโดย : วิรวินท์ ศรีโหมด

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เพิ่งสร้างชาติมาเพียง 50 กว่าปี และมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนเคยเป็นหนึ่งประเทศที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางไป-กลับ และสังคมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในสิงคโปร์ไม่ต่างจากประเทศไทยมาก

แต่ทว่า ไม่กี่ปีมานี้ตั้งแต่สิงคโปร์เริ่มเข้มงวดเรื่องกฎหมายแรงงาน เช่น กฎหมายเข้าเมือง ภาษี ประกอบกับมีค่าครองชีพสูง ทำให้แรงงานไทยที่เคยอยู่ในสิงคโปร์เกือบแสนคน ทยอยกลับหรือไปทำงานต่อยังประเทศที่สาม จนปัจจุบันในสิงคโปร์มีแรงงานไทยเหลืออยู่ประมาณ 3 หมื่นคน ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจติดตามดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานงานไทยในต่างแดน ภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ การสอบเพิ่มทักษะแรงงานไทย

ปรีชา กรทอง ประธานสมาคมเพื่อแรงงานไทย (สิงคโปร์) เล่าว่า ตนเดินทางมาทำงานที่สิงคโปร์นานกว่า 17 ปี ซึ่งหลายปีก่อนแรงงานไทยมีมากเป็นอันดับ 1 ประมาณ 7-8 หมื่นคน นอกเหนือจากแรงงานจีน มาเลเซีย บัลคลาเทศ อินเดย ฯลฯ. ซึ่งทำงานประเภทก่อสร้าง แม่บ้าน กรรมกร ช่างประเภทต่างๆ แต่ด้วยปัญหาหลายอย่างทำให้ปัจจุบันแรงงานไทย ถึงแม้จะได้รับการยอมรับว่ามีทักษะสูง มารยาทดีจนเป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง

แต่เมื่อทำงาน 10 ปีและยังได้ค่าแรงเท่าเดิม จึงเลือกเดินทางกลับหรือไปทำงานประเทศแถบยุโรป ตะวันออกกลาง ทำให้ขณะนี้ในสิงค์โปร์มีแรงงานไทยเหลืออยู่เพียง 3.5 หมื่นคน หากเทียบกับแรงงานชาติอื่นถือว่าน้อยมาก และตอนนี้แรงงานกลุ่มใหญ่สุดในสิงคโปร์คือ จีน บังคลาเทศ อินเดีย ตามลำดับ

ปรีชา สะท้อนว่า ปัญหาของคนไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการด้านแรงงาน การหาวิธีเพื่อให้ได้ทำงานต่อ เพราะกฎหมายสิงคโปร์ระบุว่า แรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจะทำงานได้เพียง 10 ปี หลังใบอนุญาตหมดอายุ หากประสงค์ต่ออายุการทำงานเพิ่ม จะต้องสอบทักษะทางวิชาชีพเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง ถึงจะอยู่ต่อไปได้อีก 10 ปี

รวมถึงเรื่องภาษาก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ของแรงงานไทย ซึ่งมีผลต่อการเรียกร้องสิทธิแรงงาน รวมถึงการต่อรองขอขึ้นเงินเดือนกับนายจ้าง นี่จึงเป็นหลายเหตุผลที่ทำให้แรงงานไทยในสิงคโปร์มีจำนวนลดลง เพราะไม่สามารถอยู่ได้ในสภาวะที่ประเทศนี้มีค่าครองชีพสูงมาก และคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานไทย แม้ที่สิงคโปร์จะมีสำนักงานผู้แทนแรงงานไทยคอยเข้าไปช่วยประสานกับบริษัทให้

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ปรีชา กรทอง ประธานสมาคมเพื่อแรงงานไทย (สิงคโปร์)

ปรีชา มองว่า ปัญหาเรื่องภาษาของคนไทยไม่เก่งเท่ากับชาติอื่น จึงทำให้เสียเปรียบในการต่อรอง ถึงแม้จะมีทักษะวิชาชีพสูงที่ควรจะได้เลื่อนระดับ แต่เมื่อมีปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้การพัฒนาด้านการทำงานและค่าแรงของคนไทยน้อยกว่าชาติอื่น อาทิ จีน บังคลาเทศ ถึงแม้จะทำงานเท่ากัน

สำหรับอัตราค่าแรงงานในสิงคโปร์ แรงงานไทยได้ประมาณ 25 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์/วัน (8ชั่วโมง) ส่วนค่าแรงงานจีน 60-70 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์/วัน แรงงานบังคลาเทศ 18 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์/วัน ซึ่งการคิดอัตราค่าแรงงานที่ไม่เท่ากัน มีวิธีคิดจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าเงินของแต่ละประเทศต้นทาง ถึงแม้จะทำงานในตำแหน่งเดียวกันและมีทักษะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ประธานแรงงานไทยในสิงคโปร์ เรียกร้องว่า อยากให้สำนักงานแรงงานไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือแรงงานให้มีชีวิตคุณภาพและค่าแรงงานที่ดีขึ้น เพราะส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาแม้จะมีเจ้าหน้าที่ผู้แทนหน่วยงานไทย รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาเยี่ยมอยู่บ่อยครั้ง แต่ปัญหาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม

ฉะนั้นอยากขอให้กระทรวงแรงงานไทยหรือรัฐบาล เข้ามามีบทบาทในการต่อรองปกป้องช่วยเหลือแรงงานในสิงคโปร์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กับฝ่ายราชการแรงงานสิงคโปร์ รวมถึงช่วยดูแลทำให้คนไทยที่จะส่งมาทำงานมีความพร้อมก่อนเดินทางมาถึง เพื่อจะได้ง่ายต่อการปรับตัวไม่ถูกหลอกเวลาถึง

“ตลอด 17 ปีที่อยู่สิงคโปร์ เห็นมาตลอดว่าหน่วยงาน ผู้แทนส่วนราชการไทยที่อยู่ จะคอยช่วยเหลือเฉพาะแรงงาน ที่ประสบปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่การทำงานเรื่องการป้องกันปัญหาหรือส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยในสิงคโปร์ ยังไม่เห็นความรูปธรรมชัดเจน”

ปรีชา ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาสมาคมไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะสิงคโปร์มีกฎหมายที่เข้มงวดควบคุมได้ 100% เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นภายในประเทศ ฉะนั้นอยากให้หน่วยงานไทยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากกว่า เข้ามาช่วยเหลือ

จตุพร เล็กกิมลิ้ม เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยในสิงค์โปร์ สะท้อนว่า ขณะนี้จำนวนแรงงานไทยในสิงคโปร์มีลดลงมากกว่าเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน และการที่แรงงานไทยเดินทางมาทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมักจะต้องไปกู้ยืมเงินมา ทำให้มีหนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะมาแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นปัญหา และอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือ  เพราะหน่วยงานรัฐของสิงคโปร์ไม่รับฟังเสียงจากด้านแรงงาน แต่จะรับฟังเสียงจากภาคส่วนทางราชการด้วยกันเท่ากันนั้น

และมองว่าเจ้าหน้าที่ไทยที่ย้ายมาประจำอยู่ที่นี่ มีระยะเวลาอยู่เพียง 1-2 ปี ก็ย้ายไปประเทศอื่น จึงไม่มีความต่อเนื่องในการทำงานหรือสร้างสัมพันธไมตรีระดับเจ้าหน้าของสิงคโปร์ ดังนั้นอยากให้เรื่องนี้เป็นการทำงานระดับรัฐบาลซึ่งอาจได้ผลดีกว่า

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ วาสนา สีสัง จิตรกรไทยอิสระที่เดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์

วาสนา สีสัง จิตรกรไทยอิสระที่เดินทางไปทำงานวาดภาพในโบสถ์วัดอานันทเมตยาราม ซึ่งเป็นวัดไทยในสิงคโปร์ สะท้อนว่า ขั้นตอนการเดินทางมาทำงานถือว่าค่อนข้างยาก เพราะรัฐบาลสิงคโปร์จะเลือกประเภทงาน และจำนวนแรงงานตามความต้องเท่านั้น เพื่อให้สามารถควบคุมไม่ให้มีแรงงานมากจนเกิดไป

นอกจากนี้มีการบังคับให้แรงงานต่างชาติต้องตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน และถ้าเป็นแรงงานหญิงต้องตรวจภาวะตั้งครรภ์ และถ้าหากพบว่าตั้งครรภ์จะถูกส่งกลับประเทศต้นทางทันที เพราะสิงคโปร์มีความเข้มงวดเรื่องแรงงานและประชาชนมาก

ธงชัย ชาสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยเดินทางมาทำงานประมาณ 3 หมื่นคน 80% ทำงานกลุ่มแรงงานทั่วไป เช่น ก่อสร้าง ช่าง ฯลฯ. ส่วนอีก 20 % ที่เหลืออยู่ในกลุ่มแรงงานสายวิชาชีพเฉพาะทางที่มีทักษะสูง เช่น สถาปนิก บัญชี แพทย์ วิศวกร

สาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์ต้องนำเข้าแรงงานเพราะ คนในประเทศไม่ทำ และการนำเข้าแรงงานจะคิดจากความต้องการเท่านั้น โดยการเข้ามาจะห้ามแรงงานนำครอบครัวติดตามมา รวมถึงห้ามแต่งงานกับคนท้องถิ่น ส่วนแรงงานหญิงห้ามตั้งครรภ์เด็ดขาด หากพบจะถูกส่งกลับทันที แต่ถ้าหากต้องการกลับมาจะต้องเข้ามาใหม่โดยที่ไม่อยู่ในฐานะแรงงาน

เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับว่ากฎระเบียบเหล่านี้ ต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีการออกกฎเช่นนี้ จึงทำให้พบว่าปัจจุบันแรงงานต่างชาติที่เข้ามาไทยมักพาครอบครัวมาด้วย และก็เป็นภาระให้กับประเทศไทย ฉะนั้นคิดว่าถ้าหากคนไทยมองแรงงานต่างชาติเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ต้องยิ่งเข้มงวดตรวจสอบเช่นเดียวกับสิงคโปร์ เพราะการไม่ควบคุม อาจเป็นช่องทางอะไรบางอย่าง

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ธงชัย ชาสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์

ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มีนโยบายคอยติดตามดูแลสิทธิให้แก่แรงงานในต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นเรื่องของสวัสดิการรัฐบาลในแต่ละประเทศจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งในสิงคโปร์ถือว่ามีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายสวัสดิการค่าจ้างค่อนข้างดี

แต่ถึงอย่างไรกระทรวงจะมีทูตด้านแรงงานไปคอยดูแล ช่วยเหลือคนไทยในการประสานงานกับส่วนราชการท้องถิ่นและนายจ้าง หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน นอกจากนั้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์คณะทูตแรงงาน ยังจะคอยไปติดตามเยี่ยมคนไทยที่ไปทำงาน รวมถึงสอบถามดูแลด้านคุณภาพ สุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ และมักร่วมจัดกิจกรรมต่างๆกับกลุ่มแรงงานไทย 

ปลัด.แรงงาน ระบุว่า กรณีที่แรงงานมองว่าทำงานนานจนมีทักษะและควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้ขึ้นค่าจ้างนั้น ตามกฎหมายสิงค์โปร์จะมีเพดานค่าจ้างมาตรฐานเป็นตัวกำหนด ฉะนั้นถ้าหากแรงงานต้องการเพิ่มในส่วนนี้ จะต้องไปสอบเพิ่มทักษะ

ส่วนที่แรงงานไทยมองว่าแรงงานจีน มาเลเซีย ได้รับเงินเดือนสูงกว่านั้น เนื่องจากสิงคโปร์จะให้แรงงานกลุ่มผู้ที่เป็นสัญชาติท้องถิ่นที่ร่วมก่อตั้งประเทศ หรือเรียกว่า ภูมิปุตรา ได้รับสวัสดิการต่างจากแรงงานชาติอื่นที่เข้าไป ยกเว้นแรงงานที่มีทักษะสูง เพราะสิงค์โปร์ถือว่าแรงงานเหล่านั้นเป็นคนในสัญชาติดั้งเดิม

สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานไทยในสิงคโปร์มี 3 ระดับ คือ 1.ระดับ (EP) สำหรับชาวต่างชาติตำแหน่งวิชาชีพบริหาร ผู้จัดการจะได้รับค่าตอบแทน 3,600 เหรียญฯ./เดือน  2.ระดับ S Pass สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานระดับกลางด้วยความรู้และทักษะเฉพาะ เช่น ช่างเทคนิค พ่อครัว แม่ครัว และอื่นๆ จะได้รับเงินเดือน 1,600 เหรียญขึ้นไป

และ 3.ระดับ Work Permit ระดับช่างฝีมือหรือกึ่งฝีมือที่ไม่เข้าคุณสมบัติประเภท S Pass เช่น ทำงานในอู่ต่อเรือ งานก่อสร้าง คนรับใช้ในบ้าน การผลิต เกษตรกรรม บริการ กลุ่มเหล่านี้จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 1,200-1,500 เหรียญฯ/เดือน แต่ถ้าเป็นสัญชาติจีน มาเลเซีย จะทำได้ทุกสาขา เพราะสิงคโปร์ให้สิทธิพิเศษ แต่คนไทยจะทำได้เฉพาะประเภทงานเท่านั้น

ม.ล.ปุณฑริก ทิ้งท้ายว่า การปรับขึ้นค่าแรงถือเป็นกติกากรอบกฎหมายของสิงคโปร์เป็นผู้กำหนด ถ้าแรงงานต้องการได้ค่าจ้างเพิ่มจะต้องไปสอบพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรหน่วยงานไทยก็ยังคอยติดตามช่วยเหลือแรงงานไทย ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ทูตด้านแรงงาน ที่ประจำจะอยู่ในสถานทูตไทยในสิงค์โปร์ เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ นอกจากนี้มีศูนย์บริการเสริมที่ห้างโกลเด้นมาย ซึ่งเป็นศูนย์รวมคนไทย เปิดทำการเฉพาะวันพุธ และวันอาทิตย์

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์

 

"ทำงาน 10 ปี ค่าแรง-คุณภาพชีวิตเท่าเดิม" เสียงสะท้อนแรงงานไทยในสิงคโปร์