posttoday

ประชามติร่างรธน.จบ คนเห็นต่างยังอยู่ในคุก

18 สิงหาคม 2559

เกือบ 2 สัปดาห์ หลังจากลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นักกิจกรรมที่รณรงค์ “โหวตโน” ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เกือบ 2 สัปดาห์ หลังจากลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ความเคลื่อนไหวล่าสุด นักกิจกรรมที่รณรงค์ “โหวตโน” ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ ด้วยข้อหารุนแรงอย่าง ผิดมาตรา 61 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

เริ่มตั้งแต่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วศิน พรหมณี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพียง 1 วัน หลังทั้งสองคนสวมเสื้อโหวตโน และแจกเอกสารวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ทั้งสองคนยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งของรัฐบาล เนื่องจากปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือระหว่างการควบคุมของตำรวจ

วศิน ถูกปล่อยตัวไปก่อนหน้า ส่วน จตุภัทร์ ยืนยันไม่ขอรับการประกันตัว รวมถึงประกาศอดอาหารนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

หลังจากนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาจากทั้งในประเทศ และนานาชาติ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับ จตุภัทร์ เนื่องจากเห็นว่าจตุภัทร์ใช้สิทธิที่พึงมีในการแสดงออกอย่างสงบ

เริ่มจาก 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ที่รวมนักวิชาการ-เอ็นจีโอ เข้าด้วยกัน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีประชาชนที่รณรงค์ประชามติและแสดงความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

ตามมาด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ออกแถลงการณ์ไปในแนวทางเดียวกัน ให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยสุจริต และเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจให้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง

ขณะที่ต่างประเทศ ก็แสดงออกไปในทางเดียวกัน ทั้งเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars at Risk) และองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ซึ่งเห็นว่าการจับกุมจตุภัทร์ แสดงออกถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และขอให้ปล่อยตัวทันที

ขณะเดียวกัน องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกันเขียนจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ทันที รวมถึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรมทั้งหมด

ส่วนพื้นที่ในโลกออนไลน์ นักวิชาการ-นักกิจกรรมหลายคน อาทิ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันเขียนจดหมายให้กำลังใจจตุภัทร์ และขอให้ผู้มีอำนาจปล่อยตัวจตุภัทร์ทันที

แต่ท่าทีจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ไพบูลย์ ยังคงยืนกรานที่จะดำเนินคดีกับทั้งหมดต่อไป

“บูรณุปกรณ์” ยังถูกควบคุมตัวฐานอั้งยี่-ซ่องโจร

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตระกูลบูรณุปกรณ์ ตระกูลนักการเมืองใหญ่ของ จ.เชียงใหม่ นำโดย บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และหลานสาว กับพวกรวม 10 คน ก็ถูกดำเนินคดีฐานทำเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.

ทั้งหมดโดนข้อหาหนัก ต่างจากนักกิจกรรมทั่วไป ทั้งสิบคนถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44  รวมถึงถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการทำผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และ มาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ซ่องโจร

คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นผู้จัดทำจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีลักษณะบิดเบือน โดยมี บุญเลิศ และทัศนีย์ เป็นผู้จ้างวาน รวมถึงคนอื่นๆ เป็นผู้ควบคุม ยุยงปลุกปั่น ซึ่งข้อหาดังกล่าว ถูกส่งตรงไปดำเนินคดียังศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่

หลังศาลทหารไม่ให้ประกันตัว อดีตนักการเมืองใหญ่ ก็ถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทันที โดยทั้งหมดถูกศาลคัดค้านไม่ให้ได้รับการประกันตัว ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 10 ปี

นอกจากนี้ ทหารได้คุมตัว รังสรรค์ มณีรัตน์ อดีต สส.ลำพูน สมโภช สายเทพ สส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย และปริญญา ขาววัฒน์ รองนายกเทศมนตรี ต.บ้านธิ จ.ลำพูน ในความผิดข้อหา ทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ ด้วยการแจกจ่ายเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ภาคเหนือ และหลังจากถูกนำตัวมาควบคุมที่ มทบ.11 ที่ กทม.ครบ 7 วัน ก็ถูกส่งกลับไปดำเนินคดีที่ศาลทหารพื้นที่เกิดเหตุ โดย รังสรรค์ ศาลไม่ให้ประกันส่วนที่เหลือถูกปล่อยตัว

เสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวส่วนใหญ่ ยังมาจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง ที่เรียกร้องให้ดำเนินคดีด้วยกระบวนการปกติ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งหมดทันที

หลังจาตุรนต์ แสดงความเห็นได้ไม่นาน ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวชน์ ก็แจ้งความต่อ สน.สำราญราษฎร์ ให้ดำเนินคดีกับ จิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยาของจาตุรนต์ ในข้อหาช่วยให้ผู้กระทำความผิดคดีนี้ หลบหนีในวัดสระเกศ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการดังกล่าว

ทว่า สุดท้ายตำรวจก็ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีกับภรรยาของ จาตุรนต์ แต่ระบุว่ายังอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเท่านั้น ขณะที่จาตุรนต์ตั้งการ์ดเตรียมฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ หากมีการดำเนินคดีกับภรรยา

ล่าสุด โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูลผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ 2559 โดยแบ่งข้อมูลเป็น 1.ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ (รวมถึงคดีฉีกบัตรลงประชามติ และทำลายรายชื่อลงคะแนน) พบว่ามีมากกว่า 64 คน และ 2.ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายอื่นๆ มีมากกว่า 131 คน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่า เมื่อประชามติผ่านไปแล้วควรยุติการดำเนินคดี โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แต่ คสช.ยังปฏิเสธเสียงเรียกร้อง และสั่งการให้เร่งจัดการต่อไป

ทั้งหมดนี้จะจบลงอย่างไร น่าสนใจยิ่ง