posttoday

เปิดใจ "เนติวิทย์" อึดอัด แต่ไร้ทางเลือก

20 มิถุนายน 2559

"อึดอัดครับ แต่ก็ต้องอยู่ ไม่มีทางเลือก สักวันหนึ่งผมอาจจะต้องโดนคดี ก็เตรียมตัวไว้แล้ว เพราะเราอยู่ในที่ที่เสรีภาพมันต่ำ แล้วในที่สุดก็จะกระทบกับทั้งระบบการศึกษาแน่"

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

มรสุมทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขาธิการกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไท และบรรณารักษ์ห้องสมุดสันติประชาธรรม วัย 19 ปี โดดเด่นขึ้นมา จากการแสดงความคิดเห็นที่ถูกมองว่าก้าวร้าว ทั้งการขับเคลื่อนให้ยกเลิกทรงนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาที่ล้าหลัง รวมถึงวิจารณ์การทำพิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน

ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนติวิทย์ เพิ่งมีสถานะใหม่เป็นว่าที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่วายโดนอาจารย์จากสถาบันเดียวกันค่อนแคะเรื่องหน้าตา และหลายคนก็ปรามาสเขาเช่นเดียวกันว่า เนติวิทย์ อาจพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในรั้วมหาวิทยาลัยอีก 4-5 ปีข้างหน้า

เนติวิทย์ บอกว่า ชีวิตมัธยมของเขาเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่สนุก และไม่ก่อให้เกิดความคิดอะไรใหม่ๆ นอกจากทำตามกรอบของผู้ใหญ่ หรือกรอบที่หนังสือระบุไว้ เขายกตัวอย่างเพื่อนหลายคนที่เก่งคอมพิวเตอร์มาก แต่ต้องเผชิญกับหลักสูตรที่ล้าหลัง ทำให้ผลการเรียนแย่ลงจนติด 0 ก็มี

ขณะที่บางคนเก่งวิทยาศาสตร์มากเกินไป ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดความรู้ เพียงเพราะความรู้นั้นไม่อยู่ในข้อสอบ และนำไปแข่งสร้างชื่อให้โรงเรียนไม่ได้

“อย่างผมสนใจศึกษาพุทธศาสนาแบบมหายาน โรงเรียนก็ไม่ได้สนใจมิติเหล่านี้ เขาไม่อยากให้เราเกินเลยไป เพราะเวลาไปสอบ ไปแข่งโครงการ ‘เพชรยอดมงกุฎ’ มันแข่งไม่ได้ เพราะพุทธไทย เป็นพุทธเถรวาท พูดถึงพุทธประวัติ ไม่เคยสนใจปรัชญาของมหายาน ครูถึงกับพยายามบอกให้เลิกอ่านพวกนี้ให้หมด”

หรืออย่างเรื่องการปลูกฝังความเป็นไทย ในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ หลักสูตรก็ไม่ได้พยายามตั้งคำถามว่าความเป็นไทย มันเป็นมาอย่างไร แล้วมันดีจริงหรือไม่ สุดท้ายก็กลายเป็นการปลูกฝังให้ “ท่องจำ” แบบเดิมๆ ซึ่งกรอบเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การ “ปฏิรูปการศึกษา” ไปไม่ถึงไหน

“คนในแวดวงการศึกษา ไม่ได้มีทัศนคติที่เปิดกว้าง งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ไปสัมภาษณ์ทัศนคติผู้บริหารระดับสูง เราเห็นชัดเลยว่าคนพวกนี้ไม่ได้มีทัศนคติเชิงปฏิรูป แต่ใช้เทรนด์ในต่างประเทศว่าต้องปฏิรูปการศึกษา มันก็ตลกดีว่าคนที่จะปฏิรูปนี่ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าปัญหาของการศึกษาอยู่ตรงไหน”

เช่นเดียวกับกรอบ “ระเบียบวินัย” ที่ระบบการศึกษาพยายามบังคับให้นักเรียนต้องทำตาม เพราะคนยุคหนึ่งเคยทำมานานแล้ว โดยไม่ตั้งคำถาม ก็สะท้อนความล้มเหลวได้ชัดเจน

“เหมือนเราเป็นพ่อแม่ เราก็อยากให้ลูกยืนตรง แต่วิธีนี้ทำให้เห็นแล้วว่า มันไม่ได้ทำให้คนรักชาติมากขึ้น ในศตวรรษปัจจุบัน หรืออย่างพิธีสวดมนต์ ครูสอนสวดมนต์ ทุกคนก็สวดกันหมด แต่พอไปสวดจริงๆ ไม่มีใครสวดได้เลย ทั้งที่สวดกันตลอด มันแสดงให้เห็นว่า วิธีการมันไม่เหมาะอีกแล้ว ตอนแรกอาจจะหวังดี ให้คนมีศีลธรรม แต่สุดท้ายมันก็ใช้ไม่ได้”

ตัวอย่างสำคัญอีกเรื่อง คือ ระบบการสอบ “โอเน็ต” ที่พบปัญหาการเฉลยข้อสอบเต็มไปหมด ทั้งที่ความจริงมาตรฐานทางการศึกษาควรจะน่าเชื่อถือ แต่กลับเห็นความพยายาม “แก้ตัว” มากกว่าที่จะยอมรับความผิดพลาด

“ผิดก็ต้องแก้ไข แต่ประเทศไทยมาตรฐานมันต่ำเหลือเกิน ก็สะท้อนให้เห็นว่าความสนใจเรื่องการศึกษานั้นน้อยมาก ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบพอ”

เนติวิทย์ ยังเชื่อว่า ระบบยังสามารถเปลี่ยนได้ แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้ครู-นักเรียน ร่วมกันสร้างโมเดล แบบที่เขาพยายามทำก่อนหน้า โดยมีศิษย์เก่าช่วยสนับสนุน มากกว่าจะทิ้งโรงเรียนให้เป็นภาระของนักเรียนรุ่นหลัง

“ต้องคุยกันให้มากขึ้นทุกโรงเรียน แต่ปัญหาเราคือพอข้างบนบอกว่า ต้องมีค่านิยม 12 ประการ ต้องลดเวลาเรียน ก็ต้องทำตามทุกที่ ทั้งที่มันใช้ได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งพื้นที่ให้พูดคุย หาเหตุผลอะไรเหล่านี้ ไม่เคยมีเลย” เนติวิทย์ ระบุ

หวังตั้งพรรคหากมีเสรีภาพพอ

การปฏิเสธ “เคารพธงชาติ” เมื่อ 3 ปีก่อน และรู้สึกคลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อได้ยินเพลงชาติ เพราะเนื้อร้องที่พ้นยุค ล้าสมัย และเป็นกลไกแห่งระบอบอำนาจนิยม ได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูก “เกลียดชัง” มากที่สุด เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน

“ผมยังยืนยันเหมือนที่เขียนไว้ว่า การร้องเพลงชาติ ควรยกเลิก แต่ไม่ได้หมายถึงต้องทำลายทิ้ง แค่ยกเลิกการบังคับ การบังคับกันมันไม่เกิดประโยชน์ เหมือนวันไหว้ครู บางคนก็ไม่ได้ไป บางคนอาจจะติดธุระ หรือบางคนอาจจะไม่ได้นับถือ แต่คนที่ยังนับถือก็ไปไหว้ได้ อยู่กันด้วยความจริงใจมากกว่าจะครอบงำด้วยความกลัว” เนติวิทย์ ย้ำจุดยืน

ปฏิกิริยากับเรื่องดังกล่าว ทำให้เนติวิทย์เผชิญหน้ากับการถูกเกลียด จากทั้งเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องในโรงเรียน โดยวิธีที่แสดงออกก็คือ ถูกร้องเพลงชาติใส่หน้า

“เวลาเขาเดินผ่านผมก็จะ ‘ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย’ ใส่เราดังๆ เพราะเราต่อต้านการเคารพธงชาติ ผมก็ไม่ได้ตอบอะไร ปล่อยให้เดินผ่านไปเฉยๆ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเขานะ ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้ก็ไม่ได้ข้อมูล ก็เอาโควตมา หรือตามเพื่อน-ทำตามเพื่อน โดยไม่ได้สนใจอะไร”

แม้จะมีที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแล้ว แต่เนติวิทย์ก็ยอมรับตรงๆ ว่า แท้จริงเขาอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากพอ ทั้งในทางวิชาการ หรือในทางการเมือง

“ผมไม่มีโอกาส ก็เลยได้เรียนมหาวิทยาลัยแถวนี้ เสรีภาพทางวิชาการมันไม่มี บางเรื่องพูดไม่ได้ หรือบางเรื่องพูดได้แต่อาจจะถูกจับ อาจจะมีทหารมาเยี่ยม แล้วความหลากหลายมันก็ต่ำ เดี๋ยวก็แบ่งพรรคแบ่งพวก เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในระบบน้อยมาก แต่ผมไม่มีทางเลือก ไม่มีเงิน ก็เลยต้องอยู่ที่นี่” เนติวิทย์ ยอมรับ

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เนติวิทย์เพิ่งโดนทหารไปเยี่ยมบ้าน เนื่องจากมีชื่อเป็นหนึ่งใน “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งเขาก็ยอมรับตรงๆ ว่าสภาพแบบนี้อาจทำให้วันหนึ่งต้องถูกดำเนินคดีอะไรบางอย่างแน่ๆ

“อึดอัดครับ แต่ก็ต้องอยู่ ไม่มีทางเลือก สักวันหนึ่งผมอาจจะต้องโดนคดี ก็เตรียมตัวไว้แล้ว เพราะเราอยู่ในที่ที่เสรีภาพมันต่ำ แล้วในที่สุดก็จะกระทบกับทั้งระบบการศึกษาแน่ เพราะมันมีบางเรื่องที่พูดไม่ได้”

เมื่อเร็วๆ นี้ เขาไปฟังอดีตเอกอัครราชทูตเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เนื้อหาอะไรมากไปกว่าการยกยอกันเอง ทั้งที่เป็นคนเดียวกันกับเมื่อครั้งไปเสวนาในต่างประเทศ กลับพูดไปไกลกว่ามาก

เปิดใจ "เนติวิทย์" อึดอัด แต่ไร้ทางเลือก

ส่วนอนาคตชีวิตนิสิตนั้น เนติวิทย์ ยอมรับว่า คงมีคนกระแนะกระแหน แบบเดียวกับที่เขาเคยโดนอาจารย์สถาบันเดียวกันค่อนแคะเรื่องหน้าตา แต่เขาก็ยอมรับว่า อยากให้มีคนพูดถึงเขาในแง่ลบเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยก็ทำให้หนังสือของเขาเรื่อง “นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี” ที่กำลังจะออกขาย มียอดจองเพิ่มขึ้น

“เขาก็มีสิทธิที่จะมองเราเป็นพวกหัวรุนแรง มันอาจจะมีบางเหตุการณ์ให้คนคิดแบบนั้น ผมก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ตอนนี้เราไปชุบตัวอยู่จุฬาฯ แล้ว (หัวเราะ)”

เขายังยืนยันว่า หลังจากนี้จะเคลื่อนไหวต่อ หากเข้าไปในรั้วจามจุรีแล้ว ยังมีแนวร่วมคนที่พร้อมใจกันเคลื่อนด้วย ทั้งประเด็นการศึกษา สังคม การเมือง

“ถ้ามีคนเห็นด้วยจำนวนนึง 10-15 คน เราก็พอเคลื่อนไหวได้ ผมก็เตรียมประเด็นว่า เราจะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารก่อนเลย เพราะผมไม่อยากเกณฑ์ทหาร (ยิ้ม)”

ถามถึงอนาคตหลังเรียนจบ เนติวิทย์ พูดติดตลกว่า เรียนรัฐศาสตร์จบไป น่าจะตกงาน แต่เขาก็ยังหวังว่า หากสถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น อาจจะได้ตั้งพรรคการเมืองแล้วสู้ต่อ แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ ก็คงต้องถอย รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

“ผมก็ไม่รู้ว่า เราจะเป็นยังไง อาจจะต้องหนีไปต่างประเทศ หรือหาโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ถ้าจุฬาฯ ใจบุญ หรืออาจารย์ท่านคิดว่าผมไม่เหมาะกับที่นี่ ไม่อยากให้ผมเรียน ก็หาเงินให้ผม ถ้าได้เงินพอไปต่างประเทศ ให้ไปเรียนที่อื่น ผมก็ยินดีเลยครับ” เนติวิทย์ กล่าว