posttoday

คำถามพ่วงร่างรธน. ตัวแปรประชามติ

26 เมษายน 2559

"ผลการทำประชามติถ้าไม่รับทั้งสอง หรืออาจจะรับแค่คำถามพ่วง ปัญหาก็จะตามมา คือ จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่"

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่าย อาทิ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐ
ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 “คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ณ ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ ชั้น 12 ตึกรัฐศาสตร์ 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าการที่มีคำถามพ่วง เพราะเหตุผล 4 ประเด็น คือ 1.มีการพูดคุยกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ตอบโจทย์ตามข้อเสนอแนะของแม่น้ำ 4 สาย จึงต้องมีการวัดใจกับประชาชน 2.ส่วนผู้ที่เสนอคำถามพ่วงนั้น อาจจะมองว่าโครงสร้างกลไกของร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีหลักประกันเพียงพอในการสร้างเสถียรภาพทางอำนาจ 3.อาจจะเกิดจากความเกรงกลัวว่าฝ่ายการเมือง จะเข้ามาคุมกลไกอำนาจได้ หรือกลัวการรื้อโครงสร้างอำนาจต่างๆ ที่สร้างมาตลอด 2 ปี และ 4.หรืออาจจะเกิดจากคนที่มีอำนาจแล้วไม่อยากลงจากอำนาจ เลยต้องมีคำถามพ่วง

อย่างไรก็ตาม ถ้าส่วนตัวจะพิจารณารับคำถามพ่วง จะพิจารณาจากเหตุผลอะไร หากเพื่อการปฏิรูปก็ไม่รู้ว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร มีประเด็นอะไรบ้าง หรือประเด็นปฏิรูปนั้นต้องพ่วงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งไม่รู้อยู่ดีว่าอะไรคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถ้าคำถามที่ควรหย่อนบัตรเห็นชอบในช่วงเวลาระหว่างนี้ จะได้เห็นชาติไหนว่ายุทธศาสตร์ชาติจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็พอที่จะเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจ แต่ขณะนี้ยังไม่มี

“ผลการทำประชามติถ้าไม่รับทั้งสอง หรืออาจจะรับแค่คำถามพ่วง ปัญหาก็จะตามมา คือ จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่รู้ประเด็นว่าจะต้องพบกับอะไร หรือจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับปรุง หรือจะให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องของความชอบธรรม และมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย ถ้าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นว่าประชาชนไม่รับกรอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ไม่ผ่าน”

ด้าน ไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุว่า การจะดูว่าคำถามพ่วงต้องการอะไร จะต้องวิเคราะห์โครงสร้างร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อน ซึ่งในบทเฉพาะกาลได้ระบุทำนองว่าจำเป็นจะต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน และก็ได้ออกแบบการดำเนินงานจะต้องโยงกับยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางโครงสร้างเป็นแผน 20 ปี ให้รัฐบาลใหม่วางนโยบายสอดคล้องกับแผนนี้

ทั้งนี้ จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติช่วยดูแลส่วนนี้ด้วย แต่ลำพังแค่คณะกรรมการชุดเดียวคงไม่พอ จึงต้องให้ สว.ช่วยกำกับเรื่องปฏิรูปประเทศด้วย อีกทั้งในโครงสร้างปกติตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ สว.ก็มีอำนาจมากพออยู่แล้ว สิ่งที่เขาต้องการอีกคือการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

นอกจากนี้ คำถามดังกล่าวมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งองค์ประกอบที่ไปด้วยกัน อีกทั้งในช่วง 5 ปีแรก คสช.ก็มีสิทธิเลือก สว. เท่ากับว่า คสช.เองเป็นผู้สถาปนาอำนาจให้ สว. เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า อำนาจที่อยากให้มีเพิ่มเติมก็คือการร่วมเลือกนายกฯ และต้องการควบคุมนายกฯ ด้วยโดย 250 เสียง

“ถือว่าแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับเสียงจากพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด ซึ่งเป็นตัวแปรในการเลือกนายกฯ ได้เลย สามารถกล่าวได้ว่านี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องการคงอำนาจให้ทหาร อาจจะดีก็ได้ ผมไม่ทราบ แต่เขาออกแบบอย่างนี้ ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง ถึงที่สุดแล้วคือการเพิ่มอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้ คสช.อยู่กับเราไปอีก 5 ปี แต่เป็นในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะในโครงสร้างรูปแบบ สว. ด้วยเหตุนี้คำถามนี้จึงมีนัยสำคัญต่อการเมืองอนาคต”

ขณะที่ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถ้าคำถามพ่วงผ่านประชามติ เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่ได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้จะมั่นใจได้อย่างไรที่พรรคการเมืองจะรวมตัวกันคานเสียงของ สว.อีกทั้งได้มีการระบุเหตุผลว่าสาเหตุที่ต้องมีคำถามพ่วง เพราะต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งออกแบบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจุบัน แต่จะมีผลผูกพันไปอีก 20 ปี ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็ตาม แต่คำถามพ่วงมีเป้าหมายเพื่ออะไรนั้น คงต้องย้อนถามว่าถ้าจะปฏิรูปประเทศต้องการอะไร

“เรากลัวอะไร เราจะปฏิรูปอะไร และเราต้องการให้ใครเป็นใหญ่ในประเทศนี้ ซึ่งสภาวะขณะนี้เป็นการชิงพื้นที่ระหว่างนักการเมืองที่ถูกชี้ว่าเป็นคนไม่ดี กับ ‘คนดี’ ซึ่งเราเองก็ควรมีสิทธิที่จะบอกได้ว่าเราต้องการคนดีอย่างไร และ ‘คนดี’ ก็ต้องได้รับการตรวจสอบ โดย สว.ที่ถูกเลือกขึ้นมาอาจจะเป็นคนดีก็ได้ แต่ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบคนดีเหล่านั้น ในกรณีที่หากมีพฤติกรรมไม่ค่อยจะดี แล้วท้ายที่สุดแล้วใครที่จะเป็นใหญ่ในประเทศนี้ ระหว่างประชาชนหรือผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าได้คนที่ไม่ดี แต่ถ้าประชาชนมีสิทธิตั้งคำถาม ประท้วง ถอดถอนได้ จะดีกว่าการที่เราได้ ‘คนดี’ แต่ไม่มีสิทธิตั้ง หรือทักท้วงอะไรเลยหรือไม่”

ด้าน อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเพิ่มคำถามพ่วงควบคู่กับการทำประชามตินั้น ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญที่สุด คือจะทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิสามารถลงมติตามที่ใจตัวเองต้องการได้หรือไม่ ซึ่งคำถามพ่วงนั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิด้วย

“ถ้าลงประชามติแค่ร่างรัฐธรรมนูญประชาชนก็คิดอีกแบบ พอมีคำถามพ่วงประกอบก็จะทำให้ประชาชนคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวผู้มาใช้สิทธินั้นมีความเข้าใจในคำถามพ่วงมากน้อยเพียงไหน ยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีกว่าถ้าคำถามพ่วงผ่าน แต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คำถามนี้จะมีผลผูกมัดต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปหรือไม่”

ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวด้วยว่า คำถามพ่วงและกระบวนการทำประชามติ สมมติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน สว.ไม่มีส่วนเลือกนายกฯ ถ้ามองส่วนหนึ่งถือว่าไม่สะท้อนหลักประชาธิปไตย จึงไม่ได้บรรจุในรัฐธรรมนูญ ถ้าคำถามพ่วงได้รับการยอมรับ และร่างรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ร่างใหม่ในอนาคต

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พูดได้ว่าการสอนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่น่าทำได้อิสระตามกรอบวิชาการ แต่ถ้าจะทำต้องไปขอผู้มีอำนาจเพื่อได้รับอนุญาต เมื่อพูดถึงการทำประชามติ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดบังคับใช้ทุกคน จึงควรมีเวทีเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด และไม่มีใครเข้าใจทุกตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รู้ว่าอะไรคือประโยชน์สูงสุดและสำคัญ”