posttoday

เร่งปฏิรูปสงฆ์ก่อนเสื่อมถอย "มหาเถรฯ" ไม่โปร่งใส-เล่นเส้น-ละเลยหน้าที่

22 กุมภาพันธ์ 2559

"ปัญหาการปกครองพระสงฆ์ต้องโยงไปถึง มส.ด้วย และนับวันภาพลักษณ์ของ มส.ก็ตกต่ำลง หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดคำถามในสังคม"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ความศรัทธาของประชาชนต่อพระพุทธศาสนากำลังถูกชั่งน้ำหนักอยู่ในขณะนี้ เพราะความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ด้วยกันเองที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์แง่ลบ จึงเกิดคำถามตามมาในทำนองว่า ไม่ละอายหรือไรที่จะหาญกล้าบรรจุพระพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็น “ศาสนาประจำชาติ”

หรืออีกหลากหลายคำถามที่ว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ศาสนาพุทธในเมืองไทย พระสงฆ์ การปกครอง ฆราวาส จักต้องถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเสียที

บวกกับ “ศึก” ระหว่างสงฆ์ ขึ้นโรงขึ้นศาลแจ้งความเอาผิดอาญาเพียงเพราะเห็นต่าง และความที่ว่า “ละทิ้งทางโลก” จึงไม่มีผลต่อคนที่ห่มเหลืองและเรียกตัวเองว่าพระสงฆ์

เพราะมาถึง ณ จุดหนึ่งที่ “พระ” ในเมืองไทยพร้อมที่จะห้ำหั่นกันเอง

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ พระสายกลางผู้ยึดถือหลักปฏิบัติมากกว่าคำพูด ฉายภาพความขัดแย้งในฐานะพระสงฆ์อีกรูปที่สนับสนุนว่า ณ เวลานี้ ควรจะปฏิรูปสงฆ์ได้แล้ว กล่าวกับโพสต์ทูเดย์ว่า “ความเสื่อมถอยแห่งศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชนนั้น เป็นเพราะมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ปฏิปทาไม่น่าเลื่อมใส ประพฤติตัวไม่ถูกต้อง”

พระไพศาล เปิดบทสนทนาโดยพูดถึงเหตุความขัดแย้งต่างๆ จนนำไปสู่การชุมนุมและการทะเลาะเบาะแว้งกันของสงฆ์ ถือเป็นอุทาหรณ์ชิ้นใหญ่ของพุทธศาสนาในเมืองไทย ที่สะท้อนปัญหาและความอ่อนแอของศาสนาที่หลายคนเรียกอ้างว่าเป็นศาสนาประจำชาติ

พระไพศาล อธิบายว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งเป็นเพราะพุทธศาสนามีปัญหามากมายที่สะสมมานานโดยไม่ได้รับการแก้ไข บวกกับข่าวอื้อฉาวที่มีมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ ส่งผลต่อศรัทธาของประชาชน ทำให้พุทธศาสนาในไทยมีอาการซวดเซและอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือของศาสนาอื่นอย่างที่มักพูดกัน แต่เกิดจากชาวพุทธกันเอง

ปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงขึ้น ดังนั้นชาวพุทธจึงต้องเร่งช่วยกันปรับปรุง เพื่อให้พระสงฆ์นั้นกลับมามีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ให้ประชาชนพร้อมที่จะกราบไหว้ด้วยศรัทธา เป็นทางออกอย่างเร่งด่วนที่พระไพศาลปรารถนาให้เกิดขึ้น แต่เมื่อลงลึกถึงปัญหาที่ผ่านมา พระไพศาลพบว่าเป็นเพราะการศึกษาของพระสงฆ์ที่ล้าหลัง ไม่ช่วยให้พระสงฆ์มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพระธรรมวินัย และละเลยเรื่องการฝึกจิตพัฒนาตน ขาดภูมิคุ้มกันต่อสิ่งยั่วยวน เกิดการกระทำที่ตามใจชอบ จึงเกิดเรื่องราวไม่เหมาะสมต่างๆ มากมาย

ขณะเดียวกัน การปกครองคณะสงฆ์นั้นย่อหย่อนไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากรวมศูนย์อยู่ที่กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่กี่คน ซึ่งชราแล้ว  เมื่อมีพระประพฤติตนไม่ถูกต้องก็ปล่อยปละละเลย หรือตัดสินกรณีต่างๆ อย่างไม่มีความบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม

“แน่นอนว่าปัญหาการปกครองพระสงฆ์ต้องโยงไปถึง มส.ด้วย และนับวันภาพลักษณ์ของ มส.ก็ตกต่ำลง หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดคำถามในสังคม และประชาชนมีข้อสงสัยตามมา” พระไพศาล ย้ำ

เหตุผลอีกประการที่ทำให้วงการพุทธเกิดความขัดแย้งอย่างหนักมีสาเหตุมาจากมติมหาเถรสมาคมครั้งล่าสุดเกี่ยวกับกรณีธัมมชโย สำหรับกรณีที่พระสงฆ์ออกมาชุมนุมกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 5 ข้อ พระไพศาลเห็นว่าเป็นเพราะพระสงฆ์เหล่านั้นมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะฝ่ายรัฐก้าวก่ายพระสงฆ์ แต่ปัญหาจริงๆ มีมากกว่านั้น

“กระแสสังคมหรือชาวพุทธจำนวนมากเห็นว่ามหาเถรสมาคมไม่ได้ทำหน้าที่ของตน คือการปกป้องพระธรรมวินัย แทนที่จะพิจารณากรณีธัมมชโย เพื่อชี้ถูกชี้ผิดให้กระจ่างชัด ก็กลับมีมติที่เหมือนเป็นการอุ้มธัมมชโยเอาไว้ ความเสื่อมศรัทธานี้เป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และแก้ไม่ได้ด้วยการชุมนุมกดดันรัฐบาล” พระไพศาล กล่าว

นอกจากนี้ พระไพศาลยังกล่าวว่า ความอ่อนแอของพุทธศาสนาในเมืองไทยไม่ได้เกิดจากพระสงฆ์จำนวนมากทำตัวไม่น่าเลื่อมใสเท่านั้น ฆราวาสที่เป็นพุทธศาสนิกชนเองก็เป็นปัญหาเช่นกัน คือยังขาดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย ขาดความเข้าใจว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร จึงเปิดช่องให้พระสงฆ์บางรูปฉวยประโยชน์ เกิดไสยพาณิชย์ ทำให้ผู้คนลุ่มหลงงมงาย เอาเครื่องรางของขลังเป็นที่พึ่ง ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน อีกทั้งยังเปิดช่องให้มีอลัชชีมากมาย รวมทั้งเปิดทางให้ธรรมกายขยายตัวมากขึ้นด้วย

“เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนจำนวนมากก็ยังลุ่มหลงศรัทธาในเณรคำ เพราะหลงเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่มีพฤติกรรมน่าเคลือบแคลงมานานแล้ว ถ้าผู้คนมีความเข้าใจในพุทธศาสนาอย่างถูกต้องก็คงไม่หลงเชื่อเณรคำตั้งแต่แรก หลายคนก็เห็นว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ปล่อยปละละเลยพระสงฆ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ทั้งพระและฆราวาสก็มีส่วนทำให้เกิดขึ้น”

พระไพศาล เสนอแนวทางปฏิรูปไว้รวม 3 ข้อ และย้ำว่าหากยังต้องการที่จะเห็นพระพุทธศาสนาเติบโตคู่เมืองไทยอย่างมั่นคง 3 ข้อจากนี้ คือสิ่งที่ควรจะต้องเริ่มให้มีการเปลี่ยนแปลง คือ 1.ต้องปฏิรูปการปกครอง ให้มีการกระจายอำนาจออกไป ไม่รวมศูนย์ที่มหาเถรสมาคม มีความโปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้วิ่งเต้นใช้เส้นสาย มีการกวดขันเรื่องทรัพย์สินของวัดไม่ให้รั่วไหลหรือเปิดช่องให้มีการทุจริต

2.การศึกษาของพระสงฆ์ ต้องสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าถึงและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในพระธรรมวินัย  และสามารถเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาและคุณธรรมของผู้คนได้ และ 3.ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างพระกับฆราวาส พระกับประชาชนต้องใกล้ชิดกันมากขึ้น หากเห็นพระผิดก็ต้องตักเตือนหรือลงโทษได้ พระไม่ดีฆราวาสก็ต้องไม่สนับสนุน พระดีก็ต้องทำนุและส่งเสริม

สำหรับกรณีพระสงฆ์เรียกร้องขอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น พระไพศาลเห็นว่าทุกวันนี้พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่ทุกวันนี้ภาษาไทยก็เป็นภาษาประจำชาติอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องให้ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ

พระไพศาลยังให้ความเห็นว่า ผู้ที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาหรือแก้ปัญหาที่เกิดในวงการพุทธศาสนานั้น ควรมีความเข้าใจในพุทธศาสนาและพระสงฆ์

“ผู้มีอำนาจในรัฐบาล รวมทั้งนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจเรื่องพระเลย อีกทั้งยังไม่กล้าไปยุ่งด้วยเพราะกลัวแรงต้าน ดังนั้นเราจะไปหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะสงฆ์ด้วยอำนาจของรัฐบาลก็คงไม่ได้ แต่พระและฆราวาสต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์ อย่าลืมว่าพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะปัจจัยสำคัญคือประชาชนหรือสังคม หากสังคมห่าง ไม่สนับสนุน ศาสนาพุทธก็อยู่ยาก”พระไพศาล ทิ้งท้าย