posttoday

เบื้องหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

18 กุมภาพันธ์ 2559

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในอดีตราบรื่นไม่มีข้อกังขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเถระอาวุโสโดยพรรษา สละสิทธิในการเสนอชื่อ

โดย...สมาน สุดโต

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในอดีตราบรื่นไม่มีข้อกังขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเถระอาวุโสโดยพรรษา สละสิทธิในการเสนอชื่อเพื่อขอรับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเล่าให้ฟังดังนี้

ร.อ.อดุลย์ รัตตานนท์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา เล่าเรื่องนี้ต่อหน้าพระพรหมเมธี (จำนงค์) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ และ พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการกิตติมศักดิ์ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เมื่อค่ำวันที่ 25
ม.ค. 2559

การที่ ร.อ.อดุลย์ ยกประเด็นเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 มาพูดในที่ประชุมวงเล็กๆ ที่กุฏิวัดสัมพันธวงศ์ เนื่องจากไปอ่านข้อเขียนเรื่อง ปลดล็อก ---สมเด็จพระสังฆราช โดย รุจิระ บุนนาค ในคอลัมน์โลกทัศน์ใหม่ แห่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงวันที่ 25 ม.ค. 2559 ซึ่งท่านอธิบดีอ่านแล้วอยากเขียนแก้เนื้อหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ในพารากราฟก่อนสุดท้าย ที่เขียนว่า

ในคราวที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ในปี พ.ศ. 2532 ได้มีสมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงสุดในตอนนั้น ไม่ขอรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แทน

ข้อความที่ท่านอธิบดี ในวัย 86 ปี ต้องการแก้ไข คือ สมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงสุดในตอนนั้น ไม่ขอรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งความเป็นจริงสมเด็จพระราชาคณะ มีลิขิตถึงอธิบดีกรมการศาสนาว่า ท่านขอสละสิทธิในการเสนอชื่อ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช (ย้ำ) ไม่ได้สละสิทธิตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

เบื้องหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

ร.อ.อดุลย์ เล่าว่า ในชีวิตของท่านนั้นผ่านสมเด็จพระสังฆราชมา 6 องค์ เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร (องค์ที่ 14) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ (องค์ที่ 15) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม (องค์ที่ 16) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (องค์ที่ 17) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (องค์ที่ 18) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร (องค์ที่ 19)

ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะอธิบดีกรมการศาสนา คือ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ท่านอธิบดี เล่าว่า เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 วันที่ 18 มี.ค. 2532 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (มาตรา 7) ที่บัญญัติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

แสวง อุดมศรี เขียนเล่าในเรื่องคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตอนหนึ่งว่า

สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

ภายหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2532 แล้ว บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่สนใจในเรื่องของคณะสงฆ์ก็เริ่มวิจารณ์กันอย่างลึกๆ ว่า สมเด็จพระราชาคณะรูปใดควรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป

ดุสิต โสภิตชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี พรรคกิจสังคม ได้เสนอความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันพาดหัวข่าวหน้า 1 ด้วยอักษรตัวไม้ว่า “สงฆ์เคลื่อนไหวตั้งสังฆราช 2 องค์” ซึ่งมีรายละเอียดของข่าว โดยสรุปว่า

พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอในภาคอีสานมีความเห็นสอดคล้องกันว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ควรเป็นพระเถระจากฝ่ายมหานิกาย เพื่อสลับกันกับพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพราะสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้วเป็นพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย 2 รูป ที่สมควรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่มี 2 รูป คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา

สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร และพระเถระในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ควรจะแสดงท่าทีสนับสนุนสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ก็ควรจะให้มีการเปิดซาวเสียงพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

หากมีการตั้งสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โอกาสที่จะมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราช 2 องค์ ก็มีอยู่สูงมาก เพราะความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตราไว้เพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช” ไม่ได้ตราไว้ว่ากี่องค์หรือต้องสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เท่านั้น...

ส่วนมาตรา 10 เปิดช่องไว้ว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในตอนนั้นสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสโดยพรรษามี 2 รูป คือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุที่ท่านเกิดวันที่ 8 พ.ย. 2446อุปสมบทวันที่ 18 มิ.ย. 2466

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) วัดสามพระยา เกิดวันที่ 20 มี.ค. 2448 อุปสมบทวันที่ 20 มิ.ย. 2469

และสมเด็จพระญาณสังวร เกิดวันที่ 3 ต.ค. 2456 อุปสมบท (แปลงจากมหานิกาย เป็นธรรมยุต) วันที่ 15 ก.พ. 2476

เมื่อนับอาวุโสโดยพรรษา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) อาวุโสกว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) 3 พรรษา และสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) อาวุโสกว่าสมเด็จพระญาณสังวร 7 พรรษา

ถ้าดูตามนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ต้องได้รับการสถาปนา

ร.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนทำเรื่องด้วยตนเอง และเป็นที่น่ายินดีที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) ท่านมีอุปนิสัยในการปรองดอง จึงมีลิขิตถึงอธิบดีกรมการศาสนา ลงวันที่ 20 มี.ค. 2532 ว่า ขอไม่รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ขณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) มีลิขิตลงวันที่ 21 มี.ค. 2532 ว่า ขอไม่รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน เรื่องก็จบลงโดยดี สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 จึงตกแก่สมเด็จพระญาณสังวร ด้วยประการฉะนี้

เบื้องหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ใช้เวลาสั้นๆ จากวันพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน วันที่ 18 มี.ค. 2532-21 เม.ย. 2532 ก็มีพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ยังมีประเด็นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาก กาลเวลาจึงล่วงเลยมานาน นับแต่พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช วันที่ 16 ธ.ค. 2558 เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คัดค้านที่จะให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) ผู้อาวุโสโดยพรรษา และปฏิบัติหน้าที่ได้ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่ามหาเถรสมาคมลงมติไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 ก็ตาม

อดุลย์ พูดให้คิดว่า งานนี้ไม่มีปัญหา ถ้าทุกฝ่ายยึดกฎหมายเป็นหลัก