posttoday

12 กฎเหล็กหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามโดนฟ้องศาล

13 มกราคม 2559

การประชุมกรธ. นอกสถานที่ วันที่สอง เข้าสู่การพิจารณาหมวด 4 เรื่อง หน้าที่ของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 เรื่อง หน้าที่ของรัฐ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี วันที่สอง เมื่อวันที่ 12 ม.ค.เข้าสู่การพิจารณาหมวด 4 เรื่อง หน้าที่ของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 เรื่อง หน้าที่ของรัฐ

สำหรับเนื้อหาว่าด้วยหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เป็นการวางหลักเรื่องหน้าที่ของบุคคล อาทิ การเข้ารับราชการทหาร การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเสียภาษีอากร หรือการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น ซึ่งในภาพรวมมีเนื้อหาคล้ายกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะการกำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ของคนไทย ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควร จะเสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ทว่าเนื้อหาใหม่ที่เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทยอยู่ที่การให้การต่อต้านการทุจริตเป็นหน้าที่ ซึ่งถือว่าไม่เคยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยหลักการสำคัญ คือ หากประชาชนพบเห็นการทุจริตจะต้องเข้าไปขัดขวาง ป้องกัน และให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามการทุจริต ส่วนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะต้องมีการออกกฎหมายกำหนดโทษความผิดด้วย

เช่นเดียวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ที่นับเป็นบทบัญญัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่ง กรธ.ได้กำหนดสาระสำคัญเอาไว้ 12 ประการ

1.รัฐต้องดำเนินการอันเป็นหน้าที่ของรัฐให้ครบถ้วนตามกำลังความสามารถทางการเงินการคลังของรัฐ 2.รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน 3.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

4.การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย มีความสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน 5.รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ 6.รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

7.รัฐต้องคุ้มครองและบำรุง บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน 8.กำหนดหลักการให้การดำเนินการใดๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิต หรือสุขภาพของประชาชน รัฐต้องให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย 9.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบางประการที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว

10.รัฐต้องจัดมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 11.รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด และ 12.รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐและเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกทั้งปวงเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในการพิจารณาเรื่องหน้าที่ของรัฐ กรธ.มีความเห็นร่วมกันว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาทำหน้าที่แล้ว จะต้องแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา โดยนโยบายดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย เพื่อให้เกิดสภาพบังคับว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเพื่อก่อให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมมากขึ้น

ที่สำคัญ ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดหน้าที่ของรัฐ จะเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีถูกฟ้องร้องถึง 4 ศาล แล้วแต่กรณี ได้แก่ 1.ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.ฟ้องศาลแพ่ง เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีที่รัฐดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่เป็นผลกระทบต่อประชาชน 3.ฟ้องศาลอาญา เพื่อให้ไต่สวนว่าการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหมวดนี้เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ และ 4.ฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งทางปกครองบางประการที่เข้าข่ายกระทบสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชน

นอกจากนี้ กว่าที่ประชุม กรธ.จะได้ข้อสรุปในเรื่องหน้าที่ของรัฐข้อที่ 12 ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปรากฏว่าได้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากมาย

เดิมทีกำหนดให้ครอบคลุมเฉพาะการทุจริตในวงราชการเท่านั้น แต่ กรธ.หลายคนเห็นว่าการทุจริตในปัจจุบันได้มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับไทยมีพันธะตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003

ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้การปราบปรามการทุจริตให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน จะเป็นการส่งสัญญาณในทางที่ดีว่าไม่ได้มุ่งจับทุจริตเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่เป็นการวางระบบเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพ ทำให้ที่สุดแล้ว กรธ.บัญญัติถ้อยคำให้เชื่อมโยงถึงการปราบทุจริตในภาคเอกชนด้วย

นอกเหนือไปจากหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและหน้าที่ของรัฐที่ กรธ.ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ก็เป็นอีกเรื่องที่ กรธ.ได้พิจารณาเสร็จสิ้น ซึ่งครอบคลุมเรื่องการให้รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและกรอบในการบริหารประเทศ และกำหนดให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

สำหรับการประชุม กรธ.ในวันที่ 13 ม.ค.จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และการควบคุมการบริหาราชการแผ่นดิน