posttoday

สังคายนา กม.ชีวภาพ พลิกโอกาสคุมจีเอ็มโอ

21 ธันวาคม 2558

ในกรณีที่พืชจีเอ็มโอหลุดออกสู่ภายนอกแล้ว ความรับผิดชอบกำหนดไว้เพียงว่า ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของไปตามกำจัด ไม่ได้ให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา จะมีมติตีกลับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ (จีเอ็มโอ) ที่เคยผ่านมติ ครม.ไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. ส่งกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กลับไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ตรวจสอบกฎหมาย และให้ความเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เมื่อการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่ควรที่จะพิจารณากฎหมายที่เดินหน้าไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน จีเอ็มโอเป็นเรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะถูกตีกลับ แต่ก็ยังถือเป็นการพับเก็บไปโดยยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต และต้องทำการบ้านเพื่อตอบคำถามสำคัญๆ อีกหลายข้อในวันข้างหน้า

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.ที่ถูกตีกลับให้ ทส.กลับไปพิจารณา เคยถูกเสนอมาแล้วสองครั้ง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่ารูปแบบหรือเนื้อหาเดิมอาจจะถูกเสนออีกครั้ง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคประชาชนที่เฝ้าระวัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป และเสนอกฎหมายเรื่องการคุ้มครอง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่มีเรื่องของการดูแลเรื่องชีวภาพในภาพรวมที่ครอบคลุมและมีจีเอ็มโอเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งไปควบคู่กันด้วย

บัณฑูร กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ควรจะอุดช่องโหว่ของ พ.ร.บ.จีเอ็มโอที่เพิ่งถูกตีกลับ โดยเฉพาะเรื่องการประเมินถึงความเสี่ยงของพืชจีเอ็มโอที่ควรเน้นในสองเรื่องหลัก ประการแรก คือ การระมัดระวังล่วงหน้า ที่ไม่ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์แน่นอนมาเป็นพื้นฐาน เพราะเรื่องจีเอ็มโอนั้นยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่กระจ่างชัดในหลายๆ กรณี

ประการที่สอง คือ เรื่องการประเมินความเสี่ยง พ.ร.บ.ฉบับเดิม ระบุว่า การขออนุญาตนำพืชจีเอ็มโอไปปลูกในเชิงพาณิชย์ ให้ดูเพียงผลกระทบจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เท่านั้น แต่ขาดการระบุถึงผลกระทบหรือสร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจสังคม เช่น เรื่องสิทธิของเกษตรกรในการปกป้องตัวเองจากจีเอ็มโอ

“เนื้อหาในเรื่องนี้ครอบคลุมหลายด้านและมีตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ต้องปรับเปลี่ยนให้รอบคอบเท่าทัน และควรจะปรับแก้ก่อนผ่านร่าง พ.ร.บ.ไม่ใช่ให้ผ่านไปก่อนแล้วค่อยจัดให้มีการระดมความคิดเห็นตามหลัง” ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ย้ำ

อีกประเด็นก็คือเรื่องของบทลงโทษ และความรับผิดกรณีที่ผู้วิจัยหรือผู้ทดลองจีเอ็มโอที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการแล้ว ต้องปฏิบัติตามหากเกิดปัญหาการปนเปื้อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุเพียงว่า ให้ตามเก็บพืชที่ปนเปื้อนเพื่อไปทำลายหรือกำจัด แต่ไม่ได้รวมไปถึงความรับผิดชอบที่สร้างผลเสียหายหรือผลกระทบอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น พืชชนิดใดก็ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการให้ปลูก มีรายงานด้านผลกระทบชัดเจนว่า จะไม่สร้างผลกระทบต่อแมลงในระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อพืชชนิดนั้นๆ ไม่มีผลกระทบต่อการข้ามไปผสมกับพืชพื้นเมือง แต่ปลูกจริง กลับสร้างผลกระทบทั้งต่อแมลงและต่อพืชพื้นเมือง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่ได้ระบุ ว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

บัณฑูร ระบุอีกว่า มาตรา 52 ที่ พ.ร.บ.เคยเสนอนั้น เขียนไว้ว่า หากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ.ก็ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกำหนดให้ต้องมีการรับผิดเฉพาะกรณีความเสียหายเกิดจากสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอที่ ไม่อยู่ ในบัญชีปลดปล่อยฯ เท่านั้น

นอกจากนี้ กรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สุขภาพของมนุษย์และสัตว์ หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นผลมาจากการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ. ผู้ประกอบกิจกรรมจีเอ็มโอต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ได้รับความเสียหายเอง ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นไม่ต้องรับผิด

“สิ่งที่น่าตั้งคำถาม คือ ทำไมระบุบทลงโทษต่อจีเอ็มโอที่ลักลอบปลูก มีช่องทางกฎหมายให้มีการเรียกร้องสินไหมทดแทนได้ แต่กลับไม่มีบทลงโทษหรือช่องทางให้เรียกร้องสินไหมทดแทน ต่อพืชจีเอ็มโอที่ผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการ เรื่องนี้ถือเป็นช่องโหว่สำคัญ ในกรณีที่พืชจีเอ็มโอหลุดออกสู่ภายนอกแล้ว ความรับผิดชอบมีการกำหนดไว้เพียงว่า ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของไปตามเก็บ ทำลาย กำจัด เหล่านั้น ไม่ได้ให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม บทลงโทษก็ยังอยู่ในระดับอัตราโทษที่ต่ำ คือ จำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท ขณะที่ผลกระทบการปนเปื้อนที่เคยเกิดขึ้นจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของประเทศสหรัฐ นั้นมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” บัณฑูร กล่าว

ด้านกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุผ่านแถลงการณ์ โดยเสนอให้รัฐบาลยืนยันมติ ครม.เดิมที่ห้ามการปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดที่จะนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์ รวมถึงพิจารณายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหารจีเอ็มโอในทันที เพื่อรับประกันสิทธิในการกำหนดวิถีการทำเกษตรกรรม และสิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ

วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุผ่านแถลงการณ์ด้วยว่า รัฐควรเปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ ว่าด้วยการรับผิดและชดเชยความเสียหายมาเป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎหมาย และให้นำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์ขึ้น