posttoday

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม

02 กันยายน 2558

เบื้องหลัง"หนังสืออนุสรณ์งานศพ"ที่หายาก ราคาแพง ทว่าอ่านสนุก แถมได้ความรู้มหาศาล

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจาอภิชนรจเรข

คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่า "หนังสืออนุสรณ์งานศพ" เป็นเพียงแค่ของชำร่วยที่แจกจ่ายให้แก่แขกเหรื่อที่มาร่วมงานฌาปนกิจศพ เพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์

แต่สำหรับนักอ่านตัวยง เป็นที่รู้กันว่าหนังสืองานศพนั้นทรงคุณค่ายิ่ง บางเล่มอ่านสนุกจนวางไม่ลง บางเล่มอัดแน่นด้วยความรู้ทางวิชาการอย่างมหาศาลมิอาจประเมินค่าได้

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม

"หนังสืออนุสรณ์งานศพ" สำคัญไฉน?

'หนังสืออนุสรณ์งานศพ' ที่เรียกติดปากกันว่า 'หนังสือที่ระลึกงานศพ' หรือ 'หนังสืองานศพ' เล่มแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2423 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งให้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) โดยมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียง ต่อมาจึงยึดถือเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีความรู้ นิยมนำงานนิพนธ์ วรรณคดี และบทสวดมนต์มาพิมพ์แจกในงานพระราชพิธี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมจัดทำหนังสืออนุสรณ์งานศพ เนื่องจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนับสนุนให้ประชาชนคนทั่วไปพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานศพของบุคคลที่นับถือ กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื้อหาของหนังสืองานศพก็เริ่มมีความหลากหลายขึ้น ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ตำราเรียน ศาสนา กฎหมาย วรรณกรรม จนถึงเบ็ดเตล็ด

ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพ เป็นสิ่งแสดงถึงฐานะ ตัวตน ค่านิยม รวมถึงโลกทัศน์ เนื้อหาหลักเน้นไปที่การนำเสนอประวัติและผลงานของผู้วายชนม์ รวมทั้งคำไว้อาลัยจากญาติสนิทมิตรสหาย  ทั้งยังถือเป็นการบันทึกสังคมในรูปแบบหนึ่ง เพราะสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ณ เวลานั้น

"รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รวมถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นบุคคลที่ตระหนักเห็นความสำคัญของหนังสืองานศพ จึงได้มีการรวบรวมที่หอสมุดแห่งชาติ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ รู้แต่ว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ตาย ส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงคุณค่าทางสังคม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ หนังสืออนุสรณ์งานศพประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ประวัติและผลงานผู้ตาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด บ่งบอกเชื้อสายที่สืบตระกูลกันมาก อีกส่วนคือ เนื้อหา อาจเป็นเรื่องราวพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณกรรม ซึ่งมีความหลายหลาย ขึ้นอยู่กับครอบครัวผู้ตายหรือหน่วยราชการว่าจะจัดพิมพ์แบบไหน เนื้อหาอ่านสนุก มีหลากหลายรสชาติ อ่านแล้วหูตาสว่างขึ้น เหมาะสำหรับคนที่อยากหาความรู้ บางทีความรู้ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน กลับหาได้จากงานศพเท่านั้น งานศพเป็นประเพณีสุดท้ายเกี่ยวข้องชีวิต เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตาย ขณะเดียวกันก็เสริมเกียรติให้ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม ศรีศักร วัลลิโภดม

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ มองว่า มีเพียงประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้นที่พิมพ์หนังสือแจกเป็นสาธารณกุศล

"ไม่มีประเทศไหนพิมพ์หนังสืองานศพแจกหรอกครับ ทั้งอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เขาพิมพ์หนังสือเพื่อขาย พูดง่ายๆคือถ้าเป็นคนดังก็ขายเป็นอัตชีวประวัติไปเลย แต่บ้านเราพิมพ์แจกจนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเสน่ห์ที่ประเทศอื่นไม่มี มีอยู่ช่วงนึงราวปี 2510-2520 ใครตายก็มักพิมพ์กฎแห่งกรรมของท.เลียงพิบูลย์ เจ้าพระยาตายเจ้าคุณตายก็พิมพ์กฎแห่งกรรมจนแทบจะครองตลาดหนังสืองานศพ ที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นบทสวดมนต์ คาถาชินบัญชร ไม่ว่ายังไงก็นับว่ามีประโยชน์ต่อคนอ่าน ผู้ที่จากไปก็ได้กุศลจากตรงนี้"

จากเมรุถึงร้านหนังสือ

เพราะเก่าแก่หายาก ทรงคุณค่า และมีราคาสูง ส่งผลให้หนังสืองานศพกลายเป็นความต้องการของตลาด นักอ่านจำนวนไม่น้อยต่างเสาะแสวงหามาไว้ในตู้เพื่อสะสมประดับบารมี ธุรกิจซื้อขายหนังสืองานศพจึงอุบัติขึ้น ไม่เว้นแม้แต่หัวขโมย!

จากคำบอกเล่าของเจ้าของเว็บไซต์ซื้อขายหนังสือเก่ารายหนึ่งระบุว่า ในแวดวงหนังสืองานศพจะมีขบวนการจัดหาสินค้ามาป้อนตลอดอยู่เสมอ คนกลุ่มนี้จะคอยเงี่ยหูฟังข่าวว่ามีงานศพที่ไหน เมื่อไหร่ ยิ่งเป็นงานศพคนดัง คนใหญ่คนโต จะส่งคนแต่งตัวดีเข้าไปร่วมงานศพด้วยเลย ขณะที่ร้านขายหนังสือมือสองก็ถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งหนังสืองานศพ แต่เป็นที่รู้กันว่าหนังสือประเภทนี้จะไม่วางหน้าร้าน ใครอยากได้เล่มไหนต้องสอบถามเจ้าของร้านเป็นการเฉพาะ เพราะราคาแพงและดูแลรักษายาก ที่สำคัญป้องกันหัวขโมย ถึงขั้นห้องสมุดบางแห่งต้องจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา

"พวกนี้บางทีเตรียมชุดสูท ชุดราชประแตนไว้เลย  ถึงเวลามีงานก็เดินไปรับหนังสืองานศพถึงหน้าเมรุ หนังสืองานศพทั่วไปก็เอาเล่มเดียว หนังสือดีๆคนดังๆก็จะเอาไปซ่อนตามห้องน้ำ หรือมุมใดมุมหนึ่งของวัด แล้วค่อยเวียนไปรับอีกรอบ ได้มาเสร็จก็ขายเล่มละร้อยสองร้อย บางทีได้มา 10 เล่มก็ขายเหมา 500 บาทขาดตัว หนังสืองานศพบุคคลสำคัญ คนดังจะไม่แจกมั่วซั่ว ญาติจะใช้วิธีแจกเป็นการ์ดที่มีหมายเลขแล้วค่อยไปรับหนังสือทีหลัง ถ้าเป็นหนังสืองานศพคนทั่วไป 7 วันเผาก็จะเป็นพวกหนังสือสวดมนต์เยอะ แต่ถ้าเป็นผู้มีอันจะกิน หรือรอพระราชทานเพลิงศพ จะเก็บไว้ 100 วัน แบบนี้มีเงิน มีเวลาในการจัดทำ ส่วนใหญ่จะพิมพ์หนังสือปกแข็งอย่างดี น่าเก็บสะสม เช่น หนังสืองานศพของนักการเมืองคนสำคัญอย่างประมาณ อดิเรกสาร ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือศิลปินแห่งชาติอย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นี่ก็เป็นที่ต้องการของนักสะสมมาก

อีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้หนังสืองานศพเก่าแก่หายากหลุดออกมาคือ เวลาที่เจ้าของบ้านเสียชีวิต เช่น บ้านพระยา บ้านท่านขุน ลูกหลานแบ่งมรดกก็มักแบ่งกันเฉพาะเงินสด เครื่องประดับเพชรนิลจินดา พระเครื่อง กระเบื้องชามจานไห ที่ดิน หนังสือเก่าๆในตู้ก็ขายให้ซาเล้งหมด ซาเล้งก็เอามาแบกะดินขายถูกๆ"

หนังสืองานศพที่ถูกนำมาขายวันแรกๆแค่ราคาไม่กี่ร้อย อาจกระโดดขึ้นไปถึงหลักพันภายในไม่กี่สัปดาห์ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ บางเล่มมีราคาสูงถึงหลักแสนบาท

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม

เล่มโปรดในดวงใจนักสะสม

ณ บ้านทาวน์โฮม 3 ชั้น ย่านงามวงศ์วาน นอกจากที่ตั้งของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ยังเป็นห้องสมุดส่วนตัวที่รวบรวมหนังสือเก่าแก่หายากมากกว่า 3 หมื่นเล่ม

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ หรือ "อ้วน ต้นฉบับ" นักสะสมหนังสือเก่าเบอร์หนึ่งของเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า สำหรับเขาแล้ว หนังสืองานที่ระลึกงานศพเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก บางเล่มอ่านเอาสนุกก็ไม่แพ้นิยาย บางเล่มใช้ศึกษาค้นคว้าเป็นความรู้ได้เทียบเท่าตำราวิชาการ

"หนังสืองานศพจะมีเนื้อหาหลัก 3 ส่วน ประกอบด้วย ประวัติ ผลงาน และคำไว้อาลัย ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก ทำให้เรารู้ประวัติความเป็นมาของผู้ตาย โดยเล่าสนุกๆผ่านสายตาของเพื่อนฝูงและครอบครัว บางเล่มเนื้อหาก็ขึ้นอยู่กับผู้ตาย เช่น หนังสือประวัติพระสุรนาถเสนีย์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2479 ได้สั่งเสียว่าหากเสียชีวิตให้เอาประวัติที่เขียนด้วยลายมือมาพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ หรือบางเล่มผู้เขียนก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ เช่น คุณหลวงคนหนึ่งเป็นนายอำเภออยู่จังหวัดนครพนมได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ปฏิบัติหน้าที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจอก้อนหินก้อนใหญ่ขวางถนนอยู่ ตอนนั้นดินระเบิดหายาก เขาจึงเขียนเล่าวิธีการระเบิดหินในขณะนั้นว่าได้เกณฑ์ราษฎร 200-300 คน ตัดไม้ทำฟืนแล้วสุมไฟไว้ที่ก้อนหินนาน 3 วัน 3 คืน กระทั่งหินร้อนจนแดง จึงเอาน้ำสาด ปรากฏว่าหินแตก นี่ไงเลยทำให้เรารู้ว่ามันมีวิธีระเบิดหินแบบนี้ด้ว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของหนังสืองานศพ"

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

"หนังสืองานศพส่วนใหญ่มีแต่สรรเสริญคุณงามความดี แต่บางเล่มก็มีเนื้อหาแปลกๆแหวกแนว เช่น หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระยาปฏิภาณพิเศษ (อเล็กซานเดอร์ อมาตยกุล) ปี 2513 ซึ่งเขียนประวัติตนเองและตั้งชื่อว่า “ความชั่วข้าพเจ้า” เล่าถึงความชั่วที่ตัวเองทำขณะที่มีชีวิต เช่น ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก มีเรื่องตีรันฟันแทง น้อยคนที่จะเขียนแบบนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ขณะอายุได้ 14-15 ได้ยินเสียงร่ำลือว่า อาจารย์พริ้ง วัดบางปะกอก มีชื่อเสียงด้านคงกระพัน ใครสมัครเป็นลูกศิษย์ต้องสักยันต์ ด้วยความเป็นลูกพระยาก็เกณฑ์คนใช้ที่บ้านไปสัก ท่านบันทึกไว้ว่า ผลแห่งการสักก็เป็นจริงดังว่า ไปมีเรื่องฟันแทง แต่โดนฟันแล้วไม่เข้า หลังจากนั้นทำให้เหรียญหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ดังขจรขจายไปทั่ว ปัจจุบันให้เช่ากันเหรียญละ 2 แสนบาท"

นักสะสมหนังสือรายนี้บอกว่า หนังสือที่ระลึกงานศพในดวงใจของเขา มีดังนี้

85 ปีในความทรงจำ พลโทปรีชา สิงหะ เล่มนี้ประทับใจที่สุุด มักหยิบมาโชว์ให้ทุุกคนดูเสมอ เป็นหนังสือที่ระลึกงานศพที่ลูกๆทำให้พ่อ ดีไซน์ปกทันสมัยมาก จัดอาร์ตเวิร์คสวยงาม พิมพ์สี่สีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ประกาศสำนักพระราชวัง คำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประวัติผู้เสียชีวิต คำไว้อาลัย ที่พิเศษกว่านั้นคือมีการจัดทำสารบัญ อาทิ อาหารจานโปรด แฟชั่น ทริปประทับใจการท่องเที่ยว เรื่องขำๆของพ่อ

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม 85 ปีในความทรงจำ พลโทปรีชา สิงหะ

อนุสรณ์งานศพ ทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2538 นักคิด นักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย ถือเป็นหนังสืองานศพที่ทำรูปเล่มได้น่าสนใจ ประวัติไม่เยอะ เน้นรวบรวมผลงานต่างๆที่คัดสรรมาแล้วมาเป็นภาพสี่สี ส่วนที่ชอบที่สุดคงจะเป็นคำไว้อาลัยที่มีนักการเมือง นักเขียน ดารา ศิลปิน ลูกศิษย์ลูกหามาเขียนให้ แต่ละเรื่องล้วนน่าประทับใจทั้งสิ้น

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม อนุสรณ์งานศพ ทวีป วรดิลก

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เป็นบุคคลสำคัญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช และเป็นพระบิดาเป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เล่มนี้พิมพ์ในปีพ.ศ.2496 ยุคนั้นทำหนังสือได้แบบนี้ถือว่าดีมาก เนื้อหาภายในนำ พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาพิมพ์แจก 

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ

เรื่องของเจ้าพระยามหิธร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร ไกรเลิศ (ลออ ไกรฤกษ์) จุดเด่นคือ มีการเขียนประวัติด้วยตัวเอง ขนาด 300 หน้า มีรูปแทรก ถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม เรื่องของเจ้าพระยามหิธร

อัตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เขียนได้สนุก เพลิดเพลิน และน่าสนใจจนต้องขอลิขสิทธิ์มาพิมพ์ซ้ำ โดยนำมาจัดรูปเล่มใหม่ แทรกด้วยรูปประกอบบุคคลและสถานที่ที่กล่าวถึง

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม อัตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

หนังสืออนุสรณ์งานศพในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ถือเป็นหนังสืองานศพเล่มแรกในเมืองไทยเมืองไทย หนา 300 หน้า นำบทสวดมนต์หลวงมาบรรจุภายในเล่ม เล่มนี้ถือเป็นหนังสือเก่าแก่หายากเล่มสำคัญที่นักสะสมทุกคนตัวจริงต้องมี

"หนังสือที่ระลึกงานศพ"...ขุมทรัพย์ของนักสะสม หนังสืออนุสรณ์งานศพในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)

เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันสักเล่ม บ้างถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาได้อย่างเพลิดเพลินน่าประทับใจ บ้างอัดแน่นด้วยความรู้ทางวิชาการ เหมาะแก่การค้นคว้าหาข้อมูล ตรงนี้เองที่ทำให้หนังสือที่ระลึกงานศพมีเสน่ห์ ทรงคุณค่า และน่าสะสม