posttoday

เปิดรายงานฉบับเต็มสั่งถอดยศทักษิณ

13 สิงหาคม 2558

รายละเอียดรายงานผลการติดตามการพิจารณาถอดยศกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รมว.ยุติธรรม ส่งถึงนายกฯ

รายละเอียดรายงานผลการติดตามการพิจารณาถอดยศกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รมว.ยุติธรรม ส่งถึงนายกฯ

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  รมว.ยุติธรรม ได้ส่งรายงานผลการติดตามการพิจารณาถอดยศกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ถึง พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

หนังสือเลขที่ ยธ/0101/5000 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 255

เรื่องรายงานผลการติดตามการพิจารณาถอดยศกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงยุติธรรมติดตามการพิจารณาเกี่ยวกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมดว่าการดำเนินการ ที่ผ่านมีข้อติดขัดในส่วนใดบ้าง รวมทั้งชี้แจงข้อขัดข้องต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า นั้น

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 กระผมได้จัดให้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เข้าร่วมการประชุม ปรากฏผลการประชุมดังต่อไปนี้

เมื่อปี พ.ศ. 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องการถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เนื่องจากเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 แต่เนื่องจากมีข้อท้วงติงบางประการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้หารือข้อกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีความเห็นตาม เรื่องเสร็จที่ 692/2552

สรุปความได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นผู้ตกอยู่ในข่ายที่อาจถูกถอดยศได้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 (ระเบียบถอดยศ)

ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อท้วงติงว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่บังคับใช้แก่บุคคลซึ่งพ้นจากราชการตำรวจอันเป็นการออกระเบียบเกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (พ.ร.บ.ตำรวจ) ให้อำนาจไว้ และระเบียบถอดยศมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร) มาตรา 7 (4) และมาตรา 8

จากข้อท้วงติงดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจด้านกฎหมายและระเบียบ (อ.ก.ตร. เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ) ได้มีการประชุมครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ได้มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อท้วงติงดังกล่าว แต่เพื่อความรอบคอบจึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับการออกระเบียบว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีได้มีความเห็นตอบข้อหารือตามเรื่องเสร็จที่ 575/2554

สรุปความได้ว่าการออกระเบียบถอดยศ สามารถออกระเบียบครอบคลุมบุคคลภายนอกได้ คือผู้มียศตำรวจทุกกรณี ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

ในการประชุมผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าปี พ.ศ. 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาในเรื่องนี้ไว้เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการ และต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นว่ากรณีนี้แม้จะเข้าตามระเบียบถอดยศ ข้อ 1 (2) แล้ว แต่เห็นว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นเรื่องที่ไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะตำรวจเพราะเป็นกรณีที่ดำเนินการไปตามกฎเกณฑ์ของทางราชการ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณฯ ยังได้เคยทำประโยชน์อย่างมากต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นควรไม่ดำเนินการถอดยศ

ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีผู้ร้องเรียนการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถอดยศต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ว่ากรณีนี้ไม่ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหยิบยกกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ตกอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบถอดยศข้อ 1 (6) หรือไม่

ในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจโดยมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาประเด็นตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความเห็น โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ว่า กรณี พ.ต.ท.ทักษิณฯ ต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไป มีเหตุถอดยศตามระเบียบถอดยศ ข้อ 1 (6) และเสนอความเห็นดังกล่าวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าควรดำเนินการถอดยศ แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่ายังมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการนำระเบียบถอดยศไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับข้อหารือว่าไม่อาจตอบข้อหารือนี้ได้เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำข้อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแล้ว

ข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 11 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นมาตรา 28 การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547

ข้อ.1การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจและที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม

2.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

3.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต

4.กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

5.ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

6.ผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานรัฐ

7.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา

กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบาย หรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 8 ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ตามมาตรา 7(4) ถ้ายังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จะนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดไม่ได้ เว้นแต่ผู้นั้นจะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารนั้นตามความเป็นจริงมาก่อนแล้วเป็นเวลาพอสมควร

ประเด็นอภิปรายในการประชุม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นว่ากรณีพันตำรวจโททักษิณฯ เข้าข่ายอาจถูกถอดยศตามระเบียบถอดยศ และเห็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าระเบียบถอดยศเป็นการออกระเบียบที่ไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้และสามารถใช้บังคับกับบุคคลซึ่งพ้นจากราชการตำรวจได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของระเบียบถอดยศว่าเป็นระเบียบที่ต้องประกาศราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 (4) และมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารหรือไม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการตอบข้อหารือจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่ที่ผ่านมานับแต่การใช้ระเบียบถอดยศสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการถอดยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรจำนวน 100 ราย และชั้นประทวนจำนวน 532 รายไปแล้ว

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่ได้มีความเห็นว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่ใช้กับเอกชนทั่วไปตามมาตรา 7 (4) หรือไม่ แต่ในความเห็นเรื่องเสร็จที่ 675/2554 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นไปในทำนองว่าระเบียบถอดยศเป็นการกำหนดกระบวนการที่ใช้ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นได้ว่าระเบียบถอดยศมิได้มีผลบังคับแก่เอกชนทั่วไป อีกทั้งการถอดยศเป็นเรื่องของการใช้บังคับแก่บุคคลที่ได้ยศตำรวจซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในราชการตำรวจ จึงมิต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เห็นว่าหากตีความอย่างกว้างอาจถือได้ว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่ใช้แก่เอกชนทั่วไป เพราะใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งมิได้มีสถานะเป็นตำรวจด้วยซึ่งต้องประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่ผู้ที่มีอำนาจให้ความเห็นในเรื่องนี้คือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการอาจให้ความเห็นได้ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้ระเบียบถอดยศในการดำเนินการถอดยศตำรวจมาเป็นจำนวนมากแล้วเมื่อมีกรณีที่อาจถอดยศได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ข้อเสนอ         

กระผมและผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว มีข้อเสนอร่วมกันโดยสรุปดังนี้

เห็นสมควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการถอดยศพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ. 2547 ด้วยเหตุผลดังนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบถอดยศ โดยใช้อำนาจภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และสามารถใช้บังคับได้ทั้งกับข้าราชการตำรวจและ ผู้ที่พ้นจากราชการตำรวจแล้ว ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ ปี พ.ศ. 2554

ระเบียบถอดยศ เป็นระเบียบภายในซึ่งใช้ในราชการตำรวจเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลใช้บังคับกับเอกชนทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องนำระเบียบดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่อย่างใด นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินการถอดยศตามระเบียบถอดยศข้าราชการตำรวจทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนแล้ว รวม 632 ราย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งได้เคยมีความเห็นเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ มีพฤติการณ์ที่สมควรถอดยศตาม ของระเบียบถอดยศ

เนื่องจากขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการว่าระเบียบถอดยศต้องประกาศราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หรือไม่

ดังนั้น ก่อนการดำเนินการถอดยศตามข้อเสนอ ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาจรอความเห็นจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการใช้ดุลพินิจก่อนพิจารณาดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควรก็ได้

หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณฯ แล้วก็ควรพิจารณาดำเนินการถอดยศบุคคลอื่นที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้วและมีเหตุจะต้องถอดยศตามระเบียบถอดยศ ไปในแนวทางเดียวกันด้วย