posttoday

"ภาษีพระ"... ระเบิดลูกใหม่ในวงการสงฆ์

28 พฤษภาคม 2558

ประเด็นร้อน "เก็บภาษีพระ"กำลังเขย่าแวดวงพุทธศาสนาเมืองไทยอีกครั้ง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

หลังเกิดกระแสข่าวสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้มีข้อเสนอให้เก็บภาษีพระที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท และวัดที่จัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ รวมทั้งเสนอให้เจ้าอาวาสมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปี

ข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดแรงต้านจากทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก บ้างมองว่าสั่นคลอน "สถานภาพของพระสงฆ์" บ้างมองว่าส่งผลกระทบต่อวัดเล็กๆในต่างจังหวัดที่ไม่ได้รายได้มากมาย ถึงขนาดที่อาจทำให้คนไม่อยากบวชเป็นพระเลยทีเดียว

จะจริงหรือเท็จ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือระเบิดลูกใหม่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง

เหยียบย่ำพุทธศาสนา?

พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์วัดป่านิวส์ว่า คำจำกัดความของแนวคิดเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท หรือวัดที่ทำกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน

"ถามว่าจะตามไปดูคณะสงฆ์ที่รับสวดกิจนิมนต์ทุกเช้าว่าญาติโยมถวายปัจจัยเท่าไรหรืออย่างไร แล้วจะไปดีแคลร์กับใคร แล้วศาสนาอื่นๆ ที่ประชาชนบริจาคด้วยความศรัทธาหรือมีการดำเนินการลักษณะเดียวกันวัตถุมงคล อาจไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นอย่างอื่น จะต้องเสียภาษีด้วยไหม วัดที่มีปัจจัยมากจนสามารถนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้นั้นมีเฉพาะในกรุงเทพฯไม่กี่แห่ง ทำไมไม่ไปดูวัดในต่างจังหวัดที่ไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ถามว่าจะไปช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูวัดเหล่านี้อย่างไร ข้อเสนอที่ว่าให้สับเปลี่ยนเจ้าอาวาสทุก 5 ปีแล้วให้ญาติโยมมีส่วนในการคัดเลือกเจ้าอาวาส ถามว่าคนที่มาปฏิรูปศาสนาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วทำไมถึงให้เจ้าอาวาสมาจากการคัดเลือกของประชาชน นี่เท่ากับว่ามองแค่วัดในกรุงเทพฯไม่กี่แห่งว่าเป็นปัญหาแล้วนำมาโจมตีพระพุทธศาสนาในภาพรวม ทั้งที่พระทั่วประเทศมีไม่มาก วัดในต่างจังหวัดขาดแคลนพระ แทบจะหาพระมาจำพรรษาไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วจะมาสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามข้อเสนอได้ยังไง"

พระเมธีธรรมาจารย์ยืนยันว่า สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ทำอยู่ ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการเหยียบย่ำพระพุทธศาสนา

"อยากถามว่าเพราะเหตุใดถึงเลือกปฏิบัติแต่กับศาสนาพุทธ ทั้งที่บอกว่าทั้ง 6 ศาสนาในประเทศไทยเท่าเทียมกัน แต่วันนี้พุทธศาสนากลับถูกจาบจ้วงก้าวล่วงอยู่ศาสนาเดียว"

"ภาษีพระ"... ระเบิดลูกใหม่ในวงการสงฆ์ พระเมธีธรรมาจารย์

เก็บภาษีเพื่อเอาเงินวัดรวย ช่วยวัดจน

ที่ผ่านมา ข่าวการแย่งชิงมรดกมูลค่ากว่า 5 พันล้านระหว่างกรรมการวัดและเครือญาติ หลังการมรณภาพของหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุสานทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ หรือข่าวปลวกแทะธนบัตรกองโตมูลค่ากว่า 43 ล้านบาทที่ซุกซ่อนไว้ที่วัดหลวงพ่อทันใจ อ.บ้านตาก จ.ตาก ชวนให้สงสัยว่าภิกษุสงฆ์สามารถครอบครองมีทรัพย์สินได้มากมายขนาดนั้นเชียวหรือ

ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า โดยพระธรรมวินัย นอกจากมีสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างเครื่องนุ่มห่ม อาหาร ยารักษาโรค พระสงฆ์ไม่สามารถสะสมทรัพย์สินเงินทองของมีค่าได้

สิ่งที่ได้มาระหว่างการเป็นพระภิกษุ เมื่อมรณภาพแล้วทรัพย์สินทั้งหมดนั้นจะต้องตกเป็นของวัดทันที ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก มาตรา 1623 ที่ระบุว่า"ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม"

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว มองว่า ถ้าพระไม่เก็บสะสม ความคิดเรื่องเก็บภาษีพระก็คงไม่เกิด

"มรดกพระไม่ควรมี เป็นความโง่ขององค์นั้นเองที่บวชแล้วสะสมมรดก ก่อนบวชพระพุทธเจ้ารวยมหาศาล พอบวชแล้วก็สละทิ้งหมด อาศัยอยู่ใต้โคนต้นไม้ ไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย ทำไมไม่เดินตามรอยพระองค์ จะสะสมทำไม ทำให้ลูกหลานญาติโยมทะเลาะกันเปล่าๆ แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีพระเกิดขึ้นจากความเสื่อมของพระเอง เป็นการเรียกแขกของพระเอง ถ้าพระทุกองค์บวชเข้ามาแล้วผู้คนรู้กันว่าไม่มีครอบครองเงิน มนุษย์หน้าไหนจะมาเก็บภาษีพระ แต่นี่พอมรณภาพพบว่ามีสิบล้าน พันล้าน จะไม่ให้เขาเก็บได้ยังไง ก็ตัวเองไปเรียกแขกเอง ถ้าทำตามพระพุทธเจ้าสอน ก็ไม่ต้องมานั่งกลัว ไม่ต้องมาเดินขบวนต่อต้านอะไรทั้งนั้น"

พระพยอม เห็นด้วยกับแนวคิดการเก็บภาษีพระ โดยเน้นเฉพาะวัดที่ร่ำรวยจากกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ มิใช่วัดเล็กๆยากจนในชนบท

"ต้องบอกว่าไม่ได้เก็บภาษีพระทุกองค์ ถ้าบริจาคสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาลเหมือนหลวงพ่อคูณ (ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา) หรืออย่างพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เวลามีโยมมาถวายปัจจัย ท่านก็จะพิจารณาว่ามีมูลนิธิใด องค์กรการกุศลใดที่ทำคุณูปการแก่ประเทศชาติ ท่านก็จะให้เลขาไปถวาย แบบนี้ก็ไม่ต้องไปเก็บภาษีท่านหรอก แค่เอาใบอนุโมทนาเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อสำแดงต่อสรรพากรว่าได้ทำประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว แต่วัดใดที่มีรายได้ชัวร์ๆ วัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีการปลุกเสกวัตถุมงคลทุกปี มีเงินเก็บสะสมไว้มากมายโดยไม่สร้างคุณประโยชน์ จนเป็นข่าวขัดผลประโยชน์กัน เช่น วัดหลวงพ่อโสธร แบบนี้ก็ควรเก็บภาษี เพื่อนำไปช่วยเหลือวัดอื่นๆในต่างจังหวัด ซึ่งหลายแห่งไม่มีเงินพอจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วยซ้ำ ศพก็ไม่มีไปสวด งานกิจนิมนต์ก็ไม่ค่อยมี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่มี ปลุกเสกก็ไม่เป็น"

เหนืออื่นใด การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด ถือเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง

"แต่คงยาก พวกนี้ไม่ยอมให้ตรวจหรอก ไปบี้มากเดี๋ยวพากันเดินขบวนหาว่าแทรกแซงพระอีก เคยมีนักข่าวมาเล่าให้ฟังว่าไปขอตรวจบัญชีวัดดังๆ 10 แห่ง ทั้งเจ้าอาวาสทั้งกรรมการวัดปฏิเสธเสียงแข็ง ไอ้ที่ตรวจสอบไม่ได้เพราะของใครๆก็หวง ดันอยากเป็นเสี่ย เป็นปุถุชน ถ้าเป็นพระผู้สละแล้วมันก็จบ สำหรับวัดสวนแก้ว อาตมาให้ตรวจสอบอย่างเปิดเผยเลย อย่างบัญชีส่วนตัวมีเงินเหลือ 500 บาท เพราะถ้าครบ 5แสนเมื่อไหร่ ก็จะบริจาคให้ทุนการศึกษาเด็กหมด บัญชีของวัดสวนแก้วตอนนี้มี 2 ล้านบาท แต่หากสร้างสิ่งปลูกสร้างเสร็จในปีหน้าก็จะเหลืออยู่นิดเดียว ส่วนมูลนิธิวัดสวนแก้วที่มีต้องเลี้ยงดูคน 1,400 คน จำเป็นต้องเปิดเป็นรูปแบบบริษัทเพราะต้องมีเงินหมุนเวียน ตอนนี้มีอยู่ 20 ล้าน เดือนหน้าต้องจ่ายค่าที่ดิน 10 ล้าน ก็เหลืออีก 10 ล้านไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆให้แก่คนทำงาน ไหนจะต้องเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน ทั้งหมดที่พูดมาก็แค่อยากบอกว่าสงสัยอะไรให้มาตรวจสอบได้ ทองแท้มันต้องทนต่อการพิสูจน์ แล้วทำไมวัดอื่นมันไม่กล้าให้ตรวจ"

สุดท้าย กรณีสับเปลี่ยนเจ้าอาวาสทุก 5 ปีนั้น พระพยอมยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหลายวัด โดยเฉพาะวัดในต่างจังหวัดมีความผูกพันกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง ไม่มีตัวตายตัวแทนที่จะมาเทียบเทียมได้ แต่หากเจ้าอาวาสรูปใดรูปหนึ่งมีปัญหาก็สามารถเปลี่ยนได้ทันทีไม่ขัดข้อง

"ภาษีพระ"... ระเบิดลูกใหม่ในวงการสงฆ์ พระพยอม กัลยาโณ

"ปัจจัย"ไม่ถือเป็นรายได้

ธนพล สุขมั่นธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี อธิบายว่า รายได้ที่จะต้องมาเสียภาษี โดยปกติแล้ว หากเป็นบุคคลธรรมดาก็จะเสียภาษีจากรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่สำหรับพระภิกษุ เงินได้ที่ได้รับมาไม่ได้ทำมาหากินโดยการไปให้บริการหรือซื้อขายสินค้า แต่ได้จากการทำบุญตามที่ญาติโยมอนุโมทนาถวายให้เป็นปัจจัย เงินเหล่านี้ตามกฎหมายถือเป็น “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา...ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี” ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากญาติโยมอนุโมทนาถวายเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา

"เราต้องแยกให้ออกว่าเงินที่ได้มาจากการถวายของญาติโยมไม่เข้าข่ายของการเป็นรายได้ แต่หากหลวงพ่อ หลวงพี่ นำเงินที่ญาติโยมนำมาถวายไปทำประโยชน์อื่นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ ดอกผลงอกเงย ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษีตามกฎหมาย เช่น การนำเงินที่ได้มาไปฝากธนาคาร และได้รับดอกเบี้ย หรือเอาไปทำธุรกิจค้าขายแล้วเกิดมีกำไร มีรายได้ ประเด็นนี้ก็ต้องเสียภาษี"

สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ กล่าวว่า แนวคิดการเก็บภาษีพระไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

"ไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีพระคืออะไร ถ้าเพื่อควบคุมพระที่มีรายได้ ก็ต้องถามต่อว่าเอาข้อมูลมาจากไหนว่าพระมีเงินเยอะ คำจำกัดความของวัดที่ร่ำรวยคืออะไร ที่สำคัญการเก็บภาษีพระจะมีวิธีการอย่างไร เพราะเงินจากการทำบุญมี 2 ประเภท ทำบุญกับพระ และ ทำบุญกับวัด แบบนี้จะมีการแยกแยะอย่างไร นอกจากนี้ที่บอกว่าจะไม่เก็บพระที่นำเงินที่ได้มาไปทำคุณประโยชน์ ถามว่าเอาอะไรไปตัดสินว่าอย่างไหนทำประโยชน์ หรือไม่ทำประโยชน์ สำหรับการออกใบอนุโมทนาเพื่อเป็นหลักฐานสำแดงต่อสรรพากร นอกจากจะยุ่งยากแล้ว ยังอาจเป็นช่องทางให้พระไม่ดีใช้นำไปใช้ในทางมิชอบด้วย ผมมองว่าเหตุเกิดตรงไหนก็ควรแก้ตรงนั้น ควบคุมตรงนั้น ไม่ใช่เอาปัญหาของพระส่วนน้อยมาบังคับพระอีกจำนวนมาก พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย"

ไม่เก็บภาษีแต่บัญชีทรัพย์สินต้องโปร่งใส

ถึงนาทีนี้ ข่าวลือต่างๆนานาที่สะพัดไปอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่งก็พลันสงบลง

เมื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธ ศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวว่า แนวคิดเก็บภาษีพระไม่ใช่มติของสปช. เป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกบางคนเท่านั้น

"ถ้าให้มีการเก็บภาษีพระ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้พระไปทำธุรกิจและแสวงหากำไร เพื่อนำเงินไปเสียภาษี ตรงนี้จะขัดกับพระธรรมวินัยที่ไม่ให้พระมุ่งแสวงหากำไร  ส่วนเรื่องกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของเจ้าอาวาสควร อยู่ที่ 5 ปีนั้น คณะกรรมการฯก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าพระควรต้องอยู่กับชุมชน และร่วมพัฒนาพื้นที่กับชาวบ้าน ส่วนเรื่องบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีเรื่องอาบัติและการปาราชิกควบคุมอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าการจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัดต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

"เรื่องการตรวจสอบรายได้ของวัดต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจลงบัญชี โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบ และส่งไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในลักษณะเหมือนมูลนิธิ-สมาคม โดยเริ่มจากพระสังฆาธิการ ตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสทั้งหมด ในฐานะสงฆ์ฝ่ายปกครอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุที่เหลือกว่า 3 แสนกว่าคนให้ปฏิบัติตาม"

แม้จะถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก ทว่าแนวคิดเรื่องการเก็บภาษีพระก็ถือว่าจุดประกายให้สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินและที่มาของเงินบริจาคว่า ควรจะมีการบริหารจัดการให้โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญต้องไม่ผิดพระธรรมวินัยจนพาลให้พุทธศาสนาต้องแปดเปื้อนมัวหมอง