posttoday

ชำแหละ 8 วิธี "ฟอกเงินร้อน"

25 มกราคม 2558

แก๊งอาชญากรใช้วิธียักยอกอยู่ 8 วิธีการตบตาเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่จะใช้นอมินีเปิดบัญชีบังหน้า

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ขบวนการฟอกเงินพลิกแพลงแยบยลมากขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่จะเอื้ออำนวยให้แก๊งมิจฉาชีพลงมือปฏิบัติการเสกเงินเข้ากระเป๋าด้วยวิธีไหนให้เนียนที่สุด

คดีการได้ทรัพย์สินมาอันมิชอบของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการฟอกเงินนับพันล้านบาท แปรเปลี่ยนเป็นที่ดิน รถยนต์หรู สกุลเงินต่างชาติ แม้แต่วัตถุโบราณมูลค่าแพง

คดีมหากาพย์โกงเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ผู้ต้องหายักยอกอยู่ร่วม 3 ปี กว่า 1,600 ล้านบาท ก็ดำเนินการในลักษณะคล้ายๆ กัน ทั้งนำเงินไปทำหมู่บ้านจัดสรร ซื้อขายที่ดิน ทองคำ รถยนต์หรู ก่อนจะขายทอดตลาดในราคาขาดทุน และนำเงินร้อนมาแปลงรูปให้บริสุทธิ์

วิธีการเหล่านี้มักใช้กันในวงการค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน หรือเงินร้อนทุกประเภท

“โพสต์ทูเดย์” ชำแหละรูปแบบของการฟอกเงินที่อาชญากรนำมาใช้ตบตาเจ้าหน้าที่ 8 วิธีการ มาเปิดให้เห็นกัน ดังนี้

1.การฟอกเงินโดยใช้ชื่อบุคคลที่คุ้นเคยและว่าจ้างบุคคลอื่นเปิดบัญชี

วิธีการนี้ว่าจ้างให้คนรู้จักหรือเพื่อนสนิท เปิดบัญชีธนาคารสำหรับการโอนเงิน โดยมีการทำบัตรเอทีเอ็มไว้พร้อม ซึ่งวิธีการนี้มักจะพบในคดีค้าเสพติดหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีการครอบครองบัตรเอทีเอ็มจำนวนหลาย 10 ใบ และสมุดบัญชีจำนวนมาก เจ้าของบัญชีที่ถูกจับได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนสนิทหรือคนใกล้ตัวผู้ต้องหาที่มีความไว้วางใจกัน เพื่อง่ายต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน

2.การฟอกเงินโดยใช้เครือญาติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ร่วมกับใช้บุคคลอื่นเพื่อโยกย้ายทรัพย์สินให้เกิดความซับซ้อนโดยเจ้าตัวไม่รู้

วิธีการฟอกเงินลักษณะนี้จะมีการซื้อทรัพย์สินให้เครือญาติถือครองแทน เช่น เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ เปิดบ้านเช่าเป็นบ่อนการพนัน การซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขบวนการนี้ใส่ชื่อผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ขณะซื้อทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อป้องกันการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ

3.การฟอกเงินโดยใช้เครือญาติก่ออาชญากรรมแทน แต่บริหารเงินสกปรกในบัญชีชื่อตัวเอง

ขบวนการนี้มักพบการกระทำผิดในคดีค้ายาเสพติด ใช้วิธีการไม่จำหน่ายเองหรือทำด้วยตัวเอง  แต่ใช้เครือญาติ และคนใกล้ชิดดำเนินการแทน เช่น สามี ภรรยา พี่น้อง แล้วนำเงินที่ได้ไปฝากไว้ในบัญชีตัวเองทุกเดือน

4.การฟอกเงินโดยใช้ตัวกลางส่งเงินในระหว่างเครือข่าย

ตัวอย่างเช่น สามีฝรั่งของหญิงชาวไทย ใช้ภรรยาชาวไทยเป็นตัวกลางในการส่งเงินให้กับกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดข้ามจังหวัด เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ และหลีกเลี่ยงการจับกุมยึดทรัพย์

5.การฟอกเงินผ่านโพยก๊วนและใช้ข้อมูลเท็จเพื่อปิดปังอำพราง

การฟอกเงินลักษณะนี้ ตัวอย่างคือ กรณีหญิงไทยจัดหาล่อลวงบุคคลไปค้าประเวณีในต่างประเทศ  โดยเก็บซ่อนทรัพย์สินที่ได้ทั้งหมดไว้ในบ้านที่เมืองไทยเป็นสกุลเงินต่างๆ  ทั้งนี้ผู้ต้องหาจะนำเงินผิดกฎหมายออกจากประเทศที่ผู้ต้องหาจัดหาหญิงไทยไปขายบริการ จากนั้นจะถือเงินกลับเข้าประเทศไทยบางส่วน

ที่เหลือจะส่งผ่านเครือข่ายโพยก๊วน หรือใช้ให้คนไทยที่ทำธุรกิจในประเทศนั้นโอนเข้าบัญชีในเมืองไทยที่เปิดไว้ จากนั้นก็โอนเข้าบัญชีญาติพี่น้อง ก่อนจะโอนกลับเข้าบัญชีตัวเองอีกทอด

6.การฟอกเงินโดยการซื้ออสังหาริมทรัพย์และโอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลใกล้ชิด

ผู้ต้องหาที่ได้เงินจากการทำผิดกฎหมายจะนำไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าคอนโดมิเนียม บ้าน ตึกแถว โดยใช้เงินจากหลายๆ บัญชีในการซื้อ จากนั้นอาจโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกหรือเครือข่ายเป็นผู้ถือครองทั้งที่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินและทรัพย์สินได้มากขนาดนั้น

7.การฟอกเงินโดยจัดตั้งบริษัทบังหน้า

ขบวนการฟอกเงินนิยมใช้วิธีการนี้กันมาก   เนื่องจากต้องการนำเงินที่ฟอกได้ไปลงทุนต่อ แต่เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องการหวังผลกำไรเป็นหลัก

8.การฟอกเงินโดยปกปิดเก็บซ่อนด้วยวิธีดั้งเดิม

รูปแบบการฟอกเงินในลักษณะนี้ไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต เนื่องจากมีช่องโหว่ให้สามารถตรวจค้นจับกุมได้ง่าย เสี่่ยงต่อการถูกจับกุม และเสียเวลาในการจัดหาสถานซุกซ่อนทรัพย์สิน

ในกรณียักยอกเงิน สจล.นั้นเป็นหนึ่งในการยักยอกที่นำเงินไปฟอกอีกต่อ ซึ่งเริ่มจากผู้อำนวยการฝ่ายคลังที่เป็นคนรับรู้รายจ่ายของมหาวิทยาลัยแต่ละปี รู้ความเคลื่อนไหวของแต่ละบัญชี จึงสบช่องในการโยกเงินออกไปหมุน หรือนำไปลงทุนในระยะสั้น และเมื่อทราบว่ามหาวิทยาลัยจะใช้งบประมาณในบัญชีไหน ก็ค่อยหมุนเงินกลับเข้ามาใส่บัญชี

แต่เรื่องแดงขึ้นก่อน เพราะบังเอิญช่วงที่ต้องโยกเงินกลับมาใส่บัญชี ผู้อำนวยการฝ่ายคลัง ป่วยจึงโยกเงินกลับไม่ทัน จนมีการตรวจพบความผิดปกติและขยายผลไปสู่การจับกุมดังกล่าว

พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.) ผู้ทำคดี สจล. ให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่มักจะรู้ว่าการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ เข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่ เพราะมีวิธีการในการตรวจสอบ บางธุรกรรมแค่มองก็รู้ทันทีว่าเป็นการฟอกเงินหรือไม่ เช่น การซื้อรถหรูจากกลุ่มผู้ต้องหา สจล. ราคาแค่สิบล้านบาท เป็นเรื่องผิดปกติ

ดังนั้น แม้ขบวนการฟอกเงินจะใช้วิธีการซับซ้อนมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดจะพบร่องรอยความผิดปกติและอาจไม่รอดสายตาเจ้าหน้าที่