posttoday

อำนวย ปะติเส "รมต.ยาง"กับงานสุดหิน

21 ธันวาคม 2557

เมื่อผมเข้ามาจึงต้องสั่งลุยทุกอย่าง ทุ่มทุกอย่าง เดินให้สุดซอย สู้ทุกมิติ ประกาศเลยว่า ผมเป็นรัฐมนตรียาง

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ, สิทธิณี ห่วงนาค

ประเด็นร้อนของรัฐบาลเวลานี้ หนีไม่พ้นปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่กดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากชาวสวนยางประกาศหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะออกมาชุมนุมเรียกร้องถึงที่สุด

เมื่อราคาสินค้าเกษตรเริ่มตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีทุกยุคทุกสมัย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  จึงแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเพื่อรับมือม็อบยางโดยตรง หนีไม่พ้นการดึง “อำนวย ปะติเส” ขึ้นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงพญานาค ในเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ด้วยเพราะประสบการณ์การทำงานที่ไม่ธรรมดา  มีดีกรีเป็นอดีต รมช.คลัง ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย และเคยเป็นแม้กระทั่งหัวขบวนแกนนำม็อบเคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกร

“ช่วงเวลาที่ผมเข้ามา ถือว่าราคายางพาราวิกฤตสุดๆ เพราะไม่เคยลงมาถึงราคา 45 บาท เรื่องยางพาราเป็นเรื่องของความมั่นใจ ถ้าเราทำให้เสียความมั่นใจ ทุกอย่างจะฟื้นยากมาก และปัญหาที่ผ่านมาการออกนโยบายต่างๆ ถ้าผู้บริหารเดินไม่สุดซอย กั๊ก จะทำให้เสียความมั่นใจ ทุกอย่างจะชะลอหมด เมื่อผมเข้ามาจึงต้องสั่งลุยทุกอย่าง ทุ่มทุกอย่าง เดินให้สุดซอย สู้ทุกมิติ ประกาศเลยว่า ผมเป็นรัฐมนตรียาง ถ้ามีอะไรผมรับผิดชอบเอง ส่วนคนที่ไม่รับผิดชอบเท่าผมอย่ามายุ่ง ตอนนี้ผมใช้ความพยายามสุดๆ แล้ว” ประโยคแรกที่ อำนวย กล่าวกับทีมงานโพสต์ทูเดย์ ก่อนที่จะสำทับข้อมูล กางนโยบายเดินหน้าแก้ปัญหาราคายางพารา

“ท่านนายกฯ คุณชายอุ๋ย รัฐมนตรีว่าการเกษตร  บอกให้ผมลุยเต็มที่ ทำเป้าหมายให้ได้ ซึ่งผมบอกเลยว่าเป้าหมายผม ราคายางพารา 60 บาท ต้องเสร็จก่อนสิ้นปี และวันนี้น่าจะหมดคำถามเรื่องราคา 60 บาทได้แล้ว ขณะเดียวกันก็จะทำเรื่องราคาควบคู่กับการพัฒนาตลาดไปด้วย ส่วนเป้าหมายถัดไปจะเป็นการซื้อภายในประเทศ เรามีเงินตั้ง 20,000 ล้านบาท จะไปสนใจอะไร ทำได้อยู่แล้ว เชื่อมั่นเถอะว่าผมและคณะที่รับผิดชอบจะลุยทุกที่ ทุกเวลา และทุกเรื่อง

ก่อนที่จะเริ่มลงรายละเอียดในมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลเตรียมไว้ อำนวย ขอตอบคำถามที่เกษตรกรคาใจว่า ทำไมเป้าหมายราคายางพาราจึงต้องมุ่งไปที่ยางแผ่นดิบรมควัน รมช.เกษตรฯ ผู้นี้ อธิบายว่า โดยหลักทฤษฎี ยางแผ่นดิบรมควันเป็นสินค้าพิเศษของไทยที่มีที่เดียวในโลก เป็นยางที่ค้าในตลาดโตคอม (TOCOM) ถ้าราคายางแผ่นดิบรมควันขึ้น ก็จะดึงให้ยางตัวที่รองลงมา ทั้งยางแผ่นดิบ น้ำยาง ยางก้อนถ้วย และเศษยาง มีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกตัวอย่างเป็นระบบ ส่วนคำถามที่ว่า แล้วทำไมไม่รับซื้อน้ำยาง ก็เพราะถ้าซื้อน้ำยางก็ต้องเอาไปทำเป็นแผ่นดิบรมควันอีก ซึ่งองค์การสวนยาง หรือ อ.ส.ย. ในฐานะเครื่องมือรัฐบาลยังไม่สามารถที่จะไปจับตรงนี้ได้ เพราะต้องมีทั้งในส่วนของโกดัง โรงงาน

อีกคำถามที่เกษตรกรถามว่า ทำไมจึงไม่ตั้งราคายางไว้ที่ 80 บาท และส่วนต่างนำไปออกพันธบัตร อำนวย ชี้แจงว่า คนที่รู้ระบบการเงิน การคลังของประเทศ รู้ระบบโครงสร้างหลัก เขาจะไม่กล้าพูดเรื่องนี้ เพราะรู้ว่าพันธบัตรจะสามารถออกได้ในกรณีไหนบ้าง แต่ไม่อยากจะตอบโต้ บอกแค่ว่าอยากจะทำแต่ทำไม่ได้ เราบอกไปเพียงว่าอะไรที่เราทำได้เราพร้อมจะทำให้อยู่แล้ว เพราะใจเราเองก็อยากได้ราคามากเท่าที่มากได้ แต่ต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาด

กางมาตรการแก้ปัญหา

เมื่อขอชี้แจงปัญหาคาใจของเกษตรกรแล้ว  อำนวย ได้ฉายภาพรูปแบบการพัฒนาตลาดว่า เป็นการซื้อยางรูปแบบเครือข่าย ที่มาคือประเทศไทยมีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่โลกลืม ชื่อว่า พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ที่ออกมาตอนราคายางพาราตกต่ำ เพื่อวางมาตรการพัฒนาตลาดและพัฒนามาตรฐานการผลิต แล้วส่งเข้าขายในตลาดที่ได้มาตรฐาน เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล ทุกวันนี้ตลาดยางเราซื้อขายกันนอกระบบ เราก็จะต้องดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วพัฒนาขึ้นสู่มาตรฐานสากล สู้กับตลาดกระดาษ และตอนนี้ได้เปิดซื้ออยู่ประมาณ 10 ตลาด แต่กระจายเป็นเครือข่าย ถือว่าคึกคักมากและได้ใช้เงินไปประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว

มาตรการการผลักดัน “การค้ายางในประเทศ” ที่คาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2558 อำนวย ให้ภาพต่อว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสนใจมาก เพราะจะช่วยดันราคายางในปี 2558-2559 ได้ง่ายขึ้น จึงสั่งให้เร่งหามาตรการเสริมโดยผ่านโครงการต่างๆ เช่น ทำสนามฟุตซอล ด้วยยางพารา ทำทางสำหรับจักรยาน โดยให้บูรณาการกับทุกกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ จากนั้นให้หน่วยราชการเหล่านี้รวบรวมนำเสนอโครงการต่างๆ มาที่ตนเองก่อนปีใหม่นี้ เพื่อที่จะได้นำแผนงานเหล่านี้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนหลัง ม.ค. 2558 เพื่ออนุมัติโครงการ และวางแผนหาผู้ซื้อยางพาราต่อไป เนื่องจากเรามีทั้งผู้ขายและผู้ผลิตอยู่แล้ว การทำแบบนี้เหมือนเราไปตั้ง “กรมเสมือนส่งเสริมการใช้ยางแห่งชาติ”

แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามออกนโยบายเรื่องการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมาแล้ว ให้ทุกหน่วยงานรวมความต้องการมา ก็ยังมีจำนวนการใช้ที่น้อยอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง อำนวยได้ชี้แจงว่า ต้องบอกว่านี่คือคำสั่ง นี่คือนโยบายที่อยู่เหนือเหตุผล เช่น เรามีคำสั่งให้ทำโครงการนี้ หากคุณติดขัดเรื่องเงิน รัฐหาให้ เหลือแค่คุณหาคนแค่นี้มันไม่ได้เหรอ ก็ให้มันรู้ไป

“เพราะคนที่สั่งให้จับเรื่องนี้คือ รมช.เกษตรฯ นะ ไม่ใช่นายกระจอกงอกง่อยนะ เมื่อรัฐบาลที่แล้ว ผมมีตำแหน่งเป็นแค่ที่ปรึกษาไม่มีอำนาจทำอะไร แต่ตอนนี้นายกฯ เองเห็นแล้วว่าเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ แต่ไม่มีหน่วยงานที่มารับผิดชอบเรื่องนี้ เราจึงต้องหาทีมมาสนธิกำลัง แล้วรบกับมัน”

“วันนี้นอกจากเกษตรกรแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมาอัดผมอีก ตามว่าเราได้ทำอะไร ไปแล้วบ้าง ผมก็บอกไปว่าคุณต้องให้เวลาผม เพราะผมไม่ได้ว่ามาจับแล้วทำได้เลย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ใครเตรียมเครื่องจักรไว้แล้วเรามาขับได้เลย เราต้องมาสร้างกลไกอีก บอกเลยว่ากลไกดึงราคาถ้าไม่ใช่ผม ทำไม่ได้ พูดแล้วทำไม่ได้มาหลายคนแล้ว เรื่องนี้ผมไม่ยอม

...ถ้าผมสร้างกลไกได้แล้วผมจะไม่เอาชีวิตมาเสี่ยงกับคุณ เพราะฉะนั้นทุกอย่างผมต้องกำกับได้ คณะทำงานที่จะมาทำกับผม ถ้าไม่ใช่คนที่ทำจริง อย่ามาอยู่ด้วยกัน ถ้าผมตัดสินใจลุย ถ้าผิดผมรับผิด เพราะว่าสิ่งที่ผมทำมีเจตนาดี วิเคราะห์ทุกอย่างดีแล้ว แต่ถ้าจะพลาดเพราะมันโง่ ก็ช่วยไม่ได้ ต้องขออภัย เพราะทำได้แค่นี้ แต่มั่นใจได้เลยว่าผมไม่มีตุกติก เพราะถ้าจำเป็นต้องขอเงินเพิ่ม ก็ขอตรงๆ ขอชัดๆ วันนี้ผมดูแลเงินของรัฐยิ่งกว่าเงินผมอีก และผมเองก็ไม่มีพรรคพวกที่จะมาขายให้ผมแล้วเอาตังค์ไปทอนไม่มี ไอ้พวกนั้นยุคก่อนๆ ซื้อขายกันเป็นเงินต่อวัน 3,000 ล้านบาท นี่ของผมใช้เงินวันละ 50-100 ล้านบาท กระจายให้คนไปทั่ว”

อุบไต๋ มีลุ้นถึง 70 บาท

“วันนี้ผมวางเป้าบริหารราคายางพาราไว้ 65 บาท ถ้าไม่ได้ ขาดเท่าไหร่ก็เอามาให้เพราะมันมีหลักและเหตุผล แต่ถ้าจะให้ไปถึง ราคา 70 บาท เพิ่มขึ้นอีก 5 บาท ใจผมตอนนี้ได้ แต่ไม่อยากบอก เพราะจะหาว่าดีแต่พูด พูดแล้วทำไม่ได้ ผมขอทำก่อน แล้วจะเห็นเอง ทุกอย่างถ้ามีเหตุผลที่จะทำได้ก็ต้องทำ แต่อะไรก็ตามทำให้เป็นประชานิยมผมไม่เอา ไปแทรกแซงไปซื้อมาเก็บไว้เป็นภาระผมไม่เอา คติผมคือ อยากได้อะไรต้องทำเอาเอง เชื่อผมเถอะ แต่ถ้าทำแล้วมีปัญหาอุปสรรคก็จัดการมันเสีย แต่ถ้าคุณจะไปสั่งให้เขาทำอย่างเดียวมันไม่ได้ เราต้องลงมือ”

อำนวย ย้ำหลักการทำงานว่า ต้องเร่งให้งานขับเคลื่อนไปได้งาน ประชาชนจะได้มีความสุข เราเข้ามาทำงานแบบฉุกละหุก จึงไม่ได้วางแผนบริหารอะไรเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าไม่ใครทำได้เร็วขนาดนี้ การทำงานเราไม่ได้ทำงานล้วงลูก หรือทำแล้วเอาเงิน  สรุปคือ  เมื่อปีนี้เราเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางพาราแล้ว ในปีถัดไป 2558-2559 โครงการ ระบบจัดการทั้งหมดจะเกิดขึ้น

เมื่อตรรกะที่ว่าสินค้าเกษตรมักเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพรัฐบาล สำหรับ อำนวย มองว่า ทุกประเทศจะมีปัญหาสินค้าเกษตร และประเทศที่เจริญแล้วจะมีการบริหารสินค้าเกษตรที่ทันสมัย และสร้างให้คนรู้จักระบบ มีการตัดสินใจบนระบบที่ถูกต้อง ถ้าจะต้องจ่ายให้กับเกษตรกรบ้างเพื่อให้เขาอยู่ได้ ก็ต้องจ่ายอยู่ดี ประชานิยมนิดๆ ก็มีให้เห็น ครั้งนี้ที่รัฐบาลให้เกษตรกร 1,000 บาท เขาก็เรียก “ประยุทธ์นิยม” แต่ถามว่ามันมากไปหรือไม่ แต่ยืนยันได้เราไม่เน้นเอาประชานิยมจนประเทศชาติเสียหาย

“ผมคิดว่า ยางพารา คือ สินค้าทางการเมือง ถ้ากฎหมายไม่ขีดให้ระบบเดินอย่างชัดเจน การเมืองจะเข้าแทรก แล้วเรื่องที่ควรจะจบได้ มันจะไม่จบ”อำนวย กล่าว

รัฐบาลปฏิวัติ ธงชัดทำงานง่าย

การทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง และรัฐบาลที่เข้ามาในสถานการณ์พิเศษ มีผลต่อการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร หรือยางพารา อย่างไร อำนวยอธิบายว่า การบริหารงานแบบพรรคการเมืองจะไม่มีคนทำจริง เวลาก็สั้น นโยบายไม่ชัดไม่กำกับดูแล ไม่ลุย ในกระทรวงเกษตรฯจะเห็นว่า ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีมาจากหลายพรรค รัฐมนตรียางในยุคของรัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีช่วย แล้วจะมีรัฐมนตรีตัวจริงจากพรรคอื่นคนที่มาจับเรื่องยางไม่ใช่ตัวจริง เช่น อดิศร เพียงเกษ, กริช กงเพชร, พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ มาไม่นานก็ไป ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เช่นกันมาแป๊บเดียว มาซื้อขายยางแล้วก็ไป ส่วน ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร มาซื้อยางที่เขาซื้อไว้แล้วมาเข้าโกดังเท่านั้นก็จบ อีกทั้งยังมีเวลาทำงานจำกัด 3 เดือน 6 เดือน มากสุด 8 เดือนบ้าง ซึ่งมันยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม

“การทำงานบริหารด้วยความเป็นพรรคการเมือง ทำให้นึกถึงแต่เรื่องของตัวเอง ศักดิ์ศรีพรรค แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของพรรค มันคือเรื่องของการทำงานของประเทศที่นายกฯ บอกว่าต้องทำให้สำเร็จ มีเป้าหมายมาให้ ให้ธงมา เราก็ต้องทำงานตามธงที่ได้รับ และการทำงานใน ครม.วันนี้ไม่มีข้อจำกัดเลย ทำทุกอย่างได้เต็มที่ สบายมาก สบายใจด้วยเหมือนกับทำงานเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งแนวคิดก็ตรงกันคือ มีธงมาเลยว่า อย่าไปยุ่งเรื่องเงินเรื่องทองเขานะ ซึ่งผมไม่ยุ่งอยู่แล้ว และอย่าไปยุ่งเรื่องของการทำงานของข้าราชการทั้งหลายทั้งปวงผมนี่ไม่เอาเลย ตั้งใจลุยงานเต็มที่ การทำงานวันนี้มีความสุข หางานมาตั้งนานเพิ่งมาเจองานที่ถูกใจคราวนี้”

อำนวยเล่าอีกว่า แม้งานวันนี้จะเยอะก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรารักงานแบบนี้ ถึงถูกด่าบ้างแต่ก็ไม่เป็นไร การทำงานวันนี้ต้องสนธิกำลังขึ้นมา เราใช้อำนาจของรัฐมนตรีขึ้นมาทำจะใช้มากไม่ได้ แต่สามารถไล่บี้มันได้ แต่ถ้าไม่ได้ผมจะไปบอกรัฐมนตรีว่าการ บอกนายกรัฐมนตรี ตรงๆว่ามันทำไม่ได้ อำนาจผมตรงนี้คือสามารถล้วงข้อมูลได้หมด

อำนวย ปะติเส "รมต.ยาง"กับงานสุดหิน

มือรับม็อบ สู่เสนาบดีพญานาค

พลันที่ได้ก้าวเข้าไปในห้องทำงานของ อำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นกรอบรูปภาพบุคคลทางประวัติศาสตร์ ขาว-ดำ อยู่ 3 กรอบ วางเด่นเป็นสง่า ที่แฝงด้วยความขลัง นั่นคือกรอบรูปภาพของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ และเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ ซึ่งองศาการวางกรอบรูปนี้ หากเงยหน้ามองจากโต๊ะทำงานของอำนวย ก็จะประสานสายตากันพอดี

อำนวย เล่าว่า ทั้ง 3 ท่านนี้ เป็นคนที่อยู่ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีบทบาทมากสำหรับกระทรวงเกษตรฯ และเรื่องนี้ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจที่เอาไว้เตือนตัวเองในการทำงาน ว่าต้องสู้งาน ต้องทำให้ได้ ส่วนบุคคลที่ยึดถือเอาเป็นแบบอย่างคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพราะท่านเป็นผู้ที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ได้ดี กล้าตัดสินใจทุกครั้งที่เผชิญปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีอำนาจสูงสุด หรือช่วงเวลาที่ไม่มีอำนาจ เวลาตกอับ ท่านก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้จริง

รมช.เกษตรฯ ยังพาเดินไปอีกมุมหนึ่งของห้องเป็นส่วนของหิ้งพระ พร้อมกับเล่าว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เห็นในห้องนี้มีมาก แต่ไม่มีของตัวเองเลย มีแต่คนเอามาให้ ที่ประหลาดคือ คนเอาแต่หลวงปู่ทวดมาให้เยอะมาก แสดงว่าโชคเข้าข้างเราแน่

“ผมคิดเล่นๆ หลวงปู่ทวดท่านจะมาช่วยผมเรื่องยางพาราในภาคใต้แน่เลย (หัวเราะ) แต่ของศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ เวลาผมหมดวาระ หมดหน้าที่ลง เวลากลับไปคงเอาไว้ที่เดิม ไม่เอากลับไปด้วย ผมรู้ตัวเองดีว่ามาแล้วก็ต้องไป มาแต่ตัวก็ต้องกลับแต่ตัว แต่จะฝากผลงานไว้”

ที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีล็อตสุดท้ายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่มีกระแสข่าวซุบซิบกันว่าเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อม อุ๋ย รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อำนวยชี้แจงว่า “จริงๆ แล้วท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เสนอชื่อผมหลังจากเริ่มเกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำขึ้น โดยท่านปีติพงศ์บอกกับนายกฯ ว่าถ้าได้อำนวยมาช่วยก็คงจะดี จะได้มาช่วยแบ่งเบางานพวกนี้ได้ ไม่ต้องไปเรียนงาน ซึ่งนายกฯ กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็เห็นด้วย

“เหตุสำคัญที่ทำให้คนมองว่าผมเป็นเด็กหม่อมอุ๋ย คงเพราะผมจบเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับคุณชายอุ๋ยมั้ง แต่ตอนเรียนผมแพ้เขานะ เขาได้เหรียญทอง ผมได้เหรียญเงิน ยังเสียใจอยู่นิดหน่อยทำไมผมได้แค่เหรียญเงิน ผมควรจะได้เหรียญทอง และพอเรียนจบจากนั้นผมกับคุณชายอุ๋ยก็เดินคนละทาง”อำนวย เล่า

รมช.เกษตรฯ เล่าประวัติการทำงานว่า คลุกคลีกับงานด้านการเกษตรมานานแล้ว และหน้าเขาเป็นยี่ห้อสินค้าเกษตรทุกตัว ครั้งแรกที่ได้เริ่มงานช่วงปี 2511 เป็นนักเขียนข่าววิเคราะห์สถานการณ์ทางการเกษตร ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเขียนหนังสือข่าวพาณิชย์รายสัปดาห์ รวมทั้งเขียนหนังสือลงจดหมายเหตุสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยทุกสัปดาห์ ซึ่งหากินอยู่กับเรื่องสินค้าเกษตรมาตลอด

นอกจากนี้ มีโอกาสได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องน้ำตาล จากนั้นสมาคมน้ำตาลก็ให้ไปเป็นผู้จัดการสมาคมน้ำตาล และก็มาตั้งบริษัทส่งออกน้ำตาลของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ บริษัททำงานอยู่หลายปี นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษสาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารองค์การสวนยาง กรรมการ ธ.ก.ส. และองค์กรอื่นอีกหลายองค์กร รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง

เมื่อเข้าสู่เวทีการเมือง ได้สมัครเป็น สส. 2 สมัยที่ จ.มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อปี 2535 ซึ่งเวลานั้นมีความสนใจเรื่องสินค้าเกษตร หนี้เกษตรกร และคนจน จากนั้นได้เป็นเลขาฯ รมช.คลัง ของนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ต่อมาเป็นเลขาฯ รมว.คลัง ให้กับธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และเลขาฯ รมว.อุตสาหกรรม ไตรรงค์ สุวรรณคีรี สุดท้ายก็ได้มาเป็น รมช.คลัง

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลอีกรอบ ในช่วงที่มี ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ อำนวยก็ได้เป็นรองนายกฯ ฝ่ายการเมือง มีหน้าที่รับม็อบ และดูสินค้าเกษตรทั้งหมด พอยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นเลขาฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รมว.คลัง ได้ดูเรื่องประกันรายได้อีก สุดท้ายพอเป็นช่วงรัฐบาลเพื่อไทย ก็มีโอกาสเข้ามาช่วยงานอีก โดยเฉพาะยุคที่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร มาเป็น รมช.เกษตรฯ ดูเรื่องยางพารา ก็ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นที่ปรึกษาอีก ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าประวัติความเป็นมาเป็นเรื่องของเกษตรทั้งสิ้น

“เวลาที่คนเจอปัญหาสินค้าเกษตร ก็คงต้องมีภาพของผมปรากฏอยู่ พอรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มมีปัญหาเรื่อง
สินค้าเกษตร ปรากฏว่าไม่มีหน้าของใครเป็นสินค้าเกษตรเลย นั่นคงเป็นช่วงจังหวะเวลาพอดี ประกอบกับที่ผ่านมาเคยเดินหน้าเรื่องมวลชน มีความอดทน รู้เรื่องเกษตรดี เป็นคนมีพรรคพวก เคยอยู่เคยทำงานมาหลายพรรค ผู้ใหญ่คงคิดว่าเราทำงานได้”

อำนวย เล่าต่อว่า การทำงานวันนี้ได้เอาประสบการณ์จากการทำงานในอดีตที่ผ่านมามาปรับใช้ทั้งหมด การใช้เงินหลวงต้องคุ้มค่า เพราะเป็นคนกระทรวงการคลังมาก่อน ดังนั้นไม่มีทางที่จะบอกให้ซื้อแล้วเอาพวกตัวเองมาขาย เอาเข้ากระเป๋ามาเวียนอีกรอบ เราต้องสกัดคนพวกนี้

สำหรับคำปรามาสที่ว่า เข้ามาเป็น รมช.เกษตรฯ คงไม่สามารถแก้ปัญหายางพาราได้ เพราะเป็นสินค้าที่แก้ยากมาก อำนวยคลายใจให้ฟังว่า นั่นคือสิ่งที่คนตั้งโจทย์ไว้ แต่ถ้าใครติดตามจะเห็นว่าได้ทำอะไรไว้มาก

“ผมไม่ได้คิดว่าคนจะมาปรามาสผมว่าจะทำได้หรือไม่ แต่คิดถึงโอกาสมากกว่า เมื่อมีโอกาสแล้วต้องทำ ประโยคปรามาสต่างๆ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอะไรกับผม เพราะรู้ตัวเองดีว่าทำได้หรือไม่ได้ เมื่อก่อนผมเป็นอะไร ตอนนี้เป็นอะไรรู้ตัวดีอยู่ เมื่อก่อนเคยนั่ง เคยยืนอยู่บนหลังคารถ ด่าคนอื่นให้แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร ผมไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เวลานี้ต้องนึกถึงเรื่องหน้าที่ ความรับผิดชอบ ผมว่าคนสงสารและให้กำลังใจผมเยอะ เพราะเขารู้ว่าผมมาเพื่อทำงานใหญ่ ไม่ท้อถอย วิธีของผมคือการเจรจา แก้ปัญหาให้เห็น

“สุดท้ายการตั้งเป้าหมายของการทำงานครั้งนี้คือ ถ้าสามารถชวนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ข้าราชการ เข้ามาปฏิรูประบบยางได้ ผมว่ามันจบ แต่ถ้าปฏิรูปไม่จบไม่สำเร็จ ก็จะทำบันทึกสิ่งที่จะทำต่อ และหากไม่สำเร็จก็คิดว่าคงไม่กลับมาในแวดวงนี้อีก เพราะเดิมทีคิดว่าจะออกจากวงการมานานแล้ว ทั้งคิดอยากจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปทำงานสมาคมบ้าง สหกรณ์บ้าง ไม่ได้คิดว่าจะมีโอกาสมาทำการเมืองอีก แต่การเข้ามาเพราะไม่ได้
คาดหวัง เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น อาวุธที่มีเที่ยวนี้ขนออกมาใช้หมด เทหมดกระเป๋าแล้ว”