posttoday

"ผัวซ้อมเมีย"ผู้หญิงจำทน-ผู้ชายยิ่งได้ใจ?

29 กรกฎาคม 2557

หากคุณพบเห็นผู้หญิงถูกทำร้าย จะเลือกทางใด ระหว่างเข้าช่วย หรือปล่อยให้ผ่านเลยไป เพราะคำว่า"เรื่องของผัวเมีย คนอื่นไม่เกี่ยว"

โดย…อินทรชัย พาณิชกุล

ภาพถ่ายหญิงสาวใบหน้าคล้ายนางเอกชื่อดังกำลังโชว์ร่องรอยฟกช้ำดำเขียวทั่วใบหน้า แขนขา และลำตัว กำลังถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ส่งผลให้กระแสต่อต้าน"ความรุนแรงในครอบครัว"ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง "ผัวซ้อมเมีย"

จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าระหว่างปี 2550-2556 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลถึง 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย วันละ 87 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 วินาที

ตัวเลขน่าตกใจก็คือ 38 % ของผู้หญิงที่เป็นภรรยา ถูกสามีของตัวเองทำร้าย

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความหึงหวง ตามมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และยาเสพติด

" 80 % ของผู้หญิงที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ มาจากความหึงหวงผู้หญิงที่เป็นบุคคลที่สาม  ยกตัวอย่างเช่น สามีภรรยาไปทานข้าวนอกบ้าน จู่ๆมีโทรศัพท์เข้ามาเป็นเสียงผู้หญิง ภรรยาถามว่าเป็นใคร สามีเริ่มหงุดหงิด ไม่ตอบ หลังจากนั้นทั้งคู่กลับมาบ้าน แต่สามีกลับไม่ขึ้นนอน อ้างว่าจะออกไปหาเพื่อน ภรรยาจึงสงสัยซักไซ้ถามว่าจะไปหาผู้หญิงที่โทรศัพท์มาใช่ไหม สามีเลยหงุดหงิด เมื่อโดนรุกเข้าหนักๆก็โมโห กลายเป็นโต้เถียงกัน หนักเข้าก็ลงไม้ลงมือ"

เหล้าและยาเสพติด ก็อาจเป็นตัวเร่งสถานการณ์ให้ลุกลามเลวร้ายยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

"นอกจากนี้ ทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง การเลี้ยงดู และประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กก็มีส่วน บางคนมีความเชื่อผู้ชายต้องเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า "ปิตาธิปไตย" เคยคุยกับสามีที่ชอบทำร้ายทุบตีภรรยา เขาจะพูดทำนองว่า "เมียมีหน้าที่รับคำสั่ง กูสั่งยังไง มึงต้องทำตาม ห้ามเถียง มึงไม่ใช่แม่กู แม่กูยังไม่กล้าสั่งกูเลย"

บางคนเป็นลูกโทน ถูกเลี้ยงมาแบบตามใจมาตลอด ใครขัดใจไม่ได้ ต้องโมโห หากแต่งงาน นั่นหมายความว่าผัวคือเจ้านาย เมียต้องทำตาม  ขณะที่บางคน สมัยเด็กเคยถูกทุบตีประจำ เวลาทำไม่ได้ดั่งใจ จึงอาจกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบในเวลาต่อมา"

ถึงบรรทัดนี้ สุเพ็ญศรี ยกตัวอย่างกรณีศึกษารายหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ

"มีอยู่เคสนึง เวลากินเหล้าเมา ใครพูดอะไรก็ผิดหูไปหมด แต่ผิดหูเฉพาะกับลูกเมียเท่านั้น กับคนอื่นไม่ถือสา ไม่เคยเตะเพื่อน หมายังไม่เคยเตะ แต่กับลูกเมียนี่ทั้งต่อยทั้งเตะ ยิ่งกว่ากระสอบทราย"

ผู้หญิงหลายคนโดนสามีซ้อมเป็นประจำ ถึงขนาดต้องหอบเสื้อผ้าหนี ฝ่ายสามีตามง้อคืนดีจนกลับมา แต่ท้ายที่สุดก็ลงมือทำร้ายอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีทางออก

ถามว่าผู้หญิง "ใจอ่อน" ขนาดนั้นเชียวหรือ?

"ใช้คำว่า "ใจอ่อน" ไม่ได้หรอก อยากให้เปลี่ยนทัศนคติใหม่"สุเพ็ญศรีพูดเสียงดัง ก่อนเล่าต่อว่า

"มีผู้หญิงบางคนถูกซ้อมเป็นประจำแต่ก็ยังไม่เลิกกับสามี เราพบว่าเธอมีความเชื่อว่าเป็นเมียต้องอดทน แต่งงานกันแล้วยิ่งมีลูกเป็นโซ่คล้องใจก็ต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต หย่าถือเป็นบาป ส่วนเจ้าสามีตัวดีก็ล้วนพูดซ้ำๆว่า "แม่จ๋า พ่อขอโอกาส แม่จ๋า ถ้าแม่แจ้งความ ถ้าแม่จากไป ลูกจะเป็นเด็กกำพร้า” เมียที่มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่ จึงต้องก้มหน้ากัดฟันอยู่ต่อไป ภายใต้การทำร้ายตบตี"

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีคนนี้ แนะนำภรรยาทั้งหลายว่าหากถูกสามีทำร้าย จนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ 2 แนวทาง นั่นคือ แจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีตามพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 หรือยื่นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ในท้องที่ที่เกิดความรุนแรงขึ้น

"ระดับเบาๆ คือแค่ตบตี มีแผลฟกช้ำดำเขียวเล็กน้อย ไม่กี่วันก็หาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 สามารถยอมความได้ ส่วนกรณีถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม อาการสาหัส ต้องหยุดพักรักษาตัวเกินกว่า 20 วัน แขนขาหัก พิการ ตาบอด หรือถึงขั้นเอาน้ำกรดสาด ราดน้ำมันจุดไฟเผา  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แบบนี้ยอมความไม่ได้"

ทั้งนี้ หากภรรยารายใดโดนคุกคาม ไม่ว่าจะส่งเอสเอ็มเอส ไลน์ เฟซบุ๊ก ขู่ทำร้าย ขู่ฆ่า จนก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตราย ควรยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอคำสั่งห้ามให้สามีเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม การฟ้องหย่าไม่ใช่ทางเลือกทางเดียวในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

"มีหลายทางเลือก เริ่มจากแยกกันอยู่ ระหว่างนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ให้ทำเงื่อนไขข้อตกลงกัน โดยหาวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามี ไม่ว่าจะก้าวร้าว ชอบความรุนแรง ติดเหล้า ติดยาก็ให้เข้าโครงการบำบัด ส่วนภรรยา เราก็เอาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้หญิงที่เคยถูกกระทำมาให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เราใช้วิธีไกล่เกลี่ย ไม่ชี้นำ เมื่อครบกำหนดเวลา หากตกลงกันได้ ก็กลับไปอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม หากไปด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องหย่า เพราะคนไม่รักกันแล้วอยู่ด้วยกันยิ่งมีแต่ทำร้ายกันเปล่าๆ"

สุดท้าย หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ฝากไปยังพลเมืองดีว่าหากพบผู้หญิงทุกทำร้าย ต้องเข้าช่วยเหลือทันที

"โดยส่วนตัว เวลาเจอสามีภรรยาต่อล้อต่อเถียงกัน และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง จะใช้วิธีไปยืนมองอยู่ข้างๆเลย ให้เขารู้สึกตัวว่ามีสายตาสังคมจับตามองเขาอยู่ บางครั้งเห็นชัดว่าลงไม้ลงมือ การเข้าไปห้ามก็ต้องระมัดระวัง จะเข้าไปหลายคน จะแจ้งตำรวจ แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือโทรสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะในนั้นด้วย"

ลืมคำว่า "เรื่องของผัวเมีย คนอื่นอย่ายุ่ง" แล้วรีบช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด