posttoday

"Hate Speech"เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

03 มีนาคม 2557

การฆ่าล้างเผ้าพันธุ์ในประเทศรวันดาเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าสังคมเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต หากผู้คนยังใช้ Hate speech ต่อกัน

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองขัดแย้งรุนแรง อารมณ์คนดุเดือดเลือดพล่าน ต่างฝ่ายต่างเสพข้อมูลข่าวสารตามที่ตัวเองเชื่อ ทั้งยังไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ถึงขั้นเหยียดหยาม ประณามฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำอันเต็มไปความเกลียดชังราวกับไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติ

ทั้งหมดกลายเป็นวาทกรรมที่เรียกว่า "Hate speech" อันโด่งดังสะท้านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ในขณะนี้

คำว่า Hate Speech หมายถึงวาจาที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบของถ้อยคำเท่านั้น แต่อาจมาจากภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ บทกวี คำให้สัมภาษณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ถูกตัดทอนเนื้อหามาอย่างจงใจ ฯลฯ  

เจตนาของการสื่อสารในเชิง Hate Speech จะต้องเป็นการแสดงความเกลียดชังต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอย่างชัดเจน โดยพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ เป้าหมายก็เพื่อการแบ่งแยกทางสังคม และขจัดคนอีกกลุ่มออกไป มีระดับเบาสุดไปจนถึงหนักสุด ไล่ตั้งแต่การตั้งใจแบ่งแยก กีดกัน สร้างความเป็นเขา-เรา ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ถึงขั้นยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย  

โดยเฉพาะในยามคับขันตึงเครียดถึงขีดสุด มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่า Hate Speech จะสามารถนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ ดังนั้นการไม่ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาใหญ่ถือเป็นสิ่งที่อันตรายยิ่ง

 

คลิปที่ว่านี้คือ "Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย" ที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ในฐานะคลิปที่อธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์คำว่า Hate Speech ที่ผู้คนต่างใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อกัน ท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนแรง สร้างสรรค์โดย "ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์" นักวิชาการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ "สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์" นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คลิปวิดีโอนี้ ย่อยข้อมูลยากๆเกี่ยวกับคำอธิบายของคำว่า Hate Speech ตั้งแต่ที่มาที่ไป ความหมาย วัตถุประสงค์ และวิธีรับมือ ผ่านการทำ Animated Infographics เข้าใจง่ายๆ มีทั้งฉบับย่อ 3.42 นาที และฉบับเต็ม 11.13 นาที แน่นอนว่าได้รับผลตอบรับดีเกินคาด 

สารัตถะมองว่า Hate speech ไม่มีต้นตอมาจากการเมือง แต่มาจากฐานความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของคนมากกว่า การเมืองเป็นแค่ตัวกระตุ้น ทำให้มันเติบโตบ่มเพาะความเกลียดชังขึ้น ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติ อยู่ที่การยอมรับความเห็นที่แตกต่างอื่นๆในสังคม วันนี้ Hate speech ถูกนำมาใช้โจมตีข้อเสียของคนอื่น เพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น

"ในวันที่สังคมไทยเกิดการปะทะ ทะเลาะเบาะแว้งกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่เว้นแต่ละวัน ต่างฝ่ายต่างโจมตีอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูถูก มีการตั้งฉายา มีการแชร์ลิงค์ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย ถึงขนาดมีการข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย ฆ่ากัน

ผมมองว่าคนไทยยังไม่เคยมีประสบการณใน์เรื่องเหล่านี้มาก่อน เพราะโซเชียลมีเดียถือเป็นสื่อใหม่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เรายังเคยชินกับสื่อแบบเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่เคเบิลทีวีที่มีคนออกมาด่าฝ่ายตรงข้ามทั้งวันทั้งคืน ดังนั้นผมเลยทำคลิปวีดีโอนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนดูรู้สึกตัวว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่"สารัตถะระบุ

เขากล่าวอีกว่า กรณีการฆ่าล้างเผ้าพันธุ์ในประเทศรวันดาที่ถูกยกมาเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าสังคมเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต หากผู้คนยังใช้ Hate speech ต่อกัน สิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามีแต่ความรุนแรง ข้อดีของสื่อในปัจจุบันคือมีให้เลือกเสพเยอะ ทุกคนไม่ได้รับสื่อแบบเดียวกันแล้ว แต่ขณะเดียวกัน แต่ละคนต่างเลือกเสพแต่สื่อที่ตัวเองเชื่อ หรือถูกจริตของตัวเอง ทำให้เกิดการแบ่งแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสารแบบนี้ ความคิดความเชื่อ วิจารณญาณของเรานี่แหละที่จะควบคุมตัวเราเอง มิใช่สื่อ

"Hate Speech"เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ขณะที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่อง Hate Speech ไว้ในบล็อกส่วนตัว (http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/3764) ว่า "ในชีวิตของผมได้ยินได้ฟังและได้อ่านข้อความที่มุ่งปลุกเร้าให้ทำร้ายฆ่าฟัน "ศัตรู" หรือ "ฝ่ายตรงข้าม" มามากมายหลายครั้ง และไม่ใช่จากฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่ใช้มักรุนแรงก้าวร้าวหรือหยาบคาย แต่ไม่จำต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ บางทีถ้อยคำที่ปลุกให้คนลุกไปฆ่าฟันกันมากที่สุด สุภาพไพเราะสัมผัสคล้องจองกันมาก เป็นกลอนก็ได้ เป็นเพลงก็มี

ผมได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็กที่ปลุกปั่นให้ฆ่าคอมมิวนิสต์ ผมได้ยินสมัยหนุ่มที่ปลุกปั่นให้ฆ่าฟันผมกับเพื่อน ผมได้ยินตอนอยู่ในป่าที่ปลุกปั่นให้ไปฆ่า "ศัตรู" และได้ยินอีกหลายครั้งไม่ว่า พฤษภา 35, 49, 51, 52, 53 และล่าสุดเมื่อมีการเคลื่อนไหวให้แก่ไข ม.112 และลงเอยโดยมีคนเกลียดชังเคียดแค้นอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นหมิ่นประมาทอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่ชื่อนิติราษฎร์มาก และมีอาจารย์ท่านหนึ่งถูกทำร้ายร่างกาย

ผมไม่คิดว่าวาทะเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องอันใดกับความรุนแรงที่เกิดตามมาเลย ผมต้องการเสรีภาพในการแสดงออก แต่ผมก็ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในร่างกายชีวิตทรัพย์สินของผู้คน รวมทั้งการเคารพเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนอื่นและตัวผมด้วย

เราควรมีทั้ง 2 - 3 อย่างนั้นใช่ไหม? ถ้าใช่ ก็ควรคิดกันว่าจะทำอย่างไร? การจะมีหรือไม่มีแนวคิด/ประเภท (concept/category) ที่มาจัดการกับมันเป็นวิธีการหนึ่ง แต่การเป่าพ้วงให้แนวคิด/ประเภทหนึ่งมลายหายไปจากโลก ไม่ได้ช่วยลดทอนบรรเทาอาการป่วยของการไม่ฟัง การใช้ความเกลียดชังปลุกปั่นให้ก่อความรุนแรง ไม่ว่าได้ทำจริง หรือแค่ทำให้คนกลัวก็ตาม

บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง"

"Hate Speech"เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ด้าน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Vanchai Tantivitayapitak ว่า "เคยดูสารคดีเบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่เป็นสงครามกลางเมืองระหว่างสองเผ่าในประเทศมีคนตายหลายล้านคน ฝ่ายหนึ่งใช้วิทยุเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมคนให้ออกมาฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง หลังสงคราม หนังสารคดีได้ไปสัมภาษณ์ ผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าการ์ดคอยไล่ฆ่าอีกฝ่ายตายไปหลายร้อยคน เขาสารภาพภายหลังว่า มองย้อนกลับไปเขาเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก แต่อารมณ์ตอนนั้นโดนสื่อ โดนแกนนำบนเวที Build อารมณ์ให้เกลียดชังอีกฝ่ายเกินความจริงมาก ๆ จนเป็นสาเหตุสำคัญที่สามารถไล่ฆ่าอีกฝ่ายได้อย่างไม่รู้สึกผิดในเวลานั้น ทุกคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าตามความเชื่อของตน ต้องมีการเสียสละ แต่ที่ผ่านมา มีแต่คนที่ถูก Build มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้นที่ต้องเป็นฝ่ายเสียสละ"

สำหรับในส่วนของโลกออนไลน์ที่มีการเผยแพร่และแชร์ข้อความ Hate Speech กันได้แพร่หลายรวดเร็วที่สุด ชาวเน็ตก็มีส่วนในการบ่มเพาะความเกลียดชังที่จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ทั้งการกดไลค์ คอมเมนท์เห็นด้วยจนถึงการแชร์ส่งต่อ Hate Speech นั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการส่งต่อความเกลียดชังไปไม่จบสิ้น

ผศ.ดร.พิรงรอง เคยนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง" โดยระบุว่า สื่อวิทยุระดับท้องถิ่นกว่า 8,000 คลื่นมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวจุดและขยายกระแสความขัดแย้งและความเกลียดชังให้กระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางแต่เจาะกลุ่มมากขึ้น จึงสร้างผลกระทบด้านลบแก่สังคมที่แบ่งแยกขั้วทางการเมืองชัดเจนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่าในสื่อออนไลน์มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง ที่พบมากที่สุดคือการยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังที่ส่งผลกระทบในระดับปัจเจก และหากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างไร้การกำกับดูแล ก็อาจจะทำให้สังคมขาดสมดุลทางความคิด ทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สุดก็ส่งผลต่อภาพรวมให้คุณธรรมในสังคมหยาบกระด้าง นำไปสู่การเข้าไปสกัดกั้นหรือทำลายบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการวิจัยเสนอให้การกำกับดูแลแบบผสมผสานระหว่างตามกฎหมายและการใช้กลไกอื่นที่ไม่ใช่การกำกับดูแลอาทิ เร่งพัฒนามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและบังคับใช้ระหว่างสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างจริงจัง สร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้เพื่อตระหนักถึงจริยธรรมสื่อและความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหวทางสังคม การให้ผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางออนไลน์ด้านเนื้อหาเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่อง เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์สามารถช่วยจับตามองความเป็นไปในเนื้อหา แจ้งความไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง