posttoday

2ก.พ.เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้

28 ธันวาคม 2556

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว จะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.แรงงาน ได้เขียนบทความเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 โดยมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว จะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งได้หรือไม่

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ 2 ฉบับ คือ

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 108 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาญาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550

มาตรา 78 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน

ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำ หน่วยเลือกตั้งประกาศงดคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ให้หน่วยเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่นทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในการดำเนินการตามวรรคสาม ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 8 ได้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องนำระยะเวลาตามวรรคสามมาใช้บังคับก็ได้”

ข้อพิจารณา วันที่ 26 ธ.ค.56 เวลา 14.00 น. คณะกรรมการ กกต.แถลงจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไป เนื่องจากเห็นว่าจะเกิดความรุนแรง จนอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบในการเลือกตั้ง

ข้อเสนอแนะ เห็นว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกระทำไม่ได้ เพราะขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับดังกล่าว เนื่องจาก

1. พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการกำหนดอยู่ในช่วงวันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา (วันที่ 9 ธันวาคม 2556)
หากจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็จะเกินกำหนด 60 วัน ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2. ถ้าจะออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ให้เลื่อนเฉพาะกำหนดเวลาการเลือกตั้งออกไปเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องพระบรมราชโองการยุบสภาเพื่อให้เกิดช่องว่างไม่มีสภาเสียก่อนจึงจะจัดการเลือกตั้งใหม่ได้

3. การจะออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ถึง 2 ครั้งกระทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคท้าย บัญญัติว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

4. ที่มีนักวิชาการรวมทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธ์ อ้างว่า เลื่อนการเลือกตั้งสามารถกระทำได้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 โดยอาศัยเหตุพิเศษอันเนื่องมาจากเกิดการจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย และเหตุจำเป็นอย่างอื่น เห็นว่าไม่อาจกระทำได้เพราะ

4.1 บทบัญญัติ มาตรา 78 ให้อำนาจคณะกรรมการ กกต.เลื่อนกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งออกไปได้ก็เฉพาะแต่กรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าว ใน “หน่วยเลือกตั้ง” ก็มีอำนาจเลื่อนวันลงคะแนนเฉพาะในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ เท่านั้น มิใช่เลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศออกไปได้ตามอำเภอใจ

4.2 เหตุผลที่กฎหมายบัญญัติมให้เลื่อนการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งออกไปได้ ก็เพราะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ เหตุพิเศษอาจเกิดขึ้นได้เฉพาะบางพื้นที่ มิใช่เกิดทั่วประเทศ จึงไม่กระทบการเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายจึงให้อำนาจคณะกรรมการกกต.เลื่อนการลงคะแนนเลือกตั้งออกไปได้เฉพาะหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ได้

5. หากจะตะแบงตีความว่ารัฐบาลชุดนี้มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ความเห็นนี้ก็ไม่ทำให้รัฐบาลเสียหาย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ หากการเลือกตั้งเลื่อนไปนานเท่าใด คณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็ยังรักษาการอยู่นานต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่

6. อย่างไรก็ดี รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีสามรถรักษาความสงบเรียบร้อยได โดยพยายามไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม กับกลุ่มความเห็นต่าง แม้จะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยในภาพรวม ไม่ทำให้เสียเลือดเนื้อและชีวิตกับประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลได้อดทน อดกลั้นอย่างที่สุดที่จะรักษาจะระบอบประชาธิปไตยไว้ และคืนอำนาจให้ประเทศได้ตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้จึงขอให้ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย