posttoday

วาระซ่อนเร้นความมั่นคงไทย-สหรัฐ

14 พฤศจิกายน 2555

สหรัฐต้องการส่งสัญญาณกับจีนว่าสหรัฐกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารกับไทย เพื่อให้เห็นว่าสหรัฐได้กลับมายังภูมิภาคนี้

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ฉากหน้าจะได้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศครบ 180 ปี

วาระซ่อนเร้นความมั่นคงไทย-สหรัฐ

แต่ฉากหลังในแง่ของการสานประโยชน์ร่วมกัน ย่อมเป็นที่จับตามองจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นอกจากการรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอแล้ว ในส่วนความมั่นคงมีการผ่านความเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับ “แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย–สหรัฐ 2012” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ “การเข้าร่วมความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (PSI)”

มองผิวเผินอาจไม่มีอะไร แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบประเด็นที่มีผลกระทบประเทศไทยและเพื่อนบ้าน

ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์ กรณีแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐ มองในภาพรวมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะรัฐบาลในอดีตเคยมีข้อตกลงกับสหรัฐมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 1.สนธิสัญญามะนิลาช่วงสงครามเย็นที่จะป้องกันประเทศร่วมกัน 2.บันทึกช่วยจำกรณีไทยโดนโจมตี สหรัฐจะมาช่วย 3.การส่งกำลังบำรุงร่วมกันในการใช้ฐานทัพที่อู่ตะเภา โดยขออนุญาตเป็นคราวๆ ไป และ 4.การเป็นพันธมิตรนอกนาโตทั้ง 4 ข้อ ตกลงเป็นพื้นฐานที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ทว่า ก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ และรัฐบาลควรจะบอกกล่าวสาธารณชน อย่างเช่น การฝึกกำลังร่วมผสม คอบราโกลด์ ซึ่งจากเดิมปีที่แล้วมีการใช้กำลังหนึ่งหมื่นนาย ต่อไปจะเพิ่มขึ้นสองหมื่นนายจริงหรือไม่ และการเพิ่มกำลังฝึกร่วมจากนานาประเทศ มีคำถามว่า ไทยเป็นฝ่ายเสนอเพิ่มหรือสหรัฐเสนอ อย่างเช่นกองกำลังทหารจากแอฟริกาที่อยู่ในพื้นที่ไกลเกินไป แต่มีความจำเป็นต้องนำมาฝึกร่วมที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐาน เพียงแต่สหรัฐอยากใช้ไทยเป็นฐานให้ดูดี

“เรื่องนี้เราได้ถกกันหรือยัง กลายเป็นเหมือนมาปาร์ตี้ โดยที่สหรัฐดึงให้ใครมาก็ไม่รู้ มีการดึงทั้งจีน รัสเซีย ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของพื้นที่ อยู่ดีๆ ก็มีเครื่องบินจีน รัสเซีย แอฟริกามาบินเพ่นพ่าน เป็นประโยชน์จริงหรือไม่” ปณิธาน ตั้งข้อสังเกต

ขณะที่การขอใช้อู่ตะเภาเป็นฐานทัพ แม้มีอยู่แล้วในเอ็มโอยูเดิม ซึ่งสามารถทำได้เลย ไม่ต้องขอรัฐสภา แต่คราวนี้จะมีการมาใช้เพิ่มเติมทำอะไรบ้าง อย่างไร ประเด็นหนึ่งคือการที่สหรัฐจะมาทำเรื่องภัยพิบัติโดยใช้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางในการป้องกันภัยพิบัติ ควรจะอธิบายสังคมให้เข้าใจว่าทำอะไรบ้าง

สำหรับเรื่อง “การเข้าร่วมความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ‘ปณิธาน’ มองว่า เป็นประเด็นของการร่วมมือตรวจอาวุธสงครามร้ายแรง ไม่ว่าอาวุธชีวภาพ อาวุธนิวเคลียร์ของประเทศต่างๆ ที่จะผ่านน่านน้ำสากล ผ่านน่านน้ำไทย ซึ่งเรื่องนี้สหรัฐเคยเสนอมา 9 ปีแล้ว โดยมีประเทศให้การลงนามร่วมมือไปแล้ว 101 ประเทศ เหลือประเทศไทย

เหตุที่ไทยยังไม่ได้ลงนาม มีข้อสังเกตว่าจะกระทบต่อกฎหมายภายในอย่างไร ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ เพราะเป็นข้อตกลงที่ฝ่ายสหรัฐจะต้องจัดกำลังร่วมกับไทยในการเข้าไปตรวจค้น ในอดีตเคยมีมติ ครม.น่าจะยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในการร่วมตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างไทย-สหรัฐ ไม่ว่าจะส่งมาที่ประเทศไทยหรือส่งไปสหรัฐ แต่ในส่วนของ PSI คือการตรวจค้นบนน่านน้ำสากล เรายังไม่ตกลง เพราะอาจมีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด้านหนึ่งก็อิหร่านที่มีความสัมพันธ์กัน อีกด้านก็เกาหลีเหนือจะทำอย่างไร”

ปณิธาน บอกอีกว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ทั้งสองเรื่องเป็นเพียงแค่ภาพกว้าง แต่ให้จับตาต่อไปว่า การที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐมาเยือนไทยวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะมีการเซ็นเรื่อง PSI หรือไม่ สังคมก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ 

นักวิชาการสายความมั่นคง วิเคราะห์ถึงความพยายามสหรัฐต่อประเด็นดังกล่าว โดยที่รัฐบาลไทยรีบรับลูกผ่านมติ ครม. ว่า สหรัฐต้องการส่งสัญญาณกับจีนว่าสหรัฐกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารกับไทย เพื่อให้เห็นว่าสหรัฐได้กลับมายังภูมิภาคนี้ โดยมีข้อตกลงทางการทหารมากขึ้น เพื่อให้จีนทราบว่าไทยไม่ได้อยู่ใต้อาณัติจีนทั้งหมดแล้ว นี่คือวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ขณะที่ สุรชัย ศิริไกร อาจารย์|ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเปิดเผยรายละเอียด แต่รับรู้ว่าเป็นนโยบายด้านความร่วมมือแบบใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่ามีผลประโยชน์อะไรหรือไม่ จึงอยากถามรัฐบาลว่าไทยได้ประโยชน์จริงหรือไม่กับเรื่องนี้ เพราะอย่าลืมว่าสหรัฐมีความพยายามปิดล้อมจีน และดึงไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะมิตรประเทศ แต่ที่สำคัญไทยต้องระวังถูกหลอกใช้เหมือนสมัยที่สหรัฐรบกับเวียดนาม โดยให้เหตุผลว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้ หลังจากจบสงคราม โดยที่|สหรัฐพ่ายแพ้ต่อเวียดนามก็เก็บเสื้อผ้ากลับบ้านและปล่อยให้ไทยต้องเผชิญหน้ากับเวียดนามเพียงลำพัง ดังนั้นจำเป็น|ต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ ซึ่งอย่าลืมด้วยว่าสหรัฐมีความเข็มแข้งด้านการทหาร จำเป็นที่ไทยต้องถ่วงดุลให้ดี ระหว่างไทย-สหรัฐ และ ไทย-จีน