posttoday

ถอดรหัส อภัยโทษ

19 พฤศจิกายน 2554

"แต่จะเขียนให้เปลี่ยนไปจากนี้ ใจคุณถึงก็ทำไปสิ ในอดีตผมไม่เคยเห็นคนไม่ติดคุกจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ"

โดย.....ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ผ่านมาถึงวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดยิ่งลักษณ์บ่ายเบี่ยงชี้แจงรายละเอียดร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ตามที่ตกเป็นกระแสข่าวเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ

การปกปิดข้อมูลด้วยการยกข้ออ้าง เป็นวาระลับพูดไม่ได้ ผ่านการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะครม.ในเวลานั้น รวมถึงบรรดารัฐมนตรีสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหลายประเด็น

ทั้งที่ในอดีตเมื่อถึงโอกาสสำคัญ ครม.จะมีมติผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งนี้เหตุใดถึงกลายเป็นชนวนร้อนทำให้กลุ่มองค์กรภาคประชาชน นักวิชาการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านถึงขั้นคณาจารย์รวมตัวออกแถลงการณ์ชี้ว่า นี่เป็นร่าง พ.ร.ฎ.แหวกม่านนิติประเพณี ทำลายระบบนิติรัฐของบ้านเมือง

ถอดรหัส อภัยโทษ วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่จัดระเบียบวาระให้ความเห็นชอบข้อกฎหมายในหลายรัฐบาล ได้ถ่ายทอดกระบวนการผ่านร่างพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษจากอดีตถึงปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจชนิดที่ต้องขีดเส้นใต้

วิษณุ ออกตัวก่อนว่า เขายังไม่เห็นรายละเอียดร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฉบับ ครม. และไม่ยืนยันว่า ครม.ได้พิจารณาเรื่องนี้จริงตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ จึงไม่สามารถบอกได้ว่า การเขียนเนื้อหาลงในร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ผิดแผกไปจากอดีตมากน้อยขนาดไหน แต่ยอมรับอย่างหนึ่ง เป็นสิทธิของรัฐบาลจะเขียนออกมาอย่างไรก็ได้

"แล้วแต่จะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่ละฉบับไม่เหมือนกัน รัฐบาลนี้จะเขียนมากน้อยแล้วแต่ แต่พูดอย่างแฟร์ๆ การพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ในการประชุมลับเป็นเรื่องปกติ เราไม่อยากให้รู้กันออกไป เดี๋ยวญาตินักโทษหรือตัวนักโทษจะตั้งข้อสงสัยทำไมถึงไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจะมีการฮือแหกคุก สมมติต้องรับโทษไม่เกิน 3 ปีทำไมไม่เขียนไม่เกิน 4 ปี เขาจึงพยายามทำเป็นเรื่องลับ"

ต่อข้อสงสัยร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษถือเป็นเรื่องลับในที่ประชุม ครม.เสมอไปหรือไม่วิษณุ ยอมรับว่า "จากประสบการณ์ในอดีต ทุกครั้งเป็นการประชุมลับ" ถามต่อไปว่า ถึงขั้นไม่ต้องแถลงให้สาธารณชนทราบเลยใช่ไหม คำตอบของอดีตแม่บ้าน ครม.ดูจะขัดกับสิ่งที่ รัฐมนตรีในรัฐบาลอ้างว่าพูดไม่ได้อยู่บ้าง วิษณุ บอกว่า ในอดีตเมื่อมีมติ ครม.ในเรื่องนี้จะมีการแถลงให้สาธารณชนรับทราบซึ่งเลขาธิการ ครม.ไม่จำเป็นต้องแถลงก็ได้ เพราะมีโฆษกรัฐบาลทำหน้าที่แถลงอยู่แล้ว

"การแถลงก็แถลงว่า ครม.มีมติผ่านร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ไม่ขอแถลงในรายละเอียด โดยให้กฤษฎีกาไปพิจารณาต่อไป"

ถอดรหัส อภัยโทษ

พิจารณาประโยคข้างต้นจะเห็นความแตกต่างระหว่าง ครม.ในอดีตกับ ครม.ปัจจุบัน มีเจตนาที่จะให้ความจริงประชาชนมากน้อยขนาดไหน เพราะครม.ในอดีตแถลงมติเห็นชอบ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ แต่ ครม.ปัจจุบันปกปิดไม่พยายามที่จะบอกอะไรเลย จริงอยู่เรื่องของรายละเอียดอาจต้องขอสงวนไว้เป็นความลับ แต่กับการติดตามสัมภาษณ์คนในรัฐบาล หรือแม้แต่ อำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม.คนปัจจุบัน ว่าเรื่องนี้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระหรือไม่ ผ่านหรือไม่ ก็ไม่มีความชัดเจนออกมา

แกะรอยเส้นทาง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษกันดูบ้าง อดีตเลขาธิการ ครม. บอกว่า ในอดีตเมื่อมีโอกาสสำคัญจะมีคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญอยู่แล้ว โดยจะเสนอรูปแบบกิจกรรมออกมาเป็นแพ็กเกจ ตั้งแต่จัดให้มีพิธีทำบุญ อุปสมบท ปล่อยนักโทษ จากนั้นเข้าสู่กลไกทำงานผ่านหน่วยงานราชการ ซึ่งกรณีพระราชทานอภัยโทษเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์รวบรวมข้อมูล สมัยก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นต้นสังกัด แต่ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์สังกัดกระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงยุติธรรม จากนั้นเสนอเข้าครม. เมื่อ ครม.ผ่านความเห็นชอบจึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง

การส่งร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นอีกประเด็นต้องจับตามอง วิษณุ บอกว่า ที่ผ่านมาไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้ากฤษฎีกาคณะพิเศษขึ้นอยู่กับสำนักงานพิจารณาก่อนว่า มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไรมาก ก็ส่งให้สำนักงานเป็นผู้พิจารณาช่องทางมี 3 ทาง ให้สำนักงาน ให้คณะกรรมการ หรือให้คณะกรรมการคณะพิเศษพิจารณา หลังจากพิจารณาเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งกลับ ครม. เพื่อนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

"การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้สำนักงานหรือคณะกรรมการได้ทั้งนั้นเพราะเป็นเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ สำนักงานเอาไปทำเองก็ได้ ไม่เหมือนเรื่องล้างมลทินเป็นเรื่องใหญ่ต้องเข้าคณะกรรมการ นี่คือประสบการณ์นะ ส่วนเรื่องนี้เป็นอย่างไรผมไม่รู้"

แม้จะไม่เห็นรายละเอียดของร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ แต่ทุกกระแสเสียงดูจะเข้าใจทำนองเดียวกัน เป็นการเขียนร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อมุ่งช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามีความผิดคดีที่ดินรัชดาฯจำคุก 2 ปี แต่กำลังได้รับการพ้นโทษทั้งที่ยังไม่ได้เข้ามานอนคุก

จึงมีคำถามตามมาว่า การเขียนเนื้อหาร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษโดยไม่ต้องถูกคุมขังทำได้หรือไม่ มือกฎหมายและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา ยอมรับว่าทำได้แต่เหมาะหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถอดรหัส อภัยโทษ

"ทำได้นะ แต่ควรทำหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยปกติที่ผ่านมาคน กำลังรับโทษอยู่จึงจะได้ชื่อว่าควรแก่การได้รับพระราชทานอภัย แต่จะเขียนให้เปลี่ยนไปจากนี้ ใจคุณถึงก็ทำไปสิ ในอดีตผมไม่เคยเห็นคนไม่ติดคุกจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ"

ถามย้ำ ถ้ายังเดินหน้าเขียนไว้ในร่าง พ.ร.ฎ.ไม่ต้องจำคุกก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษต่อไปจะกระทบต่อหลักนิติรัฐหรือไม่ ถึงตอนนี้วิษณุปฏิเสธที่จะตอบคำถาม "ผมไม่ตอบลงในรายละเอียด แม้จะมีความรู้สึก แต่ไม่ตอบ"

แม้วิษณุไม่ขอทำนายว่าเขา (รัฐบาล) จะกล้าตัดหลักเกณฑ์ผู้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษไม่จำเป็นต้องถูกคุมขังหรือไม่ แต่ด้วยถ้อยความขีดเส้นใต้ตัวหนา "ใจคุณถึงก็ทำไปสิ"หากถอดรหัสออกมาก็ดูเป็นการส่งสัญญาณไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะเป็นเช่นไร

ด่านหินกับบทเรียนในอดีต

ย้อนกลับไปดูเนื้อหาร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษที่ ครม.ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่แหล่งข่าวระบุออกมาดังนี้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว คือ เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีนอกจากนั้นยังมีการตัดคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ฉบับที่เขียนในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเนื้อหา

ระบุว่า ผู้คนที่เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดและไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งยังไม่มีการระบุถึงระยะเวลาการเข้ารับการเข้ารับโทษ

ถ้าเป็นไปตามที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าข่ายได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับการคุมขังแม้แต่วันเดียว ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งตรงกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม เคยทำเอกสารแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้

วิษณุ อธิบายว่า "ประเภทที่รับการพระราชทานอภัยโทษไม่ว่าจะเป็นประเภทยาเสพติด คอร์รัปชัน สมัยก่อนได้รับการพระราชทานอภัยโทษหมด แต่ตอนหลังมีการปราบยาเสพติดกันมาก จึงเขียนยกเว้นคดียาเสพติด ส่วนเรื่องทุจริตเท่าที่จำได้ ผมไม่เคยเห็น แปลว่าอยู่ในข่ายด้วย ที่เอาเรื่องยาเสพติดเพราะนโยบายรัฐบาลสิบปีที่ผ่านมาเน้นเรื่องยาเสพติด แต่ถ้าวันนี้นโยบายรัฐบาลจะเน้นเรื่องป้องกันทุจริต คุณอาจจะยกเว้นไว้ก็ได้"

คำอธิบายของวิษณุสอดรับกับ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่เขียนขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ไม่ต้องการให้นักโทษคดียาเสพติด นักโทษเกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชันได้รับการพระราชทานอภัยโทษ จึงมีการเขียนคำแนบท้าย พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ผู้คนที่เข้าข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ จะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดและไม่เกี่ยวกับการทุจริต ทั้งยังไม่มีการระบุถึงระยะเวลาการเข้ารับรับโทษ อีกนัยรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดจริงจัง และมีนโยบายต่อต้านการทุจริต จึงสกัดกันช่องทางการพระราชทานอภัยโทษไว้ด้วย

แต่ถ้ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีการตัดเนื้อหาข้อยกเว้นของรัฐบาลยุคประชาธิปัตย์ จะทำให้ถูกมองว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่ วิษณุตอบตามหลักการว่า "ถ้านโยบายรัฐบาลไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ จะตัดออกไปหมดก็ได้ จะยกเว้นอะไรก็ได้"

ไม่ว่าจะตัดหรือยกเว้นความผิดใดๆ ออกไปถึงกระนั้นวิษณุให้ข้อมูลเพิ่มเติม "แต่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษบางฉบับในอดีตเคยขอให้ยกเว้นคดีความผิดความมั่นคงต่อรัฐแต่ปรากฏว่ายังไงก็ไม่ได้พระราชทานอภัยโทษหรอกต่อให้คุณเข้าข่าย"

หรือนี่กำลังจะบอกว่า แม้จะยกร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือเอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งหรือไม่ก็ตาม แต่ทว่ายังต้องฝ่าด่านหินอีกหลายด่าน เพราะฉะนั้นความหวังจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษอภัยโทษ อาจไม่ง่ายอย่างที่หวังก็ได้

ถามทิ้งท้ายว่า พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษจะต้องดำเนินการให้ทันวันที่ 5 ธ.ค. หรือไม่วิษณุ บอกว่า ไม่จำเป็น แต่ย้อนกลับมาวันที่ 5 ธ.ค. จะมีผลปลายเดือน ม.ค. ก็ได้

'ผมทำงานให้รัฐไม่ใช่รัฐบาล'

ถอดรหัส อภัยโทษ

นับตั้งแต่ใช้ชีวิตข้าราชการมา 30 ปี ทำงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มายาวนาน 15 ปี กับรัฐบาล 10 ชุด นายกรัฐมนตรี7 คน วิษณุ เครืองาม ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งสุดท้ายทางราชการ นั่นก็คือ เลขาธิการครม. ตามการทาบทามของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีสมัยนนั้น ให้ไปทำหน้าที่รองนายกฯดูแลงานด้านปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกฎหมาย เริ่มลิ้มลองรสชาติการเมืองมากขึ้น จนได้ไปขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงสังกัดพรรคไทยรักไทย ทำให้หลายคนคิดว่าจะก้าวไปเป็นนักการเมืองเต็มตัว แต่เมื่อเข้าไปคลุกวงในบรรดานักการเมือง ได้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างทำให้รู้ตัวว่า "นี่ไม่ใช่ตัวเอง" จึงต้องถอยออกมาในที่สุดถึงกระนั้น มือกฎหมายระดับแถวหน้าเมืองไทย ยังได้รับความไว้วางใจจากวงการราชการ ภาคธุรกิจ เอกชน แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะ

กรรมการกฤษฎีกา อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แต่งานที่รักและอยู่ในจิตวิญญาณไปแล้ว นั่นก็คือการเป็นอาจารย์สอนหนังสือประจำสถาบันการศึกษาหลายแห่งแม้จะเว้นวรรคหน้าข่าวการเมืองไปนานแต่ระยะหลังปรากฏชื่อ ศ.ดร.วิษณุ เป็นผู้ดำเนินรายการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ กฎหมายหลักธรรมาภิบาล ทางหน้าจอเคเบิลทีวี ล่าสุดมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)โดยมี ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ไล่เรียงดูรายชื่ออุดมไปด้วยระดับกูรูชั้นนำของประเทศมาร่วมกันคิดอ่านวางแผนฟื้นฟูประเทศหลังจากเผชิญมหาอุทกภัยถล่มเมือง

อดไม่ได้ถามไถ่กันซึ่งหน้า เป็นอย่างไรบ้างที่ได้กลับมาร่วมงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วิษณุปฏิเสธทันควัน "ไม่ได้มาทำงานกับรัฐบาล แต่มาทำงานให้รัฐ"

ทันทีที่มาทำงานให้ "รัฐ" ได้ร่วมประชุม กยอ.นัดแรกไปแล้ว วิษณุ บอกว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อทำหน้าที่ดูแลงานกฎกหมายโดยตรง แต่ได้รับมอบหมายจากวีรพงษ์ ในเรื่องการจัดสร้างองค์กร เพราะเขามองว่า ตามระเบียบสำนัก

นายกรัฐมนตรี ตั้ง กยอ. มีอำนาจหน้าที่น้อยมาก ในขณะที่ปัญหาอุทกภัยเป็นสถานการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ว่าหลังน้ำลดแล้วฟื้นฟู แต่ต้องมองถึงสถานการณ์ในอนาคตด้วยว่า จะเผชิญวิกฤตที่หนักหน่วงกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งเขาไม่ได้มองเฉพาะอุทกภัย แต่มองไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นด้วย จึงควรจะมีการตั้งเป็นองค์กรเฉพาะ มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความคล่องตัวในระยะยาว

"ตอนนี้มีโมเดลหลายแบบ ก็ต้องมาดูจะใช้รูปแบบต่างประเทศหรือไม่ เขาส่งมาให้เยอะจากกูเกิลนั่นแหละ" วิษณุหยอดมุขเล็กน้อยก่อนจะยกตัวอย่างรูปแบบองค์กรต่างประเทศเช่น เทนเนสซีวัลเลย์ในสหรัฐ โครงการเอ็มไพร์สเตต กรณีการลงทุนของประเทศนิวซีแลนด์ หรือบางประเทศมีการจัดตั้งบรรษัทลงทุนที่คล้ายกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมและเขียนตัวบทกฎหมายให้อำนาจจัดการอย่างชัดเจนว่ามีอำนาจทำอะไรได้บ้าง

ไม่เพียงงานระดับชาติ งานส่วนตัวก็ไม่ใช่ย่อย ตั้งแต่เป็นรองนายกฯ ก็สร้างความฮือฮาด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์สมัยนั่งเป็นแม่บ้านห้องประชุม ครม.ผ่านตัวหนังสือ "ครัวครม." เขย่าวงการร้านอาหาร กระทั่งเมื่อก่อนเกิดเหตุน้ำท่วม ก็เปิดตัวพ็อกเกตบุ๊กเล่มล่าสุดสะเทือนทำเนียบรัฐบาล "โลกนี้คือละคร" เป็นการบอกเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำงานร่วมกับนักการเมืองมากหน้าหลายหน้าตา หลายต่อหลายเรื่องใน ครม. ที่ประชาชนไม่รู้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้

ตอนหนึ่งในหนังสือโลกนี้คือละคร หน้า301 วิษณุ เปิดเผยเทคนิคการให้สัมภาษณ์ว่า"การสัมภาษณ์จะมีอย่างไรก็ตาม ต้องยึดหลักว่า หากไม่อยากพูด ก็ไม่ต้องพูด แต่ถ้าพูด ควรพูดความจริง ไม่ควรกล่าวความเท็จเพราะถูกจับได้ไล่ทันจนไปกันใหญ่ ถ้าพูดความจริงหมดไม่ได้ ก็พูดเท่าที่พูดได้ ที่เหลือก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ"

เนื้อหาตอนนี้ ช่างเข้ากับสถานการณ์ที่บรรดา ครม.ต่างหาทางชิ่งหนี ปกปิดรายละเอียดร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งถ้าจะหาทางออกเพื่อคลี่คลายความสงสัย ก็น่าจะขอยืมเทคนิคที่วิษณุเขียนไว้ในหนังสือนี้มาลองใช้ดูก็ได้