posttoday

คำสารภาพโฆษกมือใหม่

17 กันยายน 2554

"คำว่านางมารร้ายมันทำให้พี่ดังมากขึ้น ไม่รู้สึกว่ามันจะต้องเลวร้ายอะไร ดีกว่าเขามาว่าเราเป็นนางงาม ตุ๊กตา"

"คำว่านางมารร้ายมันทำให้พี่ดังมากขึ้น ไม่รู้สึกว่ามันจะต้องเลวร้ายอะไร ดีกว่าเขามาว่าเราเป็นนางงาม ตุ๊กตา"

โดย  ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

จากที่เคยเป็น สส.หญิงฝีปากกล้า มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์จนแวดวงการเมืองแซวกันว่าเสียงสะกดวิญญาณบ้าง นักเชือดเลือดเย็นบ้าง หรือแม้กระทั่ง "นางมารร้าย"วันนี้เจ้าของฉายานางมารร้าย "ฐิติมา ฉายแสง"หรือเปิ้ลพลิกบทจาก สส.มาทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้หลายคนเฝ้าจับตามองบทบาทใหม่ของเธอ โดยเฉพาะน้ำเสียงเนิบๆ เยือกเย็น ที่ถ่ายทอดผ่านเวทีแถลงข่าวนารีสโมสร

คำสารภาพโฆษกมือใหม่ ฐิติมา ฉายแสง

ฐิติมา เริ่มเล่าถึงความเป็นตัวตนของเธอ ก็ไม่รู้เหมือนกันมันก็เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ครั้งเป็น สส. ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ต้องหาข้อมูลเยอะ เพราะรัฐมนตรีเพิ่งทำงานสามสี่เดือนยังไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เจอเรื่องไม่เหมาะสม จึงต้องอธิบายให้คนเข้าใจ ว่าฉันไม่ไว้วางใจคุณนะเพราะอะไร ทีนี้เวลาอภิปรายเสียงของพี่ ไม่เข้าใจว่าอย่างไร บางคนก็บอกว่าเยือกเย็น บางคนก็บอกว่าเสียงเพราะ เสียงเอฟเอ็ม

"จนกระทั่งมีคำว่านางมารร้ายเกิดขึ้นด้วยซ้ำ(หัวเราะ) แต่พี่ไม่ว่านะ คำว่านางมารร้ายในที่นี้ คือพี่อภิปรายไปเยอะ แล้วเขาเถียงพี่ไม่ได้ เพราะเรามีเหตุผลทุกอย่างไม่ผิดเลย เขาก็หาเหตุประท้วงไม่ได้เขาจึงออกจากห้องประชุมไป มาวันหลังเขาจึงมาพูดว่า เห็นฐิติมาพูดทีไร ทนไม่ได้ รู้สึกเป็นนางมารร้าย"

ผู้ให้ฉายาฐิติมานั่นก็คือ ประมวล เอมเปีย สส.เขตพนัสนิคม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเขตติดกับจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเจ้าตัวคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้วไม่ได้โกรธ แถมเป็นจุดเด่นขึ้นมาอีกต่างหาก เพราะทำให้คนรู้จักฐิติมามากยิ่งขึ้น

"คำว่านางมารร้ายมันทำให้พี่ดังมากขึ้น(หัวเราะ) ไม่รู้สึกว่ามันจะต้องเลวร้ายอะไร ดีกว่าเขามาว่าเราเป็นนางงาม ตุ๊กตา หน่อมแน้มอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น"

และด้วยความสามารถในสภา อภิปรายสะกดวิญญาณได้ขนาดนี้ จึงเข้าตาสตรีการเมืองด้วยกันอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทาบทามด้วยตัวเองให้มารับตำแหน่งหัวหน้าทีมกระบอกเสียงรัฐบาล

"เพราะท่านนายกฯ เป็นผู้หญิง แล้วเห็นพี่เปิ้ล(ฐิติมา) เคยเป็น สส. เคยพูดในสภา จังหวะที่เราสอบตกด้วย ก็เลยพิจารณาว่าควรจะมาทำงานตรงนี้ ทางเราบอกไปว่า การพูดในสภากับตรงนี้ไม่เหมือนกันนะตอนแรกเดาไม่ออกเลยว่าจะให้มาเป็นโฆษกรัฐบาลหรือ ก็ขออนุญาต ไปเป็นเลขาฯ รัฐมนตรี ไปเรียนรู้งานบริหารแต่ละกระทรวงแค่นั้นก็พอ แต่เขากลับบอกว่าขาดตำแหน่งตรงนี้ ยังไงก็ขาด ไม่มีใครที่เหมาะ นายกฯ เป็นคนเลือกเอง เป็นสเปกเลย ผู้ใหญ่ทุกคนเลยบอกสเปก อย่างนี้ต้องพี่เปิ้ลเท่านั้น ซึ่งเราก็ตอบว่าเหรอ ก็นั่งเครียดอยู่จะทำได้หรือเปล่า"

คำสารภาพโฆษกมือใหม่

ฐิติมายอมรับว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากๆเพราะลักษณะงานแตกต่างกันจากที่เคยเป็น สส.มีเวลาเตรียมตัว ได้ไปเยี่ยมประชาชน เป็นกรรมาธิการ แต่มาเป็นกระบอกเสียงรัฐบาล ยากตรงเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นเร็ว ทำให้เราแทบเตรียมตัวไม่ทันบางทีเป็นเรื่องที่เราไม่มีพื้นฐานมาก่อน ภาษาที่ใช้ต้องถูกต้อง คำแถลงข่าวต่างๆ ต้องทำให้เสร็จในเวลาจำกัด

นับแต่รัฐบาลทำงานดูเหมือนงานประชาสัมพันธ์สื่อสารยังไม่ลงตัวเท่าไหร่นัก มีการตั้งข้อสังเกต เพราะนายกฯ สื่อสารด้วยข้อความเดิมๆ บางครั้งเลี่ยงตอบคำถามสื่อมวลชนทำเนียบฯ แม้แต่ กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสื่อไม่ค่อยมีบทบาทงานด้านสื่อ ทำให้ภารกิจทั้งหมดตกมาอยู่ที่โฆษกรัฐบาล

"ท่านนายกฯ เรียกว่าไม่ได้พูดน้อยนะ ท่านทำงานเยอะ และไม่อยากให้วันหนึ่งมาจ้ออยู่หน้าจอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรนัก เพราะเราคงทำหน้าที่ให้ท่านได้ บังเอิญรัฐมนตรีกฤษณาไม่ได้หมายความว่าต้องออกมาพูด ท่านก็ทำงาน ก็เป็นหน้าที่โฆษกรัฐบาล แต่ทีนี้ โฆษกต้องยอมรับว่ายังพูดน้อย สื่อสารน้อย ก็ปรับตัวกันอยู่ มันยากเหมือนกัน ก็พยายามผลักให้รัฐมนตรีออกมาพูดมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเพราะหลายกระทรวงมีโครงการตามนโยบายมากจริงๆ"

ฐิติมา บอกว่า ความจริงโฆษกต้องมีบทบาทมากกว่านี้ และกำลังจัดขบวนทัพสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ ทีนี้รัฐมนตรีเป็นหน่วยหนึ่งที่ช่วยได้ดีมาก เพราะท่านเข้าใจเรื่องได้ดี นายกฯ จึงขอให้รัฐมนตรีได้มาช่วย รวมถึงโครงการต่างๆ เช่น ช่วยเหลือน้ำท่วมอะไรก็แล้วแต่ รัฐมนตรีต้องลงไปช่วย แต่ขณะเดียวกันโฆษกฯ เองต้องมาอธิบายมากกว่านั้นจริงๆซึ่งยอมรับว่า ณ ขณะนี้ทำไม่ทันอยู่

"อย่างการประชุมคณะรัฐมนตรี ถ้าเกิดไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้ จะเห็นว่า เหมือนเป็นวินาที จดก็ไม่ทัน ทำอะไรก็ไม่ไหว เหนื่อยมากเลย เป็นวาระจรซะส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ ถ้าเกิดไม่ใช่วาระจรเราพอเข้าใจได้อ่านล่วงหน้า แต่เมื่อเป็นวาระจร เราไม่ได้อ่านเลย เราต้องเตรียมการเยอะก็หนักอยู่สภาพของการแถลงข่าวจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอภิปรายกลางสภา" ฐิติมา สารภาพ

เจ้าของฉายานางมารร้าย บอกอีกว่า ถ้างานนี้ผ่านไปได้จะประสบความสำเร็จทุกอย่าง

"พี่จะเก่งมาก รู้ไปหมดทุกเรื่อง ทุกกระทรวง และงานบริหารแม้กระทั่งจะเดินทางไปต่างประเทศอย่างไร ได้พบเห็นผู้นำระดับสูงก็น่าภูมิใจระดับหนึ่ง แต่ยอมรับมันหนักมาก"ฐิติมา กล่าว

คำสารภาพโฆษกมือใหม่

อย่างไรก็ตาม  หากย้อนกลับไปได้ ฐิติมาบอกว่า อยากเป็น สส. แต่เมื่อมาเป็นโฆษกก็ต้องทำใจระดับหนึ่ง

"ชีวิต สส.เป็นสิ่งที่เราเคยเป็นมาแล้ว รู้สึกเป็นเกียรติที่มีคนเลือกเราเข้ามา อันนั้นรู้สึกจากที่ไม่ได้แพ้ แต่เมื่อไม่ได้เป็น มาเป็นตรงนี้เอาล่ะ เราก็เรียนรู้งานด้านบริหาร สิ่งที่ไม่เคยรู้ต้องรู้ซะ ทีนี้รู้เยอะเลย ถ้าผ่านตรงนี้ได้" ฐิติมาให้กำลังใจตัวเอง

สำนักโฆษกฯในฝัน

หนึ่งเดือนของการมารับตำแหน่งเป็นห้วงเวลาที่ฐิติมาต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของสำนักโฆษกฯ ทำให้เห็นปัญหาหลายอย่างต้องปรับปรุง เธอ บอกว่า อย่างโครงสร้างสำนักโฆษกฯ แตกแขนงออกไปเป็นหลายกอง เช่นกองประชาสัมพันธ์ กองสื่อมวลชนสัมพันธ์กองผลิตสื่อ ซึ่งเธอก็เข้าใจว่าคงเหมือนแผนกประชาสัมพันธ์ เหมือนบริษัทเอกชน ที่มีบุคลากรมารวมกันและบูรณาการงานได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับราชการไม่ได้เป็นเช่นนั้น

"ที่นี่มีคนตั้งหกสิบกว่าคน หกสิบกว่าคนทำอะไรกันเนี่ย และไม่เหมือนในบริษัททั่วไปถ้าแผนกประชาสัมพันธ์เขารวมหมดเลย แต่อันนี้แยกเป็นแต่ละกอง สมมติพี่ถามไปที่กองผลิตสื่อ บอกผมผลิตได้ครับ แต่ไม่มีสคริปต์ก็กลายเป็นว่ากองประชาสัมพันธ์ต้องทำสคริปต์ไปให้กองผลิตสื่อ เพราะเขามีหน้าที่ผลิตอย่างเดียว คือตรงนี้ทำให้เห็นว่าไม่ประสานเป็นเนื้อเดียวกันจึงทำให้พี่ต้องเรียนรู้งานมาก"

รูปแบบที่ฐิติมาต้องการ คืองานรัฐบาลเป็นงานที่มีหลากหลายกระทรวง มีทั้งความทุกข์ร้อน สดใหม่ เข้ามาโดยที่ต้องเตรียมการจึงอยากให้สำนักโฆษกฯ ทำงานเชิงรุกในเรื่องของข้อมูล ถึงขนาดควรมีนักวิชาการที่หาข้อมูลมาป้อนให้ทันท่วงทีเหมือนกับที่สภามีกองสารนิเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญจบปริญญาโทเมื่อ สส.ต้องการหาข้อมูลสามารถตอบสนองได้ทันที ขณะที่สำนักโฆษกฯ มีฝ่ายวิเคราะห์แต่เมื่อโฆษกไม่เข้าใจเรื่องนั้นๆ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกฯ ก็ตอบไม่ได้ หรือกรณีการส่งรายงานสถานการณ์เพื่อให้ผู้นำประเทศรับทราบจะได้สั่งการ

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กรณีเกิดเหตุอาคารที่พักถล่มที่ จ.สระบุรี ระหว่างนั้นนายกฯ ต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่อินโดนีเซีย ไม่มีหน่วยงานราชการรายงานสถานการณ์ให้ทราบ กว่าจะทราบเรื่องก็ประมาณเที่ยงวันไปแล้ว

"ท่านนายกฯ กับพี่อยู่ที่อินโดนีเซีย ไม่มีใครแจ้งข่าวเลย นี่คือข้อผิดพลาดแล้ว เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า แต่เราเดินทางออกกันตั้งแต่ตี 5 แล้ว เราอยู่บนเครื่องไม่รู้เรื่อง และภารกิจที่อินโดนีเซียมีภารกิจมากอยู่ในห้องประชุม กว่าจะทราบเรื่องก็เวลาประมาณ สักเที่ยง โดยรู้จากเอสเอ็มเอสจึงติดตามสอบถามอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามจากผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันฯ ส่วนพี่ก็โทร.สอบถามท่าน มท.1 และเรียนให้ท่านนายกฯ ทราบ ท่านนายกฯ ก็สั่งการบอกกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการทันที"

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรจะมีมานานแล้วกลับไม่มี ได้สร้างความแปลกใจให้กับโฆษกหน้าใหม่ นั่นคือการนำเสนอข้อความตัววิ่งผ่านทางหน้าสถานีโทรทัศน์

คำสารภาพโฆษกมือใหม่

"พี่ต้องการทำตัววิ่งให้ประชาชนรู้ว่า ท่านนายกฯ ปฏิบัติภารกิจที่อินโดนีเซีย แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจสั่งการทันที ตัววิ่งแบบนี้ สำนักโฆษกฯน่าจะทำได้ คิดว่าไม่เห็นมีใครทำอะไรเลยกลายเป็นบ้าอยู่คนเดียวพี่ก็เลยเครียด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมารุมอยู่ที่นี่"

ฐิติมา ระบายความในใจต่อไปว่า สำนักโฆษกฯ มีหลายหน่วยซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้ทำงานเชิงรุกนักจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วมาเจอพี่ในลักษณะที่พี่ไม่รู้ พี่ก็ถาม พอถาม เขาไม่รู้ กลับมาเขาก็ไม่ได้ตอบสนองมาทันทีก็เลยไปกันใหญ่ ถ้าพี่เป็นคนมีความรู้อยู่แล้วสัมพันธ์กับสื่ออยู่แล้ว เป็นคนเข้าใจยังไงก็อาจผ่อนหนักผ่อนเบาได้ แต่ทีนี้เราไม่รู้จึงถาม ถ้าตอบกลับมาไม่ได้ก็ยุ่งเหมือนกันยอมรับว่ายังไม่ลงตัวเท่าไหร่นัก ก็พยายามอยู่ แต่เหมือนจะเข้าขากันมากขึ้น

สอบตกเพราะวิธีพิเศษ

ตระกูลฉายแสงโด่งดังคับ จ.ฉะเชิงเทราตั้งแต่รุ่นพ่อ "อนันต์ ฉายแสง" ถึงรุ่นลูกส่งสมัคร สส.ไม่เคยผิดหวัง ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ช้างล้มดังสนั่น

สองพี่น้อง ฐิติมา-วุฒิพงศ์ พลิกล็อกสอบตกท่ามกลางคำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลด้านหนึ่งระบุว่า เพราะความนิยมในตัวฐิติมาตกต่ำอันเป็นผลจากลีลาการอภิปรายทิ่มแทงรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่กำลังเริ่มทำคะแนนกับคนภาคกลางรวมถึง จ.ฉะเชิงเทรา จนประชาชนไม่พอใจ ประกอบกับความมั่นใจเกินไปในพื้นที่ โดยไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของประชาชน

แต่มุมของฐิติมาปักใจเชื่อว่าความพ่ายแพ้เกิดจากการซื้อเสียงวิธีพิเศษ!

"ที่บ้านทำงานการเมืองเต็มที่ ประชาชนคนภาคกลางไม่เหมือนคนภาคอีสาน หรือเหนือ ที่เขาเข้าใจการเมืองทะลุไปแล้ว กระทั่งว่าถ้าใครมาซื้อเสียง เขารับเงินแต่ไม่เลือกคนที่ซื้อเสียง แต่คนภาคกลางตามหลัง ก่อนหน้านี้คนอีสานโดนดูถูกว่าเงินซื้อเสียงได้ แต่ตอนนี้เขาฉลาดล้ำลึก ภาคกลางยังตามไม่ทันอยู่เลยทีนี้เงินมาทำให้คนเขวและบ้านพี่เป็นคนไม่ซื้อเสียง"

ฐิติมา กล่าวว่า ผลสำรวจความนิยมฐิติมาออกมา 75% ฝ่ายตรงกันข้าม 25% แม้แต่ 2 วันสุดท้าย โพลก็เป็นอย่างนี้ ที่พรรคเพื่อไทยก็งงจนมาทราบถึงสาเหตุ อ๋อ วิธีการพิเศษนี่เองที่มาถล่มจนคนเขวไปได้

"เป็นวิธีพิเศษจริงๆ ที่เอาเข้ามาไม่กี่วันมีคนโทร. มาบอกพี่ด้วยว่าเขาเอาเงินลงมาเท่านั้นเท่านี้ เราก็คิดว่าคงไม่มีผล จนกระทั่งแพ้เลือกตั้งมาแล้ว มีคนโทร. มาบอกว่า ผมอัดวีซีดีเอาไว้เอง ผมเป็นคนถือเงินมาเอง มีคนเอาเงินมาถล่มท่าน ผมไม่ได้ขัดแย้งกับฝั่งท่านนะ แต่ขอสองล้านบาทเพื่อแลกกับวีซีดี พี่บอกว่าไม่มีหรอก เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่นั่นเป็นคำตอบว่า มีการนำเงินลงขันมาถล่มพี่ ซึ่งเรามารู้ทีหลังมีทั้งนักค้ายา ทั้งนักเดินโพยหวย"

ฐิติมา แฉกลโกงต่อไปว่า ที่รู้เรื่องราวเหล่านี้เพราะแม่เพื่อน โทร. มาบอกเกี่ยวกับญาติทางแม่ ว่าเขาอยู่ในวงการค้ายาเสพติดแต่ไม่ได้อยู่ในเขตนี้หรอก แต่เอาเงินมาถล่มคุณฐิติมาเต็มที่รวมถึงวงการค้ายาอื่นอีกก็เข้ามา และมีขบวนการเดินโพยหวยที่เดินอย่างแยบยลใช้คนระดับล่างๆ ยกตัวอย่าง เล็งไปที่แม่ค้าข้างถนนให้ไปหาคะแนนเสียงให้ได้สัก 20 แต้ม เขาบอกให้ไปหาคนมาให้ได้นะ จากนั้นแม่ค้าได้หัวคิว สมมติว่า ให้เงิน 500 บาทต่อหัว แม่ค้าได้ 200 บาท แม่ค้าจ่ายมาแค่ 300 บาท พอรวมกันเยอะไปหมดโดยที่เราไม่รู้ ถึงเรารู้ ก็คิดว่าไม่น่าสู้เราได้ แต่เราก็ประมาทแบบนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ฐิติมา จึงมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากความนิยมลดลง"แม้แต่คนเชียร์พี่ มาร้องไห้หลายคนมาก นึกไม่ถึงว่าการไปรับเงินฝ่ายเขาแล้วและเลือกเขา จะทำให้คุณเปิ้ลสอบตก เขามารับคำแบบนี้บอกว่าไม่เอาแล้ว"

แต่ถึงอย่างไร มันก็สายไปเสียแล้ว