posttoday

"อภิสิทธิ์"ชี้เพื่อไทยก้าวไม่พ้น "ครอบครัวชินวัตร" ระวังเกิดรัฐประหารอีก

01 พฤษภาคม 2565

"อภิสิทธิ์" มอง เพื่อไทย ก้าวไม่พ้น "ครอบครัวชินวัตร" รับหลายฝ่ายกังวลหากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอาจเกิดรัฐประหารอีก เตือนอย่าย้อนกลับไปสู่พฤติกรรมการเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัว-พวกพ้อง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่3ถึงกรณีที่หลายคนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่มีการมองท่าทีของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชูนส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ขึ้นมาแล้วหวังว่าจะเกิดแลนด์สไลด์ ถ้าพรรคเพื่อไทยมาในลักษณะนี้ นส.แพทองธาร มาจะเอานายทักษิณกลับบ้าน ก็อาจจะมีการรัฐประหารเกิดใหม่อีกรอบ ว่า ต้องยอมรับว่าความกังวลตรงนี้มีแน่นอน เพราะเกิดความรู้สึกว่าในที่สุดพรรคเพื่อไทย ก็ยังก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตร

ทั้งนี้สมมติว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนในครอบครัวมาดำรงตำแหน่งอีก ลำพังตรงนั้นก็ไม่เป็นไรถ้าประชาชนเลือก เพียงแต่ว่าอย่าย้อนกลับไปสู่ พฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ ให้ครอบครัว ให้พวกพ้องหรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย ซึ่งอาจจะรวมไปถึงแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรม

Wเพราะฉะนั้นว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลนั้นผ่านการเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้งมาเราก็ต้องยอมรับ แต่ปัญหาคือทำอย่างไร ซึ่งตนพูดเสมอว่าการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งมา เป็นความยินยอมพร้อมใจของประชาชนให้เข้ามาผลักดัน นโยบายหรือทำงานให้กับประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เข้ามาทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักของกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแง่ของการรัฐประหารซึ่ง คุณอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วย และไม่เอาระบอบประยุทธ์ แต่ท้ายที่สุดคนใต้กลับไม่เอาคุณอภิสิทธิ์ แต่สนับสนุนให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ตนก็พยายามนำเสนอว่า ถ้าความเห็นต่างตรงนี้ยังถูกมองเป็นแค่เรื่องว่า เราเป็นศัตรูกันเราอยู่คนละข้างกัน สุดท้ายการเมืองก็จะเป็นแพ้แค่เรื่องเอาชนะอีกฝ่าย โดยวิธีการอะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เงินใช้อำนาจรัฐซึ่งสุดท้ายทั้งหมด ก็ล้วนแล้วแต่บั่นทอนระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่ตนพยายามนำเสนอในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตนก็เพียงแต่หวังว่าทั้ง 2ฝ่าย เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นชัดเจนว่า การที่ประเทศติดกับดักของการประเชิญหน้ากันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร แล้วก็ทำให้ประเทศเรามีปัญหา ในการพัฒนามีความล้าหลัง จากปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลก แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปจัดการกับเรื่องเหล่านั้นได้อย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวถามถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ ท่าทีและการเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบว่า เราต้องเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมากับโลก ที่เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนเขา ซึ่งโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่มาทีหลัง เพราะฉะนั้นเขาได้เห็นว่า ทางเลือกต่างๆในโลกมีมากมาย มาตรฐานของประเทศ ,ของสากลในเรื่องต่างๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องการเมืองเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจด้วยว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังถูกเปลี่ยนอย่างรุนแรง จากเทคโนโลยี จากโครงสร้างประชากร หรือจากอะไรหลายอย่าง ฉะนั้นความคาดหวังต่อชีวิตของเขา มันเปลี่ยนไปแล้ว เขาก็มีความรู้สึกว่าถ้าโครงสร้าง ของการเมืองการปกครองไทย ยังเป็นเหมือนในปัจจุบัน มันไม่สามารถรองรับอนาคต ที่เขาอยากจะได้เขาจึงเรียกร้อง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ความจริงทุกฝ่ายต้องพยายามทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนกับเขา

“เราอยากให้แลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ได้ว่า การปฏิเสธบางสิ่งบางอย่างแล้วคิดว่าจะกระโดดไปได้อีกสิ่งหนึ่ง เราได้เรียนรู้หรือยังว่าถ้าเราไม่มี กลไกที่มาสร้างความสมดุล ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดเหมือนกับที่เราเคยผิดพลาด มาในอดีตได้เหมือนกันจุดตรงกลางที่จะมาเจอกันนั้นยอมรับว่ายาก เพราะเรื่องแบบนี้ผู้มีอำนาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดพื้นที่ตรงกลาง ถ้าผู้มีอำนาจปฏิเสธ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นสัญญาณใดๆทั้งสิ้นจากผู้มีอำนาจ ว่าพร้อมที่จะคุยพร้อมที่จะฟังว่า ความต้องการคืออะไรที่เห็นด้วยเห็นต่างคือตรงไหน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1. ทุกยุคทุกสมัยผู้มีอำนาจก็จะมีปัญหานี้ไม่มากก็น้อย รู้สึกว่าการที่คนมาต่อต้าน มาเรียกร้องอะไรไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก็อาจจะมีความเชื่อตรงนั้นเป็นพื้นฐานเหมือนกัน

2. เนื่องจากการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในรอบ 2 -3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางสังคม จึงยิ่งกังวลและลังเล เสมือนกับว่าไม่แตะต้องหรือไม่ยุ่งเรื่องนี้ดีกว่า แล้วก็ใช้กฎหมายหรืออะไรก็ตามเป็นเครื่องมือไป

3.บังเอิญสภาวะแวดล้อม , วัฒนธรรมและการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ เขาเติบโตมาในยุคที่การสื่อสารมันแรง เพราะถ้าไม่แรงก็ไม่ได้รับความสนใจ

“คนรุ่นก่อนก็เลยมองว่าก้าวร้าว หยาบคาย มองว่าไม่มีเหตุผลแต่ความจริงแล้ว ถ้ามีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง จะรู้ว่ามีสาระที่จะต้องอธิบาย มีเรื่องเหตุและผลที่ สามารถนำมาพูดคุยหักล้างกัน ทางหนึ่งทางใดหรือทั้ง 2 ทางได้ แต่พอไปติดตรงว่าทำไมก้าวร้าว ทำไมหยาบคายก็จะมีความลังเล เพราะฉะนั้นต้องก้าวข้ามตรงนี้ ก้าวข้ามส่วนที่ 1. ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจเสียก่อนว่า การที่คนคิดต่างก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นศัตรูทะเลาะกัน ก้าวข้ามส่วนที่ 2. ต้องยอมรับว่าเมื่อบางประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาแล้ว แม้จะมีความละเอียดอ่อน ก็ต้องหาพยายามหาวิธีการและเวที ที่สามารถคุยเรื่องเหล่านี้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อกันได้ ก้าวข้ามส่วนที่ 3. คืออาจจะต้องทำใจนิดหน่อยว่า ที่เรามองว่าเป็นเรื่องของความหยาบคายความก้าวร้าว อาจจะเป็นลักษณะการสื่อสารของคนรุ่นนี้”

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า อาจเป็นเพราะปัจจุบันใครๆก็สามารถใช้สื่อได้และเพราะสื่อเยอะไปหมด การได้รับความสนใจจึงเป็นเรื่องยาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรื่องแรงๆเรื่องแปลกๆ จึงได้รับความสนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่เหมือนสิ่งอื่นที่อยู่ในนั้น อย่างไรก็ตามตนยังไม่เห็นสัญญาณ ที่จะมีความพยายามในการจะเชื่อมต่อ ความจริงแล้วไม่ต้องพูดถึงสาระ แต่แค่ลองฟังน้ำเสียงของนายกรัฐมนตรี เวลาพูดถึงเด็กรุ่นใหม่ ก็ชัดเจนแล้วว่ายังไม่สามารถที่จะเปิดใจว่าคุยกันได้ หรือฟังเขาหน่อย

ทั้งนี้คนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ถ้าคนที่มีอำนาจคุยกับเขา เขาก็ต้องคุยเพื่อเรียกร้อง แต่ถ้าคนมีอำนาจไม่เปิดตรงนี้เลย ก็จะไม่ก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ไหน แล้วที่ผ่านมานายกฯก็จะใช้วิธีว่า เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไป หรือเรื่องนั้นก็ให้ไปอยู่ที่สภาไป แต่ความจริงมันไม่ใช่เพราะว่าข้อเรียกร้อง และจุดที่เขาค้างคาใจนั้นหลายส่วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกรอบจะทำหรือไม่ อดีตนายกฯ ตอบว่า ตนชัดเจนอยู่แล้ว ความจริงแล้วการเปิดทางให้มีการแก้ไขและธรรมนูญแบบกว้างขวาง เป็นการสร้างเวทีที่ง่ายที่สุด ในการที่จะให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผ่านมา 3 ปี นับจากปี 2562 เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขและธรรมนูญไม่ได้คืบหน้าเลย ไม่มีการขยับในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นหรือในโครงสร้างที่พูดกันเลย แต่วนไปเวียนมาแล้วก็ถูกมองด้วยว่ามีเล่ห์กลต่างๆ ถึงขั้นว่าต้องผ่านกรรมาธิการ แต่สุดท้ายก็อ้างว่าต้องมีการทำประชามติและตีความกันไปกันมา

เมื่อถามว่า มองอย่างไรในฐานะเป็นทั้งอดีตส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตนายกฯ ตอนนี้ชาวบ้าน มองว่าส.ส.เมื่อเลือกตั้งเสร็จเปิดสภา เรื่องแรกที่ทำ คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แทนที่จะไปแก้ปัญหาของประชาชนก่อน

นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า เรื่องรัฐธรรมนูญอาจจะมีบางฝ่ายบอกว่า ไม่อยากที่จะให้แก้ไขหรือบางคนมองว่าเร่งด่วนหรือไม่ แต่ประเด็นก็คือว่าถ้าตราบใดที่โครงสร้างทางการเมืองไม่เป็นที่ยอมรับคนจำนวนมาก เราไม่พูดว่าเสียงข้างมาก-ข้างน้อยแล้วก็ทำให้เกิดปมความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ อย่างไรเสียการแก้ไขปัญหาของประเทศก็ไม่ราบรื่น และที่น่าเสียดาย คือ ในที่สุดการแก้ไขและธรรมนูญ ทำไปทำมาไปแก้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองเป็นหลัก คือ บัตร 1 ใบหรือ 2 ใบและการคำนวณ ส.ส.อย่างไรมากกว่า ประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาจริงๆ

“แต่ในส่วนของประชาชนนั้น ก็ต้องมีความหวัง โดยพื้นฐานของสังคมและประชาชน ความตื่นตัวเรื่องสิทธิ , เรื่องประชาธิปไตยยังไงก็มีเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนนักการเมืองนั้นก็ต้องมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะสนับสนุนนักการเมือง ที่จะสามารถสะท้อนความต้องการตรงนี้ เข้าไปได้มากที่สุด ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปสิ้นหวัง ต้องพยายามสนับสนุนให้กระบวนการเดินของมันได้”นายอภิสิทธิ์ กล่าว