posttoday

"คณะก้าวหน้า" คิกออฟแคมเปญ "ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น"รณรงค์แก้ รธน.หมวด 14

02 เมษายน 2565

"คณะก้าวหน้า" เริ่ม คิกออฟแคมเปญ "ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น" รณรงค์แก้ รธน.หมวด 14 "ธนาธร - ปิยบุตร" เชื่อหากทำสำเร็จจะระเบิดศักยภาพทางเศรษฐกิจไปทุกพื้นที่

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 65 "คณะก้าวหน้า" เปิดแคมเปญ "ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น" ชวนเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม พ.ศ. .... หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทยอยร่วมลงชื่อตั้งแต่เช้า

นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่คณะก้าวหน้าได้เข้าไปให้คำแนะนำผลักดันโครงการต่างๆ ร่วมกับ 16 เทศบาล ใน 7 จังหวัด, 39 อบต. ใน 18 จังหวัด, สภาชิกสภาในนามคณะก้าวหน้าทุกระดับมากกว่า 200 คน ภายใต้งบประมาณรวมกัน 2,800 ล้านบาทต่อปี และจำนวนประชากร 4 แสนคน คณะก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น ที่เทศบาลตำบลด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ เราผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนในหลักสูตร 3D printing และ coding ในนักเรียนชั้น ป.4 - 6 จำนวน 200 กว่าคน, น้ำประปาที่เราปรับปรุงการทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลอาจสามารถ จนได้รับการยอมรับจากกรมอนามัยว่าเป็นน้ำประปาที่ดื่มได้ ซึ่งในอีกปีข้างหน้า 6 เทศบาลที่มีโรงน้ำประปาของตัวเอง จะได้ใช้น้ำประปาที่ดื่มได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กใน อบต. และเทศบาลของคณะก้าวหน้า มอบหนังสือนิทานให้เทศบาล และกำลังจะมีการจัดอบรมครูในศูนย์เด็กเล็กในเทศบาลและ อบต. ที่ จ.อุดรธานี, การคัดแยกขยะ และเปลี่ยนขยะเป็นสวัสดิการสังคม ผ่านกองทุนฌาปนกิจ, และการนำเทคโนโลยี telemedicine มาใช้เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลศูนย์ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการทำงานของเราจะเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหา เช่น ปัญหาน้ำประปาหลายที่ การแก้ปัญหาต้องลงทุนใหม่ทั้งระบบ บางแห่งต้องใช้งบลงทุน 8 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบลงทุนที่เหลือแค่ 3 ล้านบาทต่อปี จากงบ 40 ล้านบาทต่อปี ปัญหาที่รู้อยู่แล้วว่าจะจัดการอย่างไรแต่กลับไม่มีงบประมาณ อีกตัวอย่างหนึ่ง คือที่ อบต.ท่าสะแก จ.พิษณุโลก เราอยากพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานติดแม่น้ำแควน้อย แต่ อบต.ไม่มีอำนาจ อุทยานในพื้นที่ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องส่งมาที่กรมอุทยานแห่งชาติในส่วนกลาง เพื่อรออธิบดีเซ็นหนังสืออีกหลายเดือน ทั้งที่เป็นโครงการที่สร้างงานสร้างรายได้ ไม่ทำลายป่าไม้ เป็นนโยบายของรัฐ แต่พอจะทำจริงทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการทำ" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คืองบประมาณกองอยู่ที่ศูนย์กลาง มีตัวกลางระหว่างบประมาณกับประชาชนเต็มไปหมด ทั้งราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กว่าที่ความต้องการของประชาชนจะได้รับการตอบสนอง ประชาชนต้องวิ่งเต้นใช้เส้นสาย โดยที่ตัวกลางทั้งหมดไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ขณะที่คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีงบประมาณเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณด้วยตัวเอง ถึงขนาดสามารถทำรถไฟฟ้าและรถบัสในเมืองได้ด้วยตัวเอง ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะมีการกระจายภาษีที่เป็นธรรมและมีอำนาจอย่างแท้จริง การตอบสนองชีวิตของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้น การปลดล็อกท้องถิ่น จึงไม่ใช่แค่เรื่องการตอบสนองชีวิตประชาชนเฉพาะหน้า แต่นี่คือระบบระบอบทางการเมืองที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง แต่ถ้างบกับประชาชนอยู่ใกล้กันได้ ตัวกลางเดียวที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงงบประมาณได้คือบัตรเลือกตั้ง นี่จะตัดตอนตัวกลางทางการเมืองทั้งหมดออกไปจากการเข้าถึงงบประมาณ นี่คือความสัมพันธ์ที่จะทำให้การตอบสนองความเป็นอยู่ประชาชนรวดเร็วขึ้น

นาย ธนาธร กล่าวด้วยว่า การปลดล็อกท้องถิ่นจะอนุญาตให้ประชาชนได้ออกแบบและลงทุนเองได้ว่าเมืองของตัวเองจะเป็นอย่างไร ถ้าเปลี่ยนจากระบบที่เป็นอยู่เป็นแบบนี้ได้จะเป็นการปลดล็อกพลังการผลิตครั้งใหญ่ ทำลายโซ่ตรวจที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของสังคมไทย นี่ไม่ใช่ทางเลือกถ้าเราอยากให้ประเทศไทยพัฒนากว่านี้ วันนี้ครบรอบ 130 ปีการสถาปนารัฐราชการรวมศูนย์ ขอใช้โอกาสนี้รณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น ขอชื่อจากทุกคนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ให้การกระจายอำนาจและปฏิรูปรัฐราชการเป็นไปได้จริง ตนมี 1 คำสารภาพ คือผมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกที่ของประชาชน แต่มี 1 คำสัญญา คือจะทำทุกวิถีทางให้เกิดการปลดล็อกท้องถิ่น เอางบและอำนาจกลับไปให้ทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองให้ได้ และมี 1 คำร้องขอ คือเรื่องนี้ใหญ่เกินที่พวกเราจะทำกันเองได้ เป็นเรื่องอนาคตของประเทศ ของลูกหลานเรา ใครก็ตามที่เห็นด้วย อยากให้มาช่วยกันรณรงค์ ร่วมล่ารายชื่อ อธิบายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจ เป็นพลังแสดงให้สมาชิกรัฐสภาเห็นว่ามีคนจำนวนมากต้องการปฏิรูประบบราชการ ให้สมาชิกรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เราพูดเรื่องการกระจายอำนาจมาหลายทศวรรษ ฝันกันว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะเป็นหมุดหมายสำคัญ แต่สุดท้ายต้องสะดุดลงเพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และถอยหลังถูกรวบรวมศูนย์อีกครั้งเพราะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านมาจนวันนี้ การกระจายอำนาจยังไปไม่ถึงไหน ยิ่งภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีวิสัยทัศน์แบบนี้ก็ยิ่งเป็นการยาก นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญ 3 ประการ คือ1.อุปสรรคเรื่องประวัติศาสตร์ การสร้างรัฐชาติของสยามโดยการใช้อำนาจบังคับและปลูกฝังด้วยประวัติศาสตร์สกุลราชาชาตินิยมที่มีแบบเดียว กดทับประวัติศาตร์ท้องถิ่นและความหลากหลายในพื้นที่ต่างๆ 2. อุปสรรคเรื่องกฎหมาย การสถาปนาให้กระทรวง ทบวง กรม เป็นนิติบุคคลทำให้การปฏิรูประบบราชการเกิดขึ้นได้ยาก นำมาซึ่งความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ไม่สามารถออกแบบกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้ และยังรวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ไปสั่งการและซ้ำซ้อนท้องถิ่น 3.อุปสรรคการเมืองแบบอุปถัมภ์ การที่ ส.ส.ต้องทำพื้นที่ ต้องดูแลประชาชน ทำให้ต้องสังกัดมุ้ง เพื่อที่จะส่งหัวหน้ามุ้งไปเป็นรัฐมนตรีแล้วนำเงินมาสนับสนุน หากเป็นฝ่ายรัฐบาลอาจหางบประมาณมาง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านหากอยากได้อาจต้องผ่อนปรนการตรวจสอบ ขณะเดียวกันท้องถิ่นที่มีงบประมาณจำกัดอย่างในตอนนี้ หากอยากทำอะไรก็ต้องเกรงใจส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพราะท้องถิ่นต้องเขียนโครงการของบประมาณ ยังรวมถึงการต้องเกรงใจองค์กรที่มาตรวจสอบด้วย

นายปิยบุตร กล่าวว่า ข้อเสนอ 13 ประการในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ 1. รับรองหลักการปกครองตนเอง การปกครองแผ่นดินแบบกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.กำหนดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในเรื่องการตั้งใหม่หรือการควบรวม 3.ให้อำนาจหน้าที่บริการสาธารณะเป็นของท้องถิ่นทุกเรื่อง ยกเว้นที่กฎหมายกำหนดไว้ อาทิ การทหาร, การต่างประเทศ 4.กำหนดให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นตัวเสริม ท้องถิ่นที่ไม่มีศักยภาพสามารถร้องขอได้ 5. แบ่งอำนาจท้องถิ่นในแต่ละชั้นให้ชัดเจน ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กมีอำนาจทำบริการสาธารณะก่อน เพื่อแก้ปัญหาแย่งกันทำ 6.ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 7. มีความเป็นอิสระทางการเงินกลางคลัง และภายใน 3 ปี จะขยับการจัดแบ่งภาษีเป็น 50 % ต่อ 50 % และมีกฎหมายให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ ได้ 8.แผนการโอนภารกิจต่างๆ ต้องมีสภาพบังคับ หากทำไม่ได้ตามที่กำหนดให้ถือว่ามีผลทันที 9. เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับท้องถิ่นในการจัดหารายได้ สามารถคิดค้นวิธีการรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ 10.ยืนยันหลักความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคล 11. หลักการกำกับดูแล โดยส่วนกลางทำได้เพียงกำกับดูแลไม่ใช่บังคับบัญชา และทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ท้องถิ่นหรือภาพรวมของประเทศ 12. เพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง ให้อำนาจอยู่ในมือพลเมืองในแต่ละท้องถิ่นโดยสามารถเสนอและถอดถอนผู้บริหารได้ และ 13. ภายใน 2 ปี คณะรัฐมนตรีต้องเริ่มทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 5 ปี ต้องออกเสียงประชามติว่าประเทศไทยจะมีราชการส่วนภูมิภาคต่อไปหรือไม่

"เราจะนำทั้ง 13 ข้อนี้ ไปปรับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอการสนับสนุนจากประชาชนเพื่อเข้าชื่อ และเสนอเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาต่อไป หากเราทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ 1. ต่อไปรัฐบาลจะทำในสิ่งที่เป็นภาพรวมของประเทศ ไม่เสียเวลาไปกับการจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่น 2. การกระจายอำนาจแบบ คสช.ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปครองเมือง ส่งคนใกล้ชิดไปกินเมืองจะหมดไป และเกิดการกระจายอำนาจแบบอนาคตใหม่ ที่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าในพื้นที่ตนจะเป็นอย่างไร 3.การคอรัปชั่นจะลดลง เพราะประชาชนนั้นอยู่ใกล้ท้องถิ่น จะช่วยกันสอดส่อง ตรวจสอบ 4. เกิดการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจไปทั่วทุกพื้นที่ 5. ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เกิดคนรุ่นใหม่เสนอตัวเป็นนักการเมืองท้องถิ่น 6.การแก้ไขปัญหาประชาชนจะเกิดขึ้นแบบทันท่วงที และ 7. เราจะได้เมืองสมัยใหม่ เมืองที่มีเทคโนโลยี ที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ได้" นายปิยบุตร กล่าว

นาย ปิยบุตร กล่าวว่า วันที่ 1 เมษายน 2535 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาค เป็นจุดเริ่มต้นเกิดกระทรวงมหาดไทย ที่ส่งคนของตัวเองไปกินเมืองต่างๆ แต่วันนี้ 1 เมษายน 2565 ขอให้เป็นจุดเริ่มต้นการทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอิสระ มีอำนาจ มีงบประมาณ มีการบริหารงานบุคคลเป็นของตัวเอง เพื่อบริหารงานท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ทุกวันนี้ เสมือนมีก้อนหินมหึมาทับอยู่ทั่วประเทศไทย หากเรายกก้อนหินนี้ออก แล้วเอาอำนาจไปให้ท้องถิ่น หากยกออก เอาอำนาจไปให้กับท้องถิ่น ท้องถิ่นจะระเบิดอำนาจอย่างเต็มพิกัด ขนาดว่ามีก้อนหินทับอยู่หลายที่ ท้องถิ่นยังแสดงผลงานได้ดีเป็นอย่างยิ่ง แล้วถ้าหากประชาชนในทุกๆ พื้นที่ร่วมกันยกก้อนหินที่ทับศักยภาพอยู่นี้ออกไป เราจะเกิดดอกไม้บานสะพรั่งทั่วแผ่นดินไทย ดอกไม้ที่หลากหลายสีบาน แต่ก็รวมกันในชื่อประเทศไทยได้ ขอแรงพี่น้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 ขอคนละชื่อเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น