posttoday

"จตุพร"ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวคดีชุมนุมบ้านสี่เสาฯ

12 ตุลาคม 2564

"จตุพร" ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว คดีชุมนุมบ้านสี่เสาฯ หลังยื่นประกันศาลอาญา 2 รอบแล้ววืด รอลุ้นคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้-ไม่ให้

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ทนายความของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ยื่นคำอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายจตุพร หรือตู่ ประธาน นปช. ที่ตกเป็นจำเลยที่ 1 คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 คดีชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เมื่อปี 2550

โดยคดีดังกล่าว พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนายจตุพร และ และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.57 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่ยวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธฯและต่ออสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยศาลอาญา มีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ก.พ.2565

ทั้งนี้ปัจจุบันนายจตุพร ประธาน นปช. ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รับโทษจำคุกคดีอาญาหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค.64 ที่ผ่านมา นายจตุพร ที่ตกเป็นจำเลยที่ 1 คดีชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญา

ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีคดีที่จำเลยทั้งสองขอให้คดีนี้รอฟังผลคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นข้อร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีอื่นมาแล้ว หากให้ปล่อยชั่วคราวไปอาจหลบหนีได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่ในขณะนี้ การปล่อยชั่วคราวในคดีนี้จึงย่อมไม่เป็นประโยชน์ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ให้ยกคำร้อง

ต่อมาวันที่ 11 ต.ค. 64 จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่อีกครั้ง โดยศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ขณะนี้จำเลยยังต้องขังอยู่ กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

โดยวันนี้ (12 ต.ค.) จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งศาลอาญาจะดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป