posttoday

ปชป.ชงเทียบบัญญัติไตรยางค์คำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

23 กันยายน 2564

ปชป.ขอ14วันยกร่างแก้กม.ลูกเลือกตั้งสส.ประชุมนัดแรก24ก.ย.64 เล็งคำนวณบัญชีรายชื่อ "Primary vote"

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.64 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษารวบรวมข้อมูลในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ว่า วันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.64) พรรคจะมีการประชุมคณะทำงานเป็นนัดแรก โดยจะพูดคุยว่าจะแก้ไขกฎหมายลูกดังกล่าวอย่างไรบ้าง ประกอบกับจะต้องคอยติดตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยว่าจะยกร่าง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไร

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขครั้งล่าสุด ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ มีแต่เพียงกำหนดว่า การคํานวณส.ส.บัญชีรายชื่อต้องสัมพันธ์กันกับจำนวนส.ส. เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรครวมกันทั้งประเทศ มี 40 ล้านคะแนน ก็จะต้องนำส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ไปหาร ผลลัพธ์ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องใช้ 4 แสนคะแนน จากนั้นจึงนำไปเทียบบัญญัติไตรยางค์กับคะแนนของแต่ละพรรคได้ต่อไป เป็นต้น

ถามย้ำว่าการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำจะทำให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ นายราเมศ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องพูดคุยหารือกัน ทั้งนี้ คาดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวลาประมาณ 14 วันในการยกร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส. หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ นับจากที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เว้นว่างไว้ 15 วัน หรือจะครบกำหนดในวันที่ 26 ก.ย. นี้

นอกจากนี้ นายราเมศ เปิดเผยอีกว่า คณะทำงานจะได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอีกด้วย ในประเด็นการทำ Primary Vote พรรคยืนยันให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมและการกำหนดตัวแทนพรรคประจำจังหวัด โดยมีแนวโน้มว่า อาจจะกลับไปเป็นเหมือนตอนการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อปี 62 กล่าวคือ หนึ่งจังหวัดอาจจะมีการพูดคุยแนวทาง เช่น เป็นไปได้หรือไม่ ให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก็พอ โดยให้มีอำนาจทุกเขตเลือกตั้ง และอาจไม่จำเป็นต้องทำ Primary Vote แต่เปลี่ยนเป็นการรับฟังความคิดเห็นสมาชิกพรรคในการส่งตัวแทนผู้สมัคร ส.ส. เท่านั้น และในส่วนของการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็เช่นกันที่ดูจะขัดแย้งกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองแต่ปรากฏว่ากฎหมายได้บังคับให้มีการชำระค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาทหรือตลอดชีพปีละ 2000 บาท ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคกับพี่น้องประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองประเด็นนี้ก็จะมีการหยิบยกมาพูดคุยพิจารณาเช่นกัน