posttoday

รัฐจัดหน่วยฉีดวัคซีนช่วยกลุ่มเปราะบาง-คนไร้บ้าน

19 กันยายน 2564

รัฐบาลมุ่งเป้าช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบาง-คนไร้บ้าน ตามนโยบายรัฐฯ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จัดหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนและกทม.

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าของศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและความยากลำบาก จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ครอบคลุมทั่วทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียงและประสบปัญหาทางสังคมทั่วประเทศ แล้ว ตั้งแต่ 28 ก.ค. - 30 ส.ค. 64 รวมจำนวน 66,048 ราย

แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 8,670 ราย ส่วนภูมิภาค 57,378 ราย ประกอบด้วย 1. เด็กและเยาวชน 11,489 ราย 2. คนพิการ 14,842 ราย 3. ผู้สูงอายุ 9,697 ราย 4. ผู้ป่วยติดเตียงและป่วยเรื้อรัง 1,153 ราย 5. คนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่ง 2,355 ราย 6. สตรีตั้งครรภ์ 126 ราย และ 7. ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่น ๆ 26,386 ราย ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครยังเดินหน้าฉีดวัคซีนเชิงรุกด้วยหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่กรุงเทพมหานคร (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ตั้งแต่ 10 ก.ย. 64 ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในชุมชน และพื้นที่บริเวณรอบกรุงเทพมหานคร มุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ คนพิการ รวมถึงคนไร้บ้าน ที่ได้ร่วมสำรวจกับเครือข่าย มีประมาณ 1,200-1,500 คน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19

นางสาวรัชดา ยังเผยว่าขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด – 19 “ซิโนฟาร์ม” จากสภากาชาดไทย จำนวน 100,000 โดส โดยจะร่วมกับสำนักอนามัย และกรุงเทพมหานคร จัดตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนในชุมชน และจัดชุดบริการเคลื่อนที่สำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเป็นการดำเนินการเชิงรุก ตามความมุ่งหวังของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนตกหล่น ให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

ทั้งนี้ หากประชาชนกลุ่มเปราะบางที่กำลังประสบปัญหาทางสังคมและได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง 2) สายด่วนคนพิการ โทร. 1479 บริการ 24 ชั่วโมง 3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่