posttoday

"เรืองไกร"ส่งหนังสือเตือนนายกฯ ชี้มติครม.เรื่องดาวเทียมอาจขัดรธน.

08 กันยายน 2564

"เรืองไกร" ส่งหนังสือแจ้งเตือนนายกฯทบทวนมติ ครม.แก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและรธน. หรือไม่

เมื่อวันที่ 8ก.ย. 64 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 เปิดเผยว่า ในฐานะที่เคยตรวจสอบเรื่องเดิมเกี่ยวกับสัมปทานดาวเทียม ซึ่งหลายคดีที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 การแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญใน 2 กรณี ประกอบด้วย

1.กรณีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) ครม.เห็นชอบให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ 2.กรณีดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ครม.เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา ทั้งนี้ ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

นายเรืองไกร กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตราที่เกี่ยวข้อง ด้วย แต่จากการพิจารณาศึกษาข้อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง มีประเด็นว่า มติ ครม.อาจขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และมติ ครม.ดังกล่าวซึ่งมิใช่กฎหมาย การอาศัยเพียงประกาศของคณะกรรมการ กสทช. อาจหาเพียงพอไม่ มติ ครม. ครั้งนี้ ยังอาจส่อไปในทางเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. 2562 หมวด 6 อีกด้วย

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เพื่อให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดพลาดเหมือนรัฐบาลในอดีต ซึ่งรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้ เคยร่วมกระทำผิดจนตกเป็นจำเลยมาแล้ว กรณีจึงมีเหตุที่ควรแจ้งเตือนนายกรัฐมนตรี ให้ทราบ อีกทั้งเรื่องนี้ มีรายละเอียดมาก ความไม่รอบคอบ และเร่งรีบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐตามมาได้ จึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกฯ เพื่อขอให้พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบก่อนว่า มติ ครม.วันที่ 7 กันยายน 2564 เกี่ยวกับการแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมนั้น ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือไม่