posttoday

ศาลฎีกาจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา 3 อดีตแนวร่วม พธม.

31 สิงหาคม 2564

ศาลฎีกา พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญาอดีตแนวร่วม พธม. "ไชยวัฒน์-อมร-เทิดภูมิ" ผิด ม.116 ชุมนุมดาวกระจายปี 51 ขับไล่รัฐบาลสมัคร

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 31 ส.ค.64 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีกลุ่มพันธมิตร ฯ ชุมนุมดาวกระจาย ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 9 แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในคดีหมายเลขดำ อ.3973/2558

โดยจำเลยที่ยื่นฟ้อง 9 คน ประกอบด้วย

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี , นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี , นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 68 ปี , นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 61 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 76 ปี เป็นจำเลยที่ 1-9

ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , 215 , 216

โดย อัยการโจทก์ ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า วันที่ 25 พ.ค.51 จำเลยทั้งเก้า จัดชุมนุมใหญ่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร เขตพระนคร กทม. โดยใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ จำนวน 5 คัน เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ไปตาม ถ.ราชดำเนิน มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วปิดการจราจร ถ.ราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ ไปจนถึงสี่แยก จปร. จัดเป็นที่ชุมนุมประท้วง จนถึงวันที่ 5 ต.ค.51 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ โรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนาม กั้น ถ.ราชดำเนินนอก ห้ามบุคคลเข้า-ออกบริเวณที่ชุมนุมตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือเช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ “ดาวกระจาย” โดยใช้รถบรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ , สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

นอกจากนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งอดีตแกนนำ พธม.ทั้ง 9 คนให้การปฏิเสธพร้อมต่อสู้คดี

ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 เห็นว่า การกระทำก่อให้เกิดความผิดที่โจทก์ฟ้องพล.ต.จำลอง, นายสนธิ, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์, นายสุริยะใส จำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับความผิดซึ่งโจทก์ฟ้องไว้ในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 (บุกรุกทำเนียบรัฐบาล) ที่เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โจทก์จึงนำการกระทำในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษอีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1-6

ส่วนนายไชยวัฒน์ จำเลยที่ 7, นายอมรหรือรัชต์ยุตม์ จำเลยที่ 8 และนายเทิดภูมิ จำเลยที่ 9 ศาลเห็นว่ามีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่ให้รอการกำหนดโทษ (ตัดสินว่ามีความผิดแต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราการลงโทษ)

ส่วนในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลมีคำพิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 7,8,9 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิดตามฟ้อง โดยการชุมนุมของกลุ่ม พธม. ก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ

ต่อมาอัยการโจทก์ ได้ยื่นฎีกา

โดยวันนี้ จำเลยมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา

ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกา เห็นว่า คำฟ้องส่วนที่อัยการโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีการชุมนุม (บุกรุกทำเนียบรัฐบาล) หมายเลขแดง อ.1877/2558 และหมายเลขแดงอ.1878/2558 ที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 อีก ถือว่าเป็นคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้

ขณะที่ในส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ได้ร่วมกันจัดชุมนุมมีการปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมบนถนนที่มีการปิดกั้นการจราจร โดยการชุมนุมยกระดับมีจุดมุ่งหมายจะขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ประชาชนใช้กำลังบุกยึดพื้นที่ของรัฐที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามความผิดมาตรา 215 แล้ว และถือเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด ฯ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงเป็นความผิดตามมาตรา 116 ด้วย และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเจรจากับจำเลยที่ 7-9 ขอให้ยุติการชุมนุมแต่ไม่เลิก การกระทำนั้นจึงเป็นความผิดตามมาตรา 216

ศาลฎีกา จึงพิพากษาแก้เป็นว่า นายไชยวัฒน์ จำเลยที่ 7, นายอมรหรือรัชต์ยุตม์ จำเลยที่ 8 และนายเทิดภูมิ จำเลยที่ 9 มีความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามมาตรา 116 (2) (3) ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกคนละ 1 ปี โดยทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 7-9 คนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว นายไชยวัฒน์ จำเลยที่ 7, นายอมรหรือรัชต์ยุตม์ จำเลยที่ 8 และนายเทิดภูมิ จำเลยที่ 9 ไปคุมขังที่เรือนจำเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วต่อไป