posttoday

วงเสวนาวิชาการแนะรัฐอย่าปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นปมแก้โควิด

23 กรกฎาคม 2564

นักวิชาการ ภาคประชาชนแนะรัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำความเข้าใจให้ข้อมูลประชาชน อย่าปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นปมแก้โควิด

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 “เมื่อความหวาดกลัวของประชาชนคือภัยในสายตารัฐ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน และกฎหมายมาร่วมให้ความเห็น

รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีประกาศออกข้อกำหนดตามมาถึง 28 ฉบับ ซึ่งในข้อกำหนดทั้งหมดมีข้อกำหนดฉบับที่ 1 และ 27 เขียนถึงการห้ามเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ จึงเป็นที่มาของการเสวนาในครั้งนี้ โดยสรุปใจความของข้อกำหนด ฉบับที่ 1 คือ การเผยแพร่ข่าวสารอันไม่เป็นความจริง ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเตือนให้ระงับและแก้ไขข่าว และสามารถดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทบความผิดทางคอมพิวเตอร์ ถ้าเรื่องนั้นไม่เป็นความจริงและทำให้เกิดความหวาดกลัวให้เจ้าหน้าที่ระงับ และเอาผิดทางกฎหมายได้ จนกระทั่งฉบับที่ 27 ที่ต่างจาก ฉบับที่ 1 ตรงที่ ถ้าเป็นความจริงที่มีข้อความอันทำให้เกิดความหวาดกลัวก็อาจผิดได้

“หากลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่า 10 ก.ค.มีการประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 อีกสองวันต่อมามีการให้สัมภาษณ์รองนายกฯว่าถ้าข่าวที่ออกมาเป็นข้อเท็จจริงก็เสนอได้ ถัดมาอีก 3 วัน องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ให้ทบทวนเพราะมีปัญหาเรื่องดุลยพินิจ อย่างเรื่องความกลัว ต่อมามีการประกาศฉบับที่ 28 ต่อมาก็เกิดกระแสคอลเอาท์ ตามมาด้วยการออกมาบอกว่าการเคลื่อนไหวของศิลปินและอินฟูลเลนเซอร์เป็นการผิดกฎหมาย เวทีนี้ต้องการมาคุยกันว่า ข้อกำหนดที่ออกมา มีผลทั้งทางสังคมและการสื่อสารอะไรบ้าง”

ด้านอาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขอเจาะที่ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อสารมวลชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษ ในการออกข้อกำหนดมาจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เรื่องที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ คือ ฉบับที่ 1 กับ 27 ข้อกำหนดฉบับที่ 27 มีความกว้างของบทบัญญัติและอาจเกิดปัญหาในการตีความ เพราะการใช้ถ้อยคำที่กว้างมากทำให้มีการเอาข้อกำหนดไปใช้กับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกับสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง แต่ไปห้ามการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล การออกข้อกำหนดโดยหลักการควรจะมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ข้อกำหนดที่เขียนเป็นการลอกมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้ถ้อยคำกว้างๆ ทำให้ตีความไปได้หลายแบบ ตัวข้อกำหนดยังไม่กำหนดขอบเขตให้ชัดถึง ช่องทางในการเผยแพร่ ที่ระบุถึง การเผยแพร่ใน “สื่ออื่นใด “ ที่อาจหมายรวมถึงสื่อโซเชียล หรือดิจิทัล สิ่งที่เป็นประเด็นและเป็นปัญหามีการใช้คำว่า ที่มีข้อความที่ทำให้เกิดความกลัว โดยไม่ได้ระบุว่า ข้อความ เป็นข้อความที่เป็นเท็จ หรือข้อความที่เป็นจริง

“คำที่มีความหมายกว้างทำให้กินความได้ทั้งความจริงและความเท็จ การเขียนกฎหมายเพื่อใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรใช้ถ้อยคำที่กว้างขนาดนี้ การที่เปิดถ้อยคำทางกฎหมายที่กว้างอาจทำให้เกิดการใช้กฎหมายโดยบิดเบือนมากขึ้น มาตรการแบบนี้อาจะนำไปใช้ในการสร้างการผูกขาดช้อมูลหรือปิดกันข้อมูลที่รัฐไม่อยากให้รู้ ผลของข้อกำหนดทำให้ให้เห็นว่ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการทางอาญามาจัดการกับการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์”

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูดการเขียน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีลักษณะไปจำกัดสิทธิมีจุดมุ่งหมายป้องกันการระบาดและสกัดกันการระบาด ดังนั้นการใช้เครื่องมืออะไรของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการระบาดและสกัดกั้นการระบาด การห้ามเผยแพร่ข้อความมันไปช่วยสกัดกันการระบาดยังไง รัฐกำลังใช้ความหวาดกลัวในการจัดการโรคระบาดมากเกินไป แม้การออกประกาศอะไรก็ตามออกมาแม้จะออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐควรใช้มาตรการที่กระทบสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด ยังมีมาตรการอื่นที่ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภาพคนเสียชีวิตกลางถนนทำให้คนเกิดความกลัวระมัดระวังตัวมากขึ้น การเสนอภาพเหล่านี้ออกไปมันไปสกัดกันการระบาดตรงไหน การตีความกฎหมายเพื่อนำมาใช้ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ของกฎหมาย และต้องตีความให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ดังนั้นควรตีขอบให้แคบและจำกัดให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อจัดการกับการระบาดที่สุดมากกว่า

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw กล่าวว่า ข้อกำหนดทั้ง 28 ฉบับ คือ ระบบกฎหมายที่เราต้องเผชิญในตอนนี้ เป็นข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อ่านยากมาก วิธีการอ่านให้เข้าใจต้องอ่านหลายฉบับประกอบกัน หากอ่านฉบับเดียวไม่มีทางเข้าใจ การทำความเข้าใจข้อกำหนดฉบับที่ 27 ต้องอ่านย้อนตั้งแต่ฉบับ 1 ถึง 26 สถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้รัฐสามารถกฎหมายที่มีอยู่จัดการกับสถานการณ์ได้ แต่รัฐกลับสร้างเครื่องมืออีกชิ้นเข้ามาดูแลสถานการณ์ แม้ไม่มีข้อกำหนดฉบับที่ 27 เราก็มีกฎหมายอื่นที่มาจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ถ้ามีการเสนอข่าวเท็จที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว สามารถใช้บทบัญญัติมาตรา 14 (2) จัดการได้ข้อกำหนดข้อ 11 ไม่ต้องมีก็ได้ ประเทศไม่ได้ล่มสลายอะไร

“ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 เป็นระบบกฎหมายที่สับสน ที่เรามีกฎหมายแบบนี้ได้เพราะเราใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะอ้างว่ามีคามจำเป็นเร่งด่วนต้องทำทันที แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี ควรจะทบทวนหรือเขียนกฎหมายออกมาใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ไม่ใช่เอามากฎหมายที่ใช้บังคับในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินระดับที่มีสงครามเกิดขึ้นมาใช้ ถ้าตั้งหลักกันได้ควรกลับไปใช้กฎหมายที่มีมาจัดการสถานการณ์”

ขณะที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact Thailand กล่าวว่า ในมุมของประชาชน ความตื่นตระหนกมันไปไกลมาแล้ว ถ้ารัฐบาลจะออกประกาศอะไรออกมาให้ประชาชนตื่นตระหนกน้อยลงคงทำอะไรไม่ได้ ลึกๆ คนอาจจะหมดแรงกับการตื่นตัว และประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์มันเกินกว่าจะตื่นตระหนก แต่กลับมาดูแลตัวเองว่าจะจัดการอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีประสบการณ์ จนเป็นความจริงเชิงประจักษ์ของตัวเอง สิ่งที่อยากบอกคือ การแสดงออกเป็นความรู้สึกของประชาชนที่เขาประสบแล้วเข้าต้องการแสดงออก สถานการณ์ปัจจุบันคนอาจจะดูเฉยๆ แต่จริงๆ มันคือความอึ้ง กับสถานการณ์ การจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐมันผิดพลาดมาโดยตลอด ในสถานการณ์แบบนี้ ประชาชนยอมให้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษได้ แต่ควรเป็นวิธีที่ส่งตรงถึงประชาชนโดยตรงทันที ทันท่วงที สิ่งที่เกิดขึ้นกลับการเป็นว่า เรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องจริงจังไม่มีการประกาศให้ชัดเจน ประกาศสำคัญมักมีการประกาศในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ หรือกลางดึก ซึ่งประชาชนไม่ได้ต้องการแบบนั้น

ผลของความไม่ชัดเจน คือ ความโกลาหลเชิงข่าวสาร ทำให้เกิดความปั่นป่วน ปัญหาเกิดตรงไหนควรแก้ตจรงตั้ง การแสดงออกถึงความกลัวในกรณี ควรใช้ความจริงนำทาง หัวใจสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดความกลัว คงไม่ใช่การออกกฎหมายบังคับไม่ให้แสดงความคิดเห็น แต่ควรจะเป็นวิธีการทำให้คนรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันข่าว ไม่ใช่ออกกฎหมายมาควบคุมการเสนอข่าว ถ้ารัฐเห็นความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมรัฐควรทำแคมเปญรณรงค์ไปเลย การเอากฎหมายมาปิดปากไม่ใช่ทางออกที่จะสู้กับข่าวในโซเชียล ทางออกที่ดีคือที่ประเทศอื่นทำกันถ้าคิดว่าข่าวในโซเชียลมีปัญหาคือ ทำSocialmedia Distansing ถ้าเราต้องการข้อเท็จจริง เราต้องการเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น “ยิ่งปิดกั้นเท่าไหร่คนก็ยิ่งอยากแสดงออกยิ่งอยากรู้ ถ้าไปปิดกันก็ยิ่งกระทบกับความน่าเชื่อถือ กฎหมายควรเป็นเครื่องมือปกป้องผู้ถูกกระทำ ผู้มีอำนาจต้องมีความอดทน เพราะอยู่ในบทบาทในการก้ไขปัญหา การมีคนมาวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ควรไปแก้ปัญหาแล้วให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้จะดีกว่า การแสดงออกมาอย่างที่สุดโต่ง แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีทางออกการไปปิดกั้นจะยิ่งทำให้เกิดแรงต้านขึ้นในสังคม รัฐความทำ Open data Open Government ไปเลย”

ส่วน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ ควรทำความเข้ากับประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลับมาดูประเทศไทย ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อประชาชนน้อยลง พอมาชี้แจงแล้วประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย กลับมีการใช้ปิดกันการแสดงความคิดเห็น วิธีการกำกับของรัฐใช้กฎหมายสูงสุด ในระหว่างทางมีการขู่ตลอดเวลา ขอนิยามสถานการณ์ในช่วงนี้ว่า การจัดการความหวาดกลัวของรัฐบาลด้วยการกำกับสื่อในยุคดิจิทัล การออกข้อกำหนดที่28 แม้สื่อจะไม่มีอาการออกแต่เชื่อว่าในกองบรรณาธิการ คงต้องมีกระบวนการในเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

“ข้อกำหนดที่รัฐบาลประกาศสร้างความหวาดกลัวให้กับทั้งสื่อและประชาชน มันสะท้อนให้เห็นว่า เสียงประชาชนยังเป็นเสียงที่ดังและมีพลัง สามวันที่ผ่านมา มีคอลเอาท์ กับเฟคนิวส์ ในฐานะนักวิชาการ รู้สึกว่าท่าทีของรัฐกำลังใช้วิธีการกำกับที่ไม่ประสบความสำเร็จ สมัยก่อนพอมีการปฎิวัติจะมีการเชิญสื่อไปรับฟังแนวทางในการเสนอข่าว พอมีอินฟูลเลนเซอร์ เข้ามาล่าสุดหลังประกาศฉบับที่ 28 มีการเชิญอินฟูเลนเซอร์ไปฟังด้วย”

ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวสรุปว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐคือเรื่องการสื่อสาร ถ้ารัฐปรับท่าทีอย่ามองว่าสื่อหรือประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามทุกอย่างจะดีขึ้น เราต้องยอมรับว่าวันนี้ภาคประชาชนเข็มแข็งขึ้นมาก ขอยืนยันว่า การคอลเอาท์ไม่ใช้สิ่งที่ผิดแต่เป็นวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่มองว่ายังเป็นประเด็นที่ยังไม่ยุติธรรมเพื่อนพไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะนำไปสู่การเป็นนโยบายทางสังคมเกิดขึ้น อยากให้รัฐเข้าใจและทำความเข้าใจอย่าไปมองว่าคนที่เคลื่อนไหวกำลังทำความผิด