posttoday

ร้องDSIตรวจสอบก่อสร้างรถไฟไทย-จีน อ้างสอดไส้รางเก่า

05 กรกฎาคม 2564

"ศรีสุวรรณ" หอบหลักฐานร้องดีเอสไอ ตรวจสอบก่อสร้างรถไฟไทย-จีน มูลค่า 1.7 แสนล้านสอดไส้รางเก่า 48 ท่อนตบตาผู้ตรวจสอบจีน เผยบริษัทที่ปรึกษาจีนแจ้งผู้จัดการฯรฟท.แล้ว แต่เรื่องยังเงียบ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่ออธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมี ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ผอ.กองคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีการแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้ผู้รับเหมาแต่ละสัญญากำลังดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา โดยมีบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศจีนร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด แต่จากการตรวจสอบบางสัญญาพบความผิดปกติในการก่อสร้างและการดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามข้อสัญญาการจ้าง (ทีโออาร์) หลายจุด อาทิ สัญญาที่ 2-1 งานโยธาระหว่างช่วงสี่คิ้ว-กุดจิก ใกลัสถานีรถไฟโดกสะอาด เป็นงานย้ายรางเก่าออกให้พ้นทางแนวรางความเร็วสูง และก่อสร้างแนวรางใหม่ ซึ่งต้องใช้รางใหม่ที่ผลิตในปี 2019 ทั้งหมด แต่พบว่ามีการสอดไส้นำรางเก่าที่ผลิตในปี 2013 และปี 2014 มาใช้สลับแทนในบางจุดเพื่อตบตาผู้ตรวจสอบ

โดยเบื้องต้นพบว่ามีการนำรางเก่ามาใช้ในจุดที่Sta.3+513 ไปจนถึงจุด 4+113 รวมทั้งหมด 48 ท่อน แยกเป็นปี 2013 จำนวน 28 ท่อน (PZH2013) และรางเก่าปี 2014 จำนวน 20 ท่อน(BISG2014)

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การสอดใส้นำรางเก่ามาใช้แทนจะทำให้ผู้รับเหมาประหยัดเงินไปได้จำนวนมาก อีกทั้งระยะทางการก่อสร้างก็สั้นกว่าที่ระบุในสัญญา ซึ่งปัญหาดังกล่าวทราบมาว่าทางบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศจีนได้ตรวจพบแล้ว และได้ทำหนังสือรายงานไปยังผู้จัดการโครงการฯ ของ รฟท.แล้ว แต่เรื่องกลับเงียบผิดสังเกต นอกจากนี้ ยังพบการก่อ สร้างอาคารสำนักงานจำนวน 3 อาคารที่ อ.ปากช่อง มีการก่อสร้างเกินแบบแปลงที่กำหนด จากพื้นที่ใช้สอย 1,550 ตร.ม. กลับเพิ่มเป็น 1,940 ตร.ม. ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ค่าบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีฉนวนกันความร้อนบนผ้าเพดาน ซึ่งไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด

ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารก็มีการจัดซื้อจัดหาในราคาที่แพงกว่าราคาตลาดหลายเท่ามาก รวมถึงยังพบข้อพิรุธอื่นๆ อีกมากมาย ตนจึงนำหลักฐานมาร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบว่าโครงการรถไฟไทย-จีน มีการทุจริตหรือไม่ หากพบความผิดและมีผู้เกี่ยวข้อง ขอให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป

ร.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบ และพร้อมให้ความเป็นธรรมโดยจะเร่งพิจารณาวว่าเรื่องดังกล่าวเข้าเงื่อนไขที่จะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่