posttoday

173เรื่องสำเร็จแค่10% ชำแหละผลงานตามยุทธศาสตร์ชาติปี63ล้มเหลว

04 กรกฎาคม 2564

"ศ.ดร.กนก"ชี้ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติปี 63 ล้มเหลว เหตุ ปล่อยราชการนำรัฐ ขาดความเข้าใจปัญหาประชาชน จัดงบไม่ตอบโจทย์ชาวบ้าน ชี้ 173 เรื่อง สำเร็จแค่ 10 %

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2563 และรายงานการสรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 ที่มีการนำเสนอต่อสภาว่า จากรายงานทั้ง 2 ฉบับพบว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์และ แผนปฏิรูปประเทศนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก

ประเด็นแรก คือ การจัดทําแผนงานโครงการ ขาลง หมายความว่า ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาตินี้ เราก็มาจัดทำแผนปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ แล้วก็จากแผนปฏิรูปประเทศเราก็ไปจัดทำแผนงานโครงการของส่วนราชการที่ปรากฏออกมาในงบประมาณรายจ่ายประจำปี กลายเป็นราชการกำหนดรัฐ แทนที่จะเป็นรัฐกำหนดราชการให้ไปปฏิบัติ การจัดงบประมาณรายจ่าย ยังอยู่ในกรอบราชการที่ขาดความเข้าใจต่อปัญหาของประชาชน

ประเด็นปัญหาที่สำคัญก็คือ สำนักงบประมาณ ไม่สามารถจัดทำงบประมาณที่ตอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศได้ สิ่งที่สำนักงบประมาณทำเป็นเพียงการจัดทำงบประมาณตามเรื่อง ตามประเด็นที่แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศให้บอกไว้เท่านั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามเป้าหมายอย่างมีเหตุมีผล เพราะฉะนั้นแผนปฏิรูปประเทศจึงไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ เช่น เป้าหมายทางด้านความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศกว้างขึ้นตลอดเวลา ความยากจนสูงมากขึ้นตลอดเวลามันสวนทางกับเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังชี้ด้วยว่า แผนงานปฏิรูปประเทศ 173 เรื่อง ในปี 2563 ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่ประมาณ 45-50% ที่ ที่เรียกว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จแต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายมีประมาณ 50% แต่ถ้าจะพูดถึงว่าสำเร็จจริง ๆ นั้นก็มีเพียงประมาณไม่ถึง 10% โดยมี4 สาเหตุที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จคือ

1. ขาดการวิเคราะห์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภายใต้กรอบแนวคิดเป้าหมายของ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ยิงตรงไปที่ปัญหาของประชาชน

2. ส่วนราชการไม่ได้นำปัญหาจริงของประชาชนเป็นโจทย์เพื่อจัดทําคําของบประมาณ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศของเรา เราใช้เงินปีละหลายล้าน แต่เงินหลายล้านล้านนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน เป็นการตอบตามความคิดของข้าราชการประจำแทน

3. สำนักงบประมาณเห็นชอบโครงการและแผนงานของส่วนราชการตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ไว้ ซึ่งกรอบที่คณะรัฐมนตรีให้ไว้ก็เป็นกรอบใหญ่ ๆ แต่ไม่ได้ตอบถามปัญหาจริงประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้งบประมาณที่ใช้จึงไม่ได้ตอบปัญหาของประชาชน แล้วก็ไม่ได้ตอบทั้งเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ

4. สำนักงบประมาณนำแผนงานโครงการที่ได้รับการอนุมัติ จัดเข้ากรอบโครงการของยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ที่เราเห็นในรายงานคือการนำเข้ามาวางในกรอบยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้นเอง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเลย มันเกี่ยวกับสิ่งที่ข้าราชการประจำมองเห็นและสำนักงบประมาณจัดให้ดู เป็นโวหารที่ไม่ใช่ความเป็นจริง

“ผมมีข้อเสนอเพื่อให้การจัดงบประมาณตอบโจทย์การแก้ปัญหาประชาชน ต้องกำหนดค่า KPI ที่อยู่ในโครงการตามแผนงานของพ.ร.บ.งบประมาณว่าเกิดผลสำเร็จแค่ไหน อย่างไร เพื่อเป็นเครื่องชีวัดว่าในแต่ละปีควรจัดสรรงบประมาณแบบเล็งเห็นผล ไม่ใช่จัดแบบหว่านแห หรือทำตามความเคยชิน แต่ในขณะนี้เราไม่มีการประเมินความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการใช้เงิน 3 ล้านล้านหรือมากกว่า บวกกับเงินกู้อีก"

"สิ่งเหล่านี้เป็นจุดบกพร่องที่สำคัญของระบบงบประมาณและระบบบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งและเป็นเหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้แผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ประสบความสำเร็จ จึงควรให้สตง.เข้ามาทำการตรวจผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิรูปประเทศ (Performance Audit) เพราะวันนี้ไม่มีใครทำ ที่สำคัญคือสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสตง.ควรทำงานเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำและสภาพัฒน์ฯ ต้องทำงานในเชิงรุก อย่าวางบทบาทเพียงแค่เป็นผู้รับเอกสารรายงานจากหน่วยราชการ ต้องปรับปรุงระบบเพื่อให้เอื้อต่อการทำงานให้เกิดความสำเร็จของแผนปฏิรูปประเทศ” ศ.ดร.กนกกล่าว