posttoday

"ชูศักดิ์"ชวนให้ร่วมคิด"ต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้แล้วหรือไม่"

19 มิถุนายน 2564

“ชูศักดิ์” แย้งคณะที่ปรึกษาประธานสภาฯ นําคําวินิจฉัยเฉพาะบางส่วนมาตีความ ชวนให้ร่วมกันคิดว่า ต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้แล้วหรือไม่

จากกรณีที่ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ในฐานะคณะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ได้แถลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้านว่า เป็นร่างที่นําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ขัดต่อคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทํางานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้โต้แย้งมติดังกล่าวว่า เป็นการยกเอาคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนมาอ้างเท่านั้น ถ้าอ่านคําวินิจฉัย โดยรวมทั้งหมด ทั้งคําวินิจฉัยในปี 2555 และปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาสามารถใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพียงแต่ให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ลงประชามติเสียก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จริงอยู่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติอํานาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพราะคงไม่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญคณะใดที่จะเขียนให้มีการจัดทํา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตนร่างขึ้น การเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม บวกกับวิธีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั่นเอง ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้บอกว่าผิดหรือทําไม่ได้ เพียงแต่ให้ไปทําประชามติเสียก่อนการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความไม่ชัดเจน แม้คําวินิจฉัยกลางออกมา ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เห็นได้จากการประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สามที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ควรหยิบยกเฉพาะบางส่วนบางตอนของคําวินิจฉัยมากล่าวอ้าง ต้องพิจารณาคําวินิจฉัยโดยรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ การทําประชามติโดยรวมต้องใช้มติรัฐสภาเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรี เพราะการทําประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทําได้ในสองกรณีเท่านั้น คือ ครม.เห็นสมควร กับรัฐสภามีมติตามมาตรา 256 แล้วแจ้ง ครม.ดําเนินการ จึงต้องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเสียก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) และมาตรา 256 สมมุติประชามติผ่านให้จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็มิใช่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ได้โดยอัตโนมัติ ในที่สุดก็ต้องมาดําเนินการตามมาตรา 256 โดยเสนอเป็นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตีความว่าญัตติของฝ่ายค้านขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นเดดล็อก ทําอะไรไม่ได้เลย จะต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปชั่วนิจนิรันดร

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะขอดูเหตุผลจากประธานรัฐสภา และจะหารือกันเพื่อหาทางออก เพราะกรรมการบอกญัตติยังไม่ตกไป ตนเองเห็นว่าปัญหาสําคัญอยู่ที่คําวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนส่วนหนึ่ง แต่อยากจะเรียกร้องทุกฝ่ายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาของประเทศ และควรมีรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ เราเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาแล้ว หากอยากจะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ทางเดียวคือจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน