posttoday

"ภูมิธรรม" แจงยิบ ทำไมต้องเสนอแก้ รธน.ทั้งฉบับควบคู่แก้รายมาตรา

17 มิถุนายน 2564

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แจงเหตุผล ทำไมต้องเสนอแก้ไข รธน.ทั้งฉบับควบคู่กับการเสนอแก้เป็นรายมาตรา

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 64 นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ทำไมต้องเสนอแก้ไข รธน.ทั้งฉบับควบคู่กับการเสนอแก้เป็นรายมาตรา

เป็นที่ประจักษ์ชัดกันอยู่แล้วว่า รธน. ปี 60 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหามากมาย และ ถูกวางกลไกให้ยากต่อการแก้ไข

การเสนอแก้ไข รธน. ทั้งฉบับเป็นการยืนยันนโยบายและจุดยืนเดิมของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นว่าการแก้ไข รธน.ทั้งฉบับเป็นสิ่งที่จำเป็น ผ่าน สสร. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ นี่คือหลักการพื้นฐานที่ถูกต้อง และ ควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

แต่สถานการณ์ทางการเมืองในวันนี้ ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่าการแก้รธน.ทั้งฉบับ หรือ การมี สสร.จะเกิดขึ้นได้เมื่อไรหรือจะเกิดเกิดขึ้นหรือไม่ ?

การทำการเมืองที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ให้เข้มแข็ง ต้องยึดหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง แต่ที่สำคัญ ต้องเข้าใจ วิธีการจัดการ ที่สอดรับกับความเป็นจริงและเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย แสวงหาความร่วมมือกับทุกคน

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงเห็นความจำเป็นในการเสนอแก้ไขร่าง รธน.รายมาตรา ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในบางด้านเช่น เรื่องการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ ให้มากขึ้นหรือ การยืนยันเพิ่มสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาให้ได้ รับการคุ้มครอง ในคดีอาญาใดๆ รวมทั้ง การแก้ไข ในบางประเด็นให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สมควรทำควบคู่ไปกับการเสนอแก้ไขทั้งฉบับ

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้ง ซึ่งควรต้องกลับไปใช้กระบวนการที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด เช่น การเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ เพื่อให้ประชาชน “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่” ตามแบบ รธน.ปี 40 ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็น รธน.ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ผมคิดว่าการเสนอแก้ไข รธน.ทั้งฉบับควบคู่กับการเสนอแก้เป็นรายมาตราไม่น่าจะเกิดความเสียหายใดๆ ในทางตรงข้ามกลับ น่าจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะหากเกิดมีอุบัติเหตุทางการเมือง และเกิดการเลือกตั้งขึ้นกะทันหัน ...อย่างน้อยที่สุด เราอาจได้กติกาบางเรื่องที่ดีและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ถ้าไม่แก้รายมาตราเลย หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น เราก็จะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ตามกติกาเดิมที่ "คสช." กำหนดขึ้น...เหมือนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ผมจึงไม่เห็นว่าการทำ 2 อย่างควบคู่กันไป จะก่อผลเสียหายใดๆมากมาย..แล้วทำไมเราจะไม่ทำทุกอย่างให้ดีขึ้น เราควรทำทุกช่องทางที่จะเกิดประโยชน์ !!!!

และที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารให้ประชาชนร่วมรับรู้ เพื่อร่วมเข้าช่วยกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง รธน.ปี 60 ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ หรือ รายมาตรา ในอันที่จะกดดันให้รัฐ (เผด็จการแฝงรูป) ต้องเร่งดำเนินการโดยไม่บิดพลิ้ว