posttoday

3 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ จ่อยื่นร่างแก้ไข รธน.เย็นนี้

16 มิถุนายน 2564

3 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯ ยัน ส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการโหวต จ่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเย็นนี้

วันที่ 16 มิ.ย. ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงภายหลังหารือร่วมกันถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

โดยนายชินวรณ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 9 ประเด็นที่เราจะร่วมลงชื่อเสนอในชั้นรับหลักการ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เสนอ 6 ร่าง ได้แก่ 1.ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา ว่าด้วย สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิที่ดินทำกิน, สิทธิผู้บริโภค และสิทธิชุมชน 2. ประเด็นระบบเลือกตั้ง โดยเนื้อหาจะยึดการเลือกตั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือให้มีส.ส.เขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 3.ประเด็นว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมตรีที่จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือสามารถเลือกจากส.ส.ในสภาฯ ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเดิมที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้ง

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า 4. ประเด็นแก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้เนื้อหาที่รัฐสภาผ่านวาระสอง ที่กำหนดให้ใช้เสียงรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 และตัดส่วนของเสียงส.ว. จำนวน 1 ใน 3 ออก 5.ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเสนอแก้ 2 มาตรา คือ มาตรา 236 และมาตรา 237 ที่กำหนดให้ประธานรัฐสภา เมื่อรับเรื่องจากส.ส., ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แล้วต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำตามที่ถูกกล่าวหารือไม่ ก่อนจะเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ โดยจะปรับบทบาทของประธานรัฐสภา เป็นเพียงคนกลางที่ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา แทนการพิจารณา และ 6.มาตราว่าด้วยการกระจายอำนาจ เพื่อให้ความสำคัญกับท้องถิ่น การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน เพื่อคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายนนี้ จะเริ่มด้วยการนำเสนอร่างทั้ง 15 ร่าง ของทั้งพรรคฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายรัฐบาล เพื่อเสนอให้ที่ประชุมได้อภิปรายรวมกัน และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันลงมติจะแยกการลงมติแต่ละฉบับโดยใช้วิธีการขานชื่อ

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เสนอการยื่นเรื่องปิดสวิตช์ส.ว. พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้ด้วยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ร่างใดที่สมาชิกเห็นพ้องต้องกันไม่ว่าร่างนั้นจะเป็นของฝ่ายไหนก็เป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงมติให้ความเห็นชอบได้ และเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาในการตัดสินใจต้องไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องปากท้องของประชาชนโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนควรจะต้องมีหลักประกันรายได้ที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซึ่งจากการคำนวณพบว่าอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี ดังนั้นจะต้องบรรจุคำนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ที่กำหนดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและโลก 3.จะต้องแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องแก้ไขให้สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะลงนามเห็นชอบ พร้อมสนับสนุน และได้เป็นผู้เสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งหมดเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองได้และจากการพิจารณาพบว่าในส่วนของมาตรา 159 และมาตรา 272 เรื่องอำนาจส.ว.ถือเป็นร่างที่เห็นตรงกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ร่าง เป็นสิ่งที่ทั้ง 3 พรรคเห็นพ้องต้องกัน และตอนนี้ได้ลงนามครบถ้วนแล้ว คาดว่าช่วงเย็นวันนี้ (16 มิถุนายน) จะยื่นต่อประธานรัฐสภาได้