posttoday

เพื่อไทย ซัด พ.ร.ก.เงินกู้เหมือนตีเช็คเปล่าให้นายกฯไปใช้ แนะเปลี่ยนเป็นงบกลาง 64 แทน

09 มิถุนายน 2564

"ยุทธพงศ์" จัดหนักอัด พ.ร.ก.เงินกู้เหมือนตีเช็คเปล่าให้นายกฯไปใช้โดยไร้รายละเอียด ชี้กู้ครั้งที่ผ่านมาล้มเหลวหนัก แนะเปลี่ยนเป็นงบกลาง 64 หวังสภาฯ ตรวจสอบได้

วันที่ 9 มิ.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน วาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เปิดให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมาขอให้สภาฯพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้กับนายกรัฐมนตรีไปใช้โดยไม่มีรายละเอียด ซึ่ง พ.ร.ก.นี้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม ใน 3 แผนงานหลักนั้น และเมื่อปีที่แล้วตอนเกิดปัญหาการระบาดของโควิด รัฐบาลก็ได้เสนอ พ.ร.ก.เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท และใช้ในแผนงานหลัก 3 แผนงาน ตนจะชี้ให้เห็นว่าเมื่อปีที่แล้ว 3 แผนงานหลักที่รัฐขอเงินไปนั้นมีความล้มเหลวอย่างไร และเงินที่เอาไปใช้ไม่เกิดประโยชน์อย่างไร โดยด้านสาธารณสุขปีที่แล้ว ขอเงินจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ขอใหม่ 3 หมื่นล้นบาท ซึ่งสะท้อนจากเงินกู้ครั้งที่แล้วว่าล้มเหลว โดยเยียวยาชดเชยค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จากเชื้อโควิด แต่ที่เห็น อสม.ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นด่านหน้าเสี่ยงภัยเหมือนกันยังจ้องไปขอเงินจากนักการเมือง ให้นักการเมืองมาช่วยทำประกันชีวิตให้ แล้วนักการเมืองจะไปเอาที่ไหน ก็ต้องไปขอมาจากนักธุรกิจ สุดท้ายก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ว่านักการเมืองก็ไปเอาเงินจากพ่อค้ามาทำประกันภัย เช่นที่จ.นครพนม ที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ก็ไปทำประกันชีวิตให้กับ อสม. จำนวน7 ล้านบาท โดยเงินส่วนตัว แล้วเงินกู้ที่รัฐบาลมี ถ้าจำเป็นทำไมรัฐบาลไมาเอาไปใช้

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เงินกู้ด้านสาธารณสุข ปีที่แล้วขอไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่เพิ่งมีการเบิกจ่ายไปเพียง 11,623 ล้านบาท หรือร้อยละ 26 เงินเดิมยังใช้ไม่หมด แต่มาขอกู้ใหม่อีก โดยตัวเลขนี้ตนเอามาจาก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและวัคซีน ที่ขอเงินกู้ไปเมื่อปีที่แล้วปรากฎว่าเครื่องช่วยหายใจก็ยังไม่พอ ยาสำหรับรักษาก็ไม่เพียงพอ วัคซีนก็ล่าช้าไม่เพียงพอ ทำให้มีคนติดเชื้อและตายจำนวนมาก รวมทั้งโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอ ผู้ติดเชื้อไม่มีรถรับไปรักษาปล่อยให้ตายคาบ้าน

“แสดงให้เห็นว่าท่านกู้เงินไป ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้เลย ทั้งๆที่มีเงิน ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ปล่อยให้โควิดระลอกสามที่เกิดจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ที่เกิดจากคนรวยแต่คนจนเดือดร้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องชี้แจงว่า ยังจะเอาเงินไปอีกทำไม เพราะทั้งหมดเกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลไม่ดี ล้มเหลว นำไปสู่การสูญเสียของคนไทยอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น มีคนติดเชื้อวันละหลายพันคน คนตายรวมเป็นพันคน แสดงให้เห็นว่าท่านใช้เงินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน เป็นเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ย ท่านอ้างความจำเป็นเร่งด่วน แต่พอเอาไปใช้จริงก็ไม่เกิดประสิทธิภาพ” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า งบประมาณด้านการเยียวยา จำนวน 3 แสนล้านบาท ถ้าสะท้อนกับปีที่แล้ว 5.5 แสนล้านบาทและโอนเพิ่มมาอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็น 7 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายไป 6.3 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 91 ทำมากที่สุดได้แค่การแจกเงิน สะท้อนให้เห็นว่าในการเยียวยามีความล่าช้า จำนวนเงินน้อยเกินไป และมีการเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง คำถามของคนคือ ถ้าท่านใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ วันนี้คนต่างจังหวัดเดือนจากโรคระบาดลัมปี สกิน ทำไมเยียวยา หรือหาวัคซีนมาช่วย รวมทั้งการเยียวยาร้านอาหาร หาบเร่แพงลอยด้วย ส่วนงบประมาณด้านการฟื้นฟู 1.7 แสนล้านบาท สะท้อนจากเงินกู้ครั้งที่แล้วว่ามีการโอนเงินก้อนนี้ที่จะเอาไปเยียวยา ก็เอาไปแจกเงินแทน มีการอนุมัติโครงการฟื้นฟูออกไปน้อยมากขอถามว่าอนุมัติไปเท่าไหร่ แล้วที่บอกว่าฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทำไมเศรษฐกิจถึงแย่ลง

“ขอให้รัฐบาล เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ไปเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายกลางปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาทแทน เพื่อให้สภาฯสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ และเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ย ที่ประชาชนต้องร่วมกันเป็นหนี้ และต้องไปใช้หนี้ในอนาคต เพราะผมเห็นว่า พ.ร.ก.นี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการติดเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ไม่มีทางยุติลงภายในปีนี้ และผมเชื่อด้วยว่ารัฐบาลจะใช้เงินกู้ไม่ทันปีงบประมาณแน่นอน ใช้ได้อีกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เพราะใช้ไม่ทัน” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า มติครม.เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน อนุมัติงบกลางปี รายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 426.47 ล้านบาท เป็นโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องจักรกล สำหรับรองรับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง รวม 24 รายการ 32 เครื่อง คือเครื่องสูบน้ำเคลื่อนท่ีเร็วขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกส์ ขนาด 24 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 8 เครื่อง จำนวน 62.4 ล้านบาท เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็วขับด้วยไฮดรอลิกส์ขนาด 30 นิ้ว 8 รายการ 16 เครื่อง งบประมาณ 188.54 ล้านบาท เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็วขับด้วยระบบไฮดรอลิกส์ขนาด 42 นิ้ว 8 รายการ 8 เครื่อง งบประมาณ 175.08 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มองว่ารัฐบาลใช้งบกลางโดยไม่จำเป็น ทั้งที่ควรนำไปใช้ซื้อวัคซีน ขณะเดียวกันกลับใช้เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นไม่สามารถรับหลักการดังกล่าวได้