posttoday

โต้เดือด!! ขุนคลังแจงงบ65 อยู่ในกรอบวินัยการเงิน ปชป.สวนควรชัดเจน ให้สภาฯ ตรวจสอบได้

01 มิถุนายน 2564

รมว.คลังลุกแจง แจง ม.11 กฎหมายวินัยการเงินฯ ระบุชัดจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายให้แถลงวิธีการหาส่วนที่ขาดดุลต่อรัฐสภา "พิสิฐ" ลุกขึ้นโต้ ฉะตอบแค่บางส่วน ลั่นควรชัดเจนตรวจสอบได้ ไม่ใช่เหมือนเงินกู้ 5 แสนล้าน รีบออกและไม่มีข้อมูลให้สอบ

วันที่ 1 มิ.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันที่สอง

จากนั้น เวลา 11.55 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นที่ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นห่วงการจัดงบประมาณปี 65 โดยเฉพาะงบลงทุน กรอบวงเงินขาดดุลงบประมาณ ว่า ช่วงปี 63 – 65 เรายังอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่เราคาดหวังและคาดการณ์ว่าปี 65 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ แต่เพราะสถานการณ์โควิด ซึ่งเราไม่คาดคิดกันมาก่อน ปีที่ผ่านมาและปีนี้จึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากความเป็นห่วง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.งบประมาณปี 61, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง, กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมาตรา 11 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายให้แถลงวิธีการหาส่วนที่ขาดดุลต่อรัฐสภาด้วย ซึ่งกรณีที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎหมายวินัยการเงินการคลังและกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ

นายอาคม ชี้แจงต่อว่า คำแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขียนไว้ชัดเจนว่า จะใช้ 2 วิธีหลักคือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กิจการที่เป็นงบประมาณลงทุนของส่วนราชการอาจนำไปใช้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน และการบรรจุโครงการไว้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะ ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดานหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในกรอบร้อยละ 60 ที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังกำหนด อย่างไรก็ดี การพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เราทำแผนทั้งระยะสั้นและระยะกลาง โดยจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ และขีดความสามารถการชำระหนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังพิจารณาเรื่องกรอบการบริหารระยะ 3 ปีข้างหน้า

ทำให้ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงตอบโต้ ว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตอบเป็นเพียงบางส่วน และไม่ใช่ส่วนที่ตนเป็นห่วง เพราะการร่วมทุนกับเอกชน เป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว แต่ตนห่วงคือสิ่งที่นายกฯได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องของงบลงทุนที่น้อยไป ก็จะอาศัยการกู้เงินในการออกฎหมายตามพ.ร.บ.หนี้ ตรงนี้คือส่งที่ตนเป็นห่วง เพราะหลักของการบริหารจัดการงบประมาณที่ดีควรจะอยู่ส่วนกลาง เก็บภาษีทุกอย่างควรจะอยู่ตรงกลาง และจ่ายออกไป โดยผ่านสภาฯ ให้สภาได้มีการตรวจสอบเปิดเผย แต่พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือ 1 ล้านล้านบาท ท่านออกกฎหมายมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ ไม่มีข้อมูลปรากฎให้ ส.ส. ส.ว.ได้ตรวจสอบ แล้วท่านก็ใช้ไปเรื่อยๆ แล้วถือว่า นี่คือการการทดแทนการที่เรามีงบลงทุนต่ำ ซึ่งถือว่า เป็นการทำที่ไม่ถูกต้องในหลักของการบริหารจัดการงบประมาณที่ดี

“ผมอยากให้ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวัง ไม่ให้ทำอีก ช่วงนี้ท่านอาจจะมีเหตุผลเรื่องโควิด แต่จริงๆแล้วงบประมาณประจำปี ก็ควรนำมาจัดการเพื่อมาทำเรื่องโควิดให้มากกว่านี้ แทนที่อาศัยการกู้เงินซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่สร้างผลกระทบที่ตามมาคือเรื่องตัวเลขหนี้ที่เราเห็นมาแล้ว” นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า ส่วนที่นายอาคม ระบุว่า นายกฯพูดเกี่ยวกับฐานะการคลังว่ามีการชี้แจงเรื่องตัวเลขเงินคงคลัง ตรงนี้ขอยืนยันว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ฐานะการคลังกับเงินคงคลัง เป็นคนละเรื่องกัน แต่นายกฯพูดเฉพาะเงินคงคลัง เพราะฐานการคลังเป็นการแสดงถึงรายได้ รายจ่าย และการขาดดุลเงินสด และผลที่มีต่อหนี้ในที่สุด