posttoday

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. "ธรรมนัส" ไม่สิ้นสภาพ "ส.ส.-รัฐมนตรี"

05 พฤษภาคม 2564

เปิดคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ "ธรรมนัส" ไม่สิ้นสภาพ "ส.ส.-รัฐมนตรี" ชี้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ไม่อยู่ในอำนาจอธิปไตยไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์พิจารณาอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 51 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่

และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ในประเทศออสเตรเลีย

ศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่าสมาชิกภาพส.ส.สั้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 บัญญัติว่าบุคคลต่อไปนี้มีลักษณะต้องห้าม (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือ ผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ได้มีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 37 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 38 และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 คนไม่สามารถส่งสำเนาเอกสารคำพิพากษาดังกล่าวและเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งราชการรับรองสำเนาถูกต้อง

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์ก่อนลงสมัครส.ส. ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย

ประเด็นที่ 1 สมาชิกภาพส.ส.ของร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10)หรือไม่ เมื่อใด มีข้อต้องพิจารณาก่อนว่าคำว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิใหใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส นั้นหมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่

เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 3วรรค 1 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา ครม.และศาลตามบทบัญญัติแห่งรธน.วรรค 2 บัญญัติวารัฐสภาครม. และศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐต้องปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรธน.กฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึง อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือ มีความเด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยแยกตามลักษณะหน้าที่เป็น 3 ส่วนได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยย่อมต้องไมตกอยู่ในอาณัติ หรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์

มีหลักการสำคัญคือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายใน ของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลง ยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ การตีตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทยจึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุอีกว่า ตามหลักอธิปไตยของรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้คำรับรอง คำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางคดีแพ่ง คดีครอบครัวและคดีมรดก

สำหรับคดีอาญาอาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้างในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการโอนนักโทษโดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันธ์ที่จะเคารพและปฎิบัติตามผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคหนึ่งด้วย

ดังนั้นทั้งหลักการและหลักปฎิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการจึงได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษาจึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นๆเท่านั้น ไม่หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตามกฎหมายอาญาของแต่ละประเทศการกระทำที่เป็นความผิดองค์ประกอบของการกระทำความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษ ไว้แตกต่างกันโดยการกระทำอย่างเดียวกันกฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดแต่กฎหมายของไทยอาจไม่กำหนดให้เป็น ความผิดก็ได้

อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดหมายรวมถึง คำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยอาจทำให้ไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบานการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวล เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงสมัคร ส.ส.แต่มิใช่คำพิพากษาของศาลไทย ร.อ.ธรรมนัสจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา98(10) สมาชิกสภาพสส.ของร.อธรรมนัสจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตร 101 (6) ประกอบมาตร98(10)รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1( 4) ประกอบมาตรา 160(6) ด้วย