posttoday

ไทยสร้างไทย ชี้ รัฐบาลจัดการความเสี่ยงโควิดจากอินเดียล่าช้า

26 เมษายน 2564

"ธิดารัตน์" จี้รัฐบาลควรออกมาตรการให้ทันท่วงที่ หลังพบผู้ติดเชื้อจากอินเดียเข้ามา

วันที่ 26 เม.ย. นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ คณะกรรมการนโยบาย พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่าแม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะออกมาชี้แจ้งว่าไม่มีเศรษฐีอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำส่วนตัวเข้ามาในประเทศไทยตามที่เป็นข่าว แต่ความจริงมีชาวอินเดียเดินทางเข้ามาในไทยผ่านเที่ยวบินอื่นถึง 602 คน แล้ว เมื่อวันที่ 1-20 เมษายน โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อ 7 คน จากสายการบินอินเดียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ AI 0332 ในวันที่ 17 เมษายน ทั้งที่สถานการณ์ในอินเดียทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มาซักพักแล้วและรัฐบาลไทยยังจัดการปัญหาขาดแคลนเตียงในประเทศและเร่งจัดหาวัคซีนไม่ได้

นอกจากนี้ นโยบายชะลอการยื่นขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry: COE) ของชาวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางมาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ออกไปก่อน ที่จะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถือว่าล่าช้า เพราะมีผู้ป่วยรายใหม่ในอินเดียเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา มากกว่า 300,000 รายต่อวัน ซึ่งทำลายสถิติเดิมของตัวเองและสถิติโลกเรื่อยๆ และ “สายพันธุ์เบงกอล” กลายพันธุ์จนรุนแรงมากถึงขั้นที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัคซีนสามารถป้องกันได้หรือไม่

การประกาศแบบนี้ เกรงว่าอาจทำให้ผู้เดินทางทะลักเข้ามาก่อนประตูจะปิด เนื่องจากระบบสาธารณสุขของอินเดียไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้แล้ว แม้ ศบค. แจ้งว่าจะพยายามควบคุมไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อเล็ดลอดออกมาจากโรงพยาบาลได้ แต่หากพิจารณาจากการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งล้มเหลวหลายครั้ง ถือว่าความเสี่ยงยังมีอยู่ แม้แต่หลายประเทศที่ไม่ได้ประสบวิกฤตรุนแรงเหมือนไทยยังไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย โดยได้ประกาศระงับไม่ให้เที่ยวบินจากอินเดียเดินทางเข้าแล้ว และบางแห่งถึงกับไม่ให้ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากอินเดียมาแวะเปลี่ยนเครื่องด้วยซ้ำ เช่น อิหร่าน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น

“ประเทศไทยเผชิญปัญหาโควิด-19 นานกว่าประเทศอื่นในโลก เพราะพบผู้ติดเชื้อเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ได้รับวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศที่เจอผู้ติดเชื้อทีหลัง และตอนนี้ยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนน้อยมาก รัฐบาลควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นและการระบาดในประเทศได้แล้ว ครั้งนี้เป็นการระบาดระลอกที่ 3 รัฐบาลควรออกนโยบายให้ทันท่วงที เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ และมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้” นางสาวธิดารัตน์กล่าว