posttoday

ไปคิดเลขมาใหม่ ! "ชำนาญ" โต้ "สามารถ" ชี้ ผลเลือกตั้งเทศบาล "ก้าวหน้า" คะแนนนิยมดีขึ้น

02 เมษายน 2564

“ชำนาญ” โต้ " สามารถ" เทียบผลเลือกตั้งเทศบาล “คณะก้าวหน้า” สะท้อนความนิยมดีขึ้น ย้ำรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ รธน.เป็นสิทธิทำได้

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐระบุว่า การเลือกตั้งเทศบาลทีมของคณะก้าวหน้าได้แค่ 10 เทศบาล จากทั้งหมด 2,472 แห่ง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ที่จะเริ่มคิกออฟในวันที่ 6 เมษายนนี้ เย้ยว่าจะถูกประชาชนออกมาขับไล่ และคงไม่มีใครบ้าจี้ไปลงชื่อเพราะกลัวว่าในอนาคตจะต้องเดือดร้อนหรือติดคุกตามไปด้วยนั้น

นายชำนาญ กล่าวว่า เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเทศบาลเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัคร 107 เทศบาล ถ้าได้ทั้ง 107 แห่ง จะเท่ากับ 100 % แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ เราได้นายกเทศมนตรี มา 16 แห่ง จึง (16 x100)/ 107 = 14.95 % นอกจากนี้ ยังได้สมาชิกสภาเทศบาลอีกถึง 136 คน ด้วย ซึ่งถ้าจะลองเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ เราส่ง 349 เขต ได้รับเลือกตั้งมี ส.ส. 30 เขต คิดเป็น (30x100) /349 = 8.59 % อย่างนี้ คะแนนความนิยมไม่น่าจะเรียกว่าลด แต่ตรงกันข้าม กลับเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือคะแนนจากผู้เลือกตั้งในต่างประเทศ โดยเรามั่นใจว่านั่นคือผู้นิยมในส่วนของเรา อนึ่ง จำนวนเทศบาลในปัจจุบันจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเมื่อ 30 ก.ค.2563 มี 2,469 แห่ง มิใช่ 2,472 แห่งตามที่นายสามารถเข้าใจ

“ส่วนกรณีที่ว่าการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา คงไม่มีใครบ้าจี้ไปลงชื่อเพราะกลัวว่าในอนาคตจะต้องเดือดร้อนหรือติดคุกตามไปด้วย นั้น การลงชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 256 (1) จะได้รับความเดือดร้อนหรือติดคุกไปได้อย่างไร ตัวเองเป็นถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด และที่บอกว่าไปที่ไหนจะถูกชาวบ้านขับไล่ อย่างนี้ถือเป็นการข่มขู่หรือไม่ ทั้งๆ ที่การรณรงค์ทำได้ และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เราไม่กังวลเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะถ้าไม่เป็นการจัดตั้งมา ส่วนใหญ่แล้วจะอธิบายพูดคุยด้วยดีก็แยกย้ายกันได้ ส่วนจำนวนผู้มาลงชื่อจะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดู ถ้ายังจำได้ตอนผลเลือกตั้งปี 2562 ออกมา มีคนลงรายชื่อ 8 แสนกว่าชื่อ เพื่อไล่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เคยมีมาแล้วนะครับ” นายชำนาญ กล่าว