posttoday

"วิษณุ" แจง ประมวลจริยธรรม ขรก.การเมือง แตกต่างจากลงโทษ ส.ส.

31 มีนาคม 2564

รองนายกฯวิษณุ แจง ประมวลจริยธรรม ข้าราชการการเมือง แตกต่างจากลงโทษ ส.ส. เปรียบมาตรฐานชี้วัดความผิดอะไรทำได้หรือไม่ได้ ก่อนส่งไปจัดการตาม กม.ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึง สาระสำคัญ ภายหลัง ครม.เห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ว่า สืบเนื่องมากจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มี พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญ 60 กำหนด ซึ่งกำหนดว่าให้มีคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรมเพื่อกำกับกับสอดส่องให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทไปจัดทำประมวลจริยธรรมของตัวเองขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งดูแลข้าราชการประมาณ 3 แสนคน ไปจัดทำประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จ ยกตัวอย่างครู ก็ต้องไปทำประมวลจริยธรรมครู ซึ่งขณะนี้กำลังทำอยู่ ซึ่งทั้งหมดที่กำลังทำอยู่จะต้องเสร็จในวันที่ 6 เมย. 64

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนข้าราชการการเมือง ครม. จะเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรม โดย ครม.ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฎีกาเป็นผู้ทำ ซึ่งฉบับเมื่อวันที่ 30 มี.ค. เป็นของข้าราชการการเมือง ที่ สำนักงานคณะกรรมการกฎีกา ทำแล้วเสร็จ โดยข้าราชการการเมืองคือผู้มีตำแหน่ง ตามที่กฎหมายระเบียบข้าราชการการเมืองกำหนดไว้ ไล่ตั้งแต่ นายกฯ รองนายกฯ จนถึง เลขานุการรัฐมนตรี และ ผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่ ส.ส.และ ส.ว. มาตรฐานจริยธรรมต่างหาก ซึ่งรัฐธรรมนูญแยกออกมา โดยการกำหนดให้องค์กรอิสระทั้งหลายรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำเพื่อใช่เป็นประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น กกต. ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น ซึ่งรวมถึง ครม. ส.ส. และ ส.ว. ด้วย โดยจัดทำเสร็จมาและประกาศใช้แล้วมา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า โทษของข้าราชการการเมืองเหมือนกับ ส.ส. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เหมือน เพราะจะไล่ไปตามกฎหมายของตัวเอง ประมวลจริยธรรมจะบอกแค่เรื่องมาตรฐานในความประพฤติ และ ปฏิบัติเท่านั้นว่าพึ่งกระทำอะไร และ พึ่งละเว้นอะไร แต่กรณีที่มีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นจะไล่ไปใช้กฎหมายต่างๆ เช่น ข้าราชการการเมืองจะมีจริยธรรมตามประมวลที่เข้า ครม.เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่หากฝ่าฝืนต้องไปดูว่าผู้กระทำฝ่าฝืนมีตำแหน่งอะไรเช่นเลขานุการรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี กรณีนี้ใช่วิธีปรับ ครม.เอาออก และ ตั้งคณะกรรมการสอบ เป็นการไล่ไปใช้กฎหมายอื่น ส่วนความผิดอาญาก็ไปที่ ป.ป.ช. หรือไปที่ตำรวจ ดังนั้นอย่ามาดูว่าไม่เห็นบอกว่าผิดอะไรแล้วทำอย่างไร แต่บอกว่าทำอย่างไรเรียกว่าผิด แค่นี้ก็มีสะพานจะเดินอีกเยอะแล้ว ส่วนข้อห้ามตามร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ขอให้ไปดูรายละเอียด ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้มีประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ก็เลิกไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญ ของร่างประมวลจริยธรรมร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ...มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดนิยามคำว่า ข้าราชการการเมือง หมายความว่า ข้าราชการการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย

2.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่

4.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องกล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

5.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ

6.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยต้องดำรงตน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

7.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

8.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ