posttoday

รัฐบาลแจงช่วยผู้อพยพเมียนมาตามหลักสิทธินุษยชน

30 มีนาคม 2564

รมว.มหาดไทยเผย ช่วยผู้อพยพเมียนมา ตามหลักสิทธิมนุษยชน ด้านรมว.ต่างประเทศระบุ ดูแลผู้อพยพบริเวณชายแดนตามหลักมนุษยธรรม เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นต้องกลับ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการดูแลพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในไทย จำนวนมาก ว่า เราได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคงที่เตรียมรับสถานการณ์อยู่ในขณะนี้แล้ว โดยต้องช่วยเหลือขั้นต้นตามความเหมาะสม แต่ถ้าอยู่บริเวณชายแดนเมียนมาได้ก็ให้อยู่ตรงนั้นก่อน หากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนไปก่อน และจะมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยดู

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องเฝ้าระวังพื้นที่จังหวัดอื่นที่มีชายแดนติดกับเมียนมาเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมสั่งการไปแล้วให้กองกำลังตามแนวชายแดนดูแลอยู่

เมื่อถามว่าประเทศไทยยังดูแลผู้อพยพเหล่านี้ได้หรือจะต้องประสานงานให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยดูแลหรือไม่ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในขั้นต้น เราต้องดูแลตัวเองก่อน จากนั้นดูสถานการณ์ในวันข้างหน้าว่าจะต้องประสานหน่วยงานอื่นหรือไม่

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ชายแดนไทยที่ติดกับเมียนมา ว่า ในเรื่องรายละเอียดนั้นจะมีการประชุมอาเซียนซัมมิทในช่วงต้นหรือปลายเดือน เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าทางการไทยผลักดันผู้ที่หลบหนีการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกะเหรี่ยง นายดอน กล่าวว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชี้แจงว่าหากเดือดร้อนจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม แต่หากเลยจุดนั้นแล้วก็ต้องกลับไป เพราะประเทศไทยไม่สามารถรับคนได้มากมาย มันเป็นเช่นนั้น เพราะทุกประเทศหรือประเทศใดที่มีปัญหาเรื่องผู้หนีภัยเข้ามาก็ต้องได้รับการดูแลในช่วงระยะหนึ่งและต้องกลับบ้านเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

เมื่อถามว่า ขณะนี้ศูนย์รองรับผู้ลี้ภัยยังดูแลได้หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงกับตั้งศูนย์ เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนเรื่องจำนวนต้องไปถามในพื้นที่ แต่ตามหลักการแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอีกฝั่งหนึ่งอย่างอินเดียก็ปฏิเสธ ซึ่งเป็นปกติของทุกแห่ง ไม่ใช่เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น

เมื่อถามว่า ไทยจะดูแลผู้อพยพจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วให้กลับบ้านใช่หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เมื่อผ่านพ้นความจำเป็นด้านมนุษยธรรมก็กลับ เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ฝั่งเมียนมาหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า มีอยู่ โดยภายหลังที่ผู้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทยก็ได้พูดคุยกันเพื่อหาทางทำให้บ้านเมืองเขาเรียบร้อยโดยเร็ว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีหลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้รุนแรงอย่างที่เป็น เราพยายามบอกเขาว่าต้องลดความรุนแรงหรือลดปัญหาทั้งปวง ซึ่งเขารับทราบ แต่จะทำได้แค่ไหนอยู่ที่สถานการณ์ นอกจากนี้ เรายังได้ประสานไปประเทศบรูไนในฐานะประธานอาเซียนในหลายเรื่องด้วยกัน รวมถึงการจัดประชุมอาเซียนซัมมิทที่จะเกิดขึ้นด้วย

เมื่อถามว่า ในการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ประเด็นหลักจะมีเรื่องอะไรบ้าง และจะกดดันเมียนมาอย่างไร นายดอน กล่าวว่า อันนี้ต้องรอไว้ไปจนถึงจุดนั้น ส่วนเรื่องที่จะคุยนั้นยังพูดตอนนี้ไม่ได้ แต่ประเด็นหลักคือ การหาทางทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในเมียนมา เรื่องนี้คือหลักใหญ่ให้ปัญหาทั้งมวลคลี่คลายลง และให้อาเซียนกลับมาเป็นภูมิภาคที่สงบสุข เป็นเป้าหมายที่กำลังดำเนินการ

เมื่อถามว่า มีความกังวลเรื่องสถานะทางการทูตของประเทศไทยหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมาถือว่ารุนแรงมาก นายดอน กล่าวว่า ไม่กังวล ความรุนแรงเป็นปัญหาหนึ่งที่เขาพยายามรับมือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเขาต้องการลดจะสามารถลดได้เลย เป็นเรื่องหนึ่งที่เรารับทราบ แต่ขณะเดียวกัน เราพยายามบอกเขาว่าให้หาทางคลี่คลาย ลดความรุนแรง เพราะสิ่งที่ออกมาเป็นข่าว ทั้งความเสียหายและการล้มตายมันไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเมียนมาและอาเซียน รวมถึงไทยด้วย เพราะมันจะบานปลายกันไป เมื่อบานปลายแล้วจะเป็นความเสียหายที่ใหญ่ บางครั้งใหญ่เกินกว่าที่จะรับได้ด้วยซ้ำ เอาเป็นว่าเหตุการณ์ในเมียนมาไม่มีใครอยากให้เป็น แต่เมื่อหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับอำนาจ ฐานะของประเทศ หลายๆ อย่างสารพัด ก็ไม่สามารถหยุดได้เร็วอย่างที่คิด

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าเมียนมาจะปิดสนามบิน คนไทยยังสามารถเดินทางกลับมาได้หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ปัจจุบันยังเปิดและยังเดินทางได้อยู่