posttoday

“ชัชชาติ”ยก10ปัญหาพื้นที่หนองจอก เผยที่ไหนอยากให้ไปพูดคุยเรียกได้

25 มีนาคม 2564

ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ยก 10 ปัญหาพื้นที่หนองจอกหลังลงพื้นที่จริง 1 วัน เผยที่ไหนอยากให้ลงพื้นที่ไปดูปัญหาหรือพูดคุยสามารถเรียกได้

วันที่ 25 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า

วันนี้พี่ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.หนองจอก ที่ผมมีความคุ้นเคยมานานตั้งแต่ตอนที่ผมยังอยู่พรรคเพื่อไทย ชวนผมไปฟังปัญหาของประชาชนในเขตหนองจอก ผมแจ้งพี่ไพโรจน์ว่าผมไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ก็ยินดีมากๆ ที่จะไปฟังปัญหาเรื่องราวต่างๆ จากประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด

เขตหนองจอกเป็นเขตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน กทม. มีพื้นที่ประมาณ 236 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1 ใน 7 ของพื้นที่ กทม. มีประชากรประมาณ 170,999 คน หรือ 732 คนต่อ ตารางกิโลเมตร

ปัญหาของเขตหนองจอกที่ได้จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับประชาชนคือ

1. การจราจร มีการจราจรหนาแน่นบริเวณสี่แยกกลางเมืองตรงสำนักงานเขตหนองจอก เนื่องจากถนนหลัก 6 เส้น (เชื่อมสัมพันธ์ อยู่วิทยา สังฆสันติสุข ผดุงพันธ์ เลียบวารี มิตรไมตรี) นำรถมาสู่จุดนี้ และ ถนนเชื่อมสัมพันธ์เป็นคอขวดช่วงข้ามคลองแสนแสบ

2. มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มาจากฉะเชิงเทรา และปทุมธานี วิ่งผ่านกลางเมืองเพื่อออกไปทางสุวินทวงศ์ ลาดกระบัง

3. มีรถประจำทางวิ่งน้อย และ ทิ้งระยะห่าง ส่วนใหญ่การเดินทางใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้ การเดินทางไปตามถนนเชื่อมสัมพันธ์ ฉลองกรุง เพื่อไปยังลาดกระบัง ที่เป็นแหล่งงานสำคัญ ไม่สะดวก ขาดรถโดยสารสาธารณะ

4. เขตหนองจอกมีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวคือ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ของ กทม. ขนาด 200 เตียง ที่จอดรถมีจำกัด บางครั้งอาจใช้เวลานานในการพบแพทย์ ต้องไปดูว่าจะช่วยบุคลากรทางแพทย์ที่มีภาระหนักได้อย่างไร

5. มีศูนย์บริการสาธารณสุข 1 แห่ง คือศูนย์บริการสาธารณสุข 44 ลำผักชีหนองจอก และมีศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 11 แห่ง ผมแวะไปเยี่ยมศูนย์สาขาสองแห่ง พบว่ายังขาดพยาบาลประจำ มีแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งฉีดยาไม่ได้ ได้แต่ทำแผล

6. มีประธานและกรรมการชุมชนหลายแห่ง อยากให้มีสวัสดิการสำหรับกรรมการชุมชนเพิ่ม

7. การเก็บขยะบางครั้งทิ้งระยะเวลาห่างมาก อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทำให้ขยะเกิดการบูดเน่า

8. สวนสาธารณะมีสองแห่ง สวนสาธารณะหนองจอกขนาด 35 ไร่ 2 งาน และสนามบางกอกอารีน่า ขนาด 50 ไร่ จากการสังเกตจากภายนอกพบว่า สนามบางกอกอารีน่าจะดูเหมือนประชาชนไม่ค่อยมาใช้สถานที่ น่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้

9. สถานศึกษา โดยทั่วไป ไม่มีประเด็นยกเว้นการเดินทางของเด็กไปโรงเรียน เนื่องจากไม่มีรถประจำทาง ทำให้ต้องเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก

10. บางชุมชน เช่น เคหะฉลองกรุง มีการยกถนนให้เป็นสาธารณะแล้ว แต่ยังขาดการดูแล มีน้ำท่วมเป็นบางครั้ง

การได้มาพูดคุยกับประชาชนโดยตรงทำให้เราเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขได้ดีขึ้น ตรงขึ้น

ถ้าพวกเรามีชุมชนไหน พื้นที่ไหน ใน กทม.ที่อยากชวนผมลงไปพูดคุย เพื่อดูปัญหาต่างๆ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน แจ้งเข้ามาได้เลยนะครับ