posttoday

แม่แกนนำราษฎรร้องยธ.ตั้งคนนอกสอบผู้คุมตรวจโควิดกลางดึก

17 มีนาคม 2564

แม่แกนนำกลุ่มราษฎรร้องยุติธรรมตั้งคนนอกสอบผู้คุมตรวจโควิด-19กลางดึกหวั่นลูกถูกคุมคามชีวิต รองปลัดยธ.พร้อมเรียกจนท.ราชทัณฑ์สอบข้อเท็จจริง -ไทม์ไลน์วันเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 17มี.ค.64 น.ส.คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน พานางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน , นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน , นางยุพิน มณีวงศ์ มารดาของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ , นางสุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล มารดาของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และนางมาลัย นำภา มารดาของนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกคุมขังในความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ก่อนทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร์ที่ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19 ถึง 20 กันยายน 2563 เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า ตามหลักการพิจารณาคดีควรจะมีการเปิดเผยทุกขั้นตอน ทุกคนมีสิทธิเข้ารับฟังโดยลูกชายของตนเองเป็น 1ใน 7 ของผู้ต้องขังซึ่งตนมองว่าการนำตัวผู้ต้องหาซึ่งศาลยังไม่ได้ตัดสินไปตรวจหาcovid-19 ยามวิกาลเป็นเรื่องที่ส่งกระทบต่อความปลอดภัย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงไม่เห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่กระทำการดังกล่าว แม้จะอ้างว่าย้ายผู้ต้องหาจากเรือนจำธนบุรี มาเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต้องรีบตรวจ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเพราะโควิด-19 ไม่ใช่เป็นโรคที่ติดกันง่ายๆ จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคนนอกขึ้นมาเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

นางพริ้ม กล่าวว่า หากกระทรวงยุติธรรมตั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำมาเป็นกรรมการร่วมสอบสวนข้อเท็จจริงก็จะทำให้ไม่โปร่งใสในการตรวจสอบ สังคมไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตามการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่าเข้าไปตรวจหาเชื้อcoved-19 ทั้งที่เป็นเวลาของผู้ต้องซึ่งควรจะพักผ่อนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นจิตวิทยาที่ทำให้ผู้ต้องขังมีความรู้สึกว่าถูกคุกคาม และมีความรู้สึกหวาดกลัวในความไม่ปลอดภัย

ด้านนายวัลลภ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงยุติธรรมให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันว่าคณะทำงานฯจะไม่มีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์เข้ามาร่วม อย่างไรก็ตามเบื้องต้นตนจะรับไว้ในทุกประเด็นที่แม่ของกลุ่มแกนนำตั้งข้อสังเกตุ และจะมีการตรวจสอบไทม์ไลน์ในวันเกิดเหตุอย่างละเอียดเพื่อตอบคำถามของสังคม โดยจะให้ตัวแทนเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อสอบสวนในเชิงลึก และขอให้ดีเอสไอเข้ามาร่วมสอบด้วย. ส่วนการดูแลความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของผู้ต้องหา กรมราชทัณฑ์มีระเบียบปฎิบัติอยู่แล้ว