posttoday

สภาวุ่น!! ถกไม่จบปมแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เหตุคำวินิจฉัยศาล

17 มีนาคม 2564

ผ่านมาครึ่งวันถกกันไม่จบ! "แก้ไม่ได้อย่ามีสภาดีกว่า"สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลฯเพื่อไทย ลั่นลงมติวาระ3ได้ ถ้าไม่ผ่านกฎหมายแล้วใครจะทำ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ. ... ลงมติในวาระที่สาม โดยในลำดับแรกนายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. กล่าวว่า ศาลได้มีคำวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หากจะจัดทำฉบับใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน และยังวินิจฉัยว่า การดำเนินการจัดทำใหม่นั้นหรือแก้ไขนั้น ต้องทำตามมาตรา 256 อนุ 15 ต้องดำเนินการโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภา นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่าแม้รัฐสภาจะมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม แต่รัฐธรรมนูญได้จำกัดรูปแบบไว้ ดังนั้นรัฐสภาต้องกระทำอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำนอกกรอบได้ ซึ่งตนคิดว่าศาลวินิจฉัยชัดเจน รัฐสภาจะมอบให้ ส.ส.ร.ดำเนินจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งศาลยังวินิจฉัยต่ออีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งไม่ใช่การแก้ไข เป็นการกระทำผิดหลักการสำคัญของผู้สถาปนาที่ต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ ดังนั้น ตนคิดว่าการโหวตวาระที่สามไม่สามารถทำได้

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า หากรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ประเด็นนี้ยังเกิดความสับสน เพราะตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยครบถ้วนแล้วว่า ไม่มีบทบัญญัติใดให้จัดทำใหม่ จึงต้องอาศัยมาตรา 5 วรรคสอง เมื่อไม่มีบทบัญญัติในกรณีใด ให้กระทำการนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ที่มีข้อถกเถียงเรื่องการจัดทำประชามติก่อนแล้วค่อยโหวตวาระที่สาม เป็นคนละเรื่องกัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่สามารถโหวตวาระสามได้แน่น และจะเก็บต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ากระบวนการจัดทำต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภา ยื่นญัตติของจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ แล้วส่งครม.เพื่อนำไปจัดทำประชามติ และเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกระทำโดยรัฐสภาตั้งกรรมาธิการเท่านั้น ไม่ใช่ทำโดย ส.ส.ร.” นายไพบูลย์ กล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ หากจะทำต้องทำประชามติเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาพิจารณาว่าวาระที่สามไม่อาจทำได้ เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน แต่เมื่อยังไม่ได้ทำประชามติ รัฐสภาจึงไม่อาจลงมติวาระที่สาม ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าไม่อาจลงมติวาระที่สามได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาก็เห็นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ตนจึงขอเสนอญัตติขอให้รัฐสภา ลงมติไม่สามารถดำเนินการลงมติในวาระที่สามได้ เพราะต้องทำไปตามคำวินิจฉัย

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความตั้งใจแรงกล้าจะเดินหน้าลงมติวาระที่สาม ที่ผ่านมาเดินมาจนครบ พรรครัฐบาลก็เป็นฝ่ายเสนอ แต่วันดีคืนดีก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อเราอ่านคำวินิจฉัยของศาลและมองในอีกมุมหนึ่ง อยากถามว่าตรงไหนที่ศาลบอกว่าไม่ให้ลงมติวาระที่สาม สมาชิกรัฐสภาบางคนอาจอ้างฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา แต่นั่นก็เป็นเพียงฝ่ายกฎหมาย ถ้ารัฐสภาไม่ผ่านกฎหมายอยากถามว่าใครจะทำ ถ้าไม่อยากแก้ไขก็บอกว่าไม่อยากแก้ไข

“ฝ่ายรัฐบาลเสนอเป็นร่างหลัก วันนี้ยืนยันลงมติไม่ได้ แต่ผมยืนยันลงมติได้ เดินหน้าต่อไป ต้องลงมติและเดินไป ทุกพรรคบอกจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้โดยสภา ถ้าแก้ไม่ได้ก็อย่ามีสภาดีกว่า เสนอญัตติเอง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเอง มีหรือประเทศนี้ ผมอยากถามว่าไม่อายบ้างหรือ ฝึกอายบ้าง” นายสมคิด กล่าว

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่าเหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารไม่มีใครคัดค้าน มีผู้ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารปี2557 นั่งอยู่ในที่นี้หลายร้อยคน และในวันนี้ยังมาขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ3ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพื่อเป็นทางออกและทำให้รัฐสภาสามารถแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้ ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 31 ขอให้ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่รัฐสภาอีกครั้ง ใน 4 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ร่างที่พิจารณากันอยู่ เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพราะร่างนี้มีหลักการอยู่ 2 หลัก คือ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และหมวด15/1 จัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งศาลยังไม่ได้ชี้ชัดสถานภาพว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างจัดทำใหม่กันแน่

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง จากคำวินิจฉัยศาลให้ทำประชามติเสียก่อนนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจัดทำตอนไหน ระหว่างก่อนโหวตวาระที่หนึ่ง หรือหลังโหวตวาระที่สาม ประเด็นที่สาม การทำประชามติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 2 มาตรา คือ มาตรา 166 ให้ครม.จัดทำประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และมาตรา 256 (8) ในการแก้ไขเพิ่มเติมหลังผ่านวาระที่สามแล้วให้ทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในการจัดทำประชามตินอกเหนือจากนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตราใด เพราะฉะนั้นต้องอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีใดจะทำประชามติเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะนำสู่การถกเถียงกันอีก

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สี่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสองหลักการตามข้างต้น ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจะตกทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งจะนำสู่การตัดสินใจว่าจะลงมติในวาระที่สามได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เรากำลังวินิจฉัยยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้ ขอได้โปรดที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 4 ประเด็น โดยอาจให้วิป 3 ฝ่ายยกร่างญัตติขึ้นมาโดยอาศัยประเด็นข้างต้น จากนั้นขอมติที่ประชุมเพื่อยื่นญัตติดังกล่าวร่วมกันต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น