posttoday

"ดอน" สยบข่าว "สหรัฐฯ"กังวลประท้วงไทย-ม.112 ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน

12 กุมภาพันธ์ 2564

รมว.ต่างประเทศ สยบข่าว ที่ปรึกษา"ไบเดน" ยกหูคุย เลขาฯ สมช. กังวลการจับกุมผู้ประท้วง-การใช้ ม.112 ชื้เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันคุยทั่วไป หวังไม่มีเหตุรุนแรงบานปลาย

เมื่อวันที่ 12 กพ. 64 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายงานเมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาถึงถ้อยแถลงของโฆษกนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯว่านายเจค ซัลลิแวนได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีความกังวลเรื่องการจับกุมผู้ประท้วงในไทย และมีการตัดสินจำคุกเป็นเวลานานต่อผู้กระทำความผิด มาตรา 112 ว่า เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่มีความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในการออกข่าว ซึ่งตนรับทราบมาว่าระหว่างพูดคุยกันนั้น ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่ในระดับเจ้าหน้าที่เวลาพูดออกไปอาจออกมีความคลาดเคลื่อน

เมื่อถามว่าการพูดคุยมีเรื่องการจับกุมผู้ออกมาชุมนุมในไทยหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่มี เป็นการพูดคุยในสถานการณ์ทั่วไป แต่หวังว่าจะไม่มีอะไรวุ่นวาย รุนแรง บานปลาย ถือเป็นท่าทีปกติของสหรัฐฯ ในเรื่องของการชุมนุมโดยทั่วไปที่ผ่านมา และเห็นว่าในประเทศไทยก็รับมือควบคุมสถานการณ์ได้อย่างปกติ รวมถึงก็รับรู้อยู่ว่าการชุมนุม การประท้วงที่เกิดในเมืองไทย ไม่มีความรุนแรง ไม่เหมือนในประเทศอื่นๆ อย่างภาพที่เห็นกันอยู่ นั่นคือการใช้น้ำ โดยน้ำในระดับสากลนั้น ไม่ใช่ความรุนแรง

เมื่อถามต่อถึงสถานการณ์การชุมนุมในเมียนมา ซึ่งอาจจะมีการเลียนแบบกัน นายดอน กล่าวว่า บางอย่างก็ควรเลียนแบบ บางอย่างก็ไม่ควร ฉะนั้นก็ต้องดูกันต่อไป ม็อบก็คือม็อบ สถานการณ์จะเอามาเปรียบเทียบกันคงไม่เกิดขึ้น และเกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนจะมีการพูดคุยกับทางเมียนมาหรือไม่นั้น นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดคุยกันในกรอบอาเซียนมากกว่า เพื่อนัดหมายแต่ยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ เพราะพื้นฐานของอาเซียนคือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของกิจการภายใน จึงทำให้เรื่องนี้ยังไม่ยุติ

เมื่อถามถึงกรณีท่าทีของสหรัฐฯ บางส่วนแสดงความเป็นห่วงว่าอาเซียนจะออกมากดดัน ตรงนี้ไทยจะต้องแสดงท่าทีอะไรหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ก็ไม่ถือว่าเป็นแรงกดดัน เพราะว่าทางอาเซียนกับสหรัฐฯก็พูดคุยกันเป็นรายประเทศไปแล้ว ยกตัวอย่าง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอมริกาเมื่อมีรัฐมนตรีใหม่ในวันแรกทางรัฐมนตรีต่างประเทศเขาก็โทรศัพท์มา แต่ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องเมียนมา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นเท่าที่ทราบก็ได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีอาเซียนอื่นๆและทราบว่ามีการเคลื่อนไหวในเมียนมา แต่ไม่ได้ออกมาในเชิงกดดัน

“หวังว่าอาเชียนจะมีความเห็นเรื่องเมียนมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นแรกที่เขาอยากให้ปล่อยตัว นางออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอยากให้สถานการณ์กลับไปสู่ภาวะปกติ ฉะนั้นไม่ได้ออกมาในเชิงกดดัน แต่ออกมาในเชิงว่าอาเซียนสามารถช่วยทำอะไรให้ได้มากกว่า”นายดอน กล่าว